‘หมอปลา’ ขอขมา ‘เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม’ หลังกล่าวหาเบี้ยวค่าก่อสร้าง ‘วัดมรุกขนคร’

(9 มี.ค. 66) ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีพระเทพวรมนุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มอบหมายให้ ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช แม่ทัพทนายกองทัพธรรม พร้อม นายเอื้อ มูลสิงห์ ทนายกองทัพธรรม จังหวัดนครพนม และไวยาวัจกร วัดพระธาตุพนม แจ้งความดำเนินคดีต่อ พนักงานสอบสวน สภ.ธาตุพนม เมื่อเดือน กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา  ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา พร้อมพวก คือ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ และ นางสาววรรณวิสา ประทุมวัน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย หลังจาก นายจีรพันธ์ พร้อมพวก ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ รวมถึงเข้าร้องเรียน ต่อ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวหาว่า พระเทพวรมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ค้างค่าจ้างก่อสร้างถาวรวัตถุ ของวัดมรุกขนคร ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นเงิน จำนวน 1.2 ล้านบาท เหตุเกิดเมื่อปี 2536 พร้อมมีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนบางสำนัก โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ล่าสุดทนายอนันต์ชัย พร้อมนายเอื้อ และไวยาวัจกร วัดพระธาตุพนม ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และมีการรวบรวมพยานหลักฐานเสนออัยการฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม ในฐานความผิดทั้งทางอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา รวมถึงเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงินมากกว่า 50 ล้านบาท

ตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1102/2565 ศาลจังหวัดนครพนม ข้อหาฐานความผิด ละเมิด ให้จำเลยทั้งสามโฆษณาคำพิพากษา และคำขอโทษ ในสื่อทุกแขนง จำนวน 46 สื่อ เป็นเวลา 7 วัน จนกระทั่งมีการนัดสืบพยาน ที่ศาลจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยทางด้าน นายจีรพันธ์ หรือหมอปลา ได้มอบหมายให้ทนาย มาเจรจาไกล่เกลี่ย และยอมรับผิด พร้อมขอขมาตามเงื่อนไข ซึ่งได้ทำข้อตกลงยินยอมที่จะมากราบขอขมา พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ต่อหน้าสื่อมวลชน จำนวน 46 สำนัก ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 พร้อมมีการแถลงต่อศาลจังหวัดนครพนม ตามข้อตกลงในการเจรจาไกล่เกลี่ย หากไม่มาตามนัดจะถูกนำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งทางอาญา และทางแพ่งต่อไป

สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช แม่ทัพทนายกองทัพธรรม ตรวจสอบเอกสารหลักฐานร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครพนม พบว่า การก่อสร้างพัฒนาวัดมรุกขนคร เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2536 พระเทพวรมุนี ยังไม่เป็นเจ้าอาวาสวัดมรุกขนคร แต่บุคคลที่ร้องเรียนกล่าวอ้างว่าเข้าไปก่อสร้างเมื่อต้นปี ประมาณเดือน มกราคม 2539 ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า การดำเนินก่อสร้างไม่เกี่ยวกับ พระเทพวรมุนี แต่เป็นข้อตกลงกับบุคคลผู้นำชุมชนหมู่บ้าน คณะกรรมการวัด ถือเป็นคณะบุคคลที่ดูแลการก่อสร้าง พร้อมมีการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากผู้รับจ้าง ทำงานล่าช้า และไม่มีการทำสัญญาจ้างงาน รวมถึงผู้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายใน 2 ปี ถือว่า ขาดสิทธิ์ตามกฎหมาย โดยการออกมาร้องเรียน เป็นความไม่บริสุทธิ์ใจ มีเจตนาให้พระเทพวรมุนี ที่เป็นที่เคารพของชาวนครพนม มีคุณงามความดี เกิดความเสื่อมเสีย และทำให้วัดเสียหาย จึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีเอาผิดกับบุคคลดังกล่าว


ที่มา : https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_3864455