ศรชล.ประจวบ จัดพิธีบวงสรวงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ศรชล.ครบ 4

เมื่อเวลา 09:00 น.(9 มี.ค. 66) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากร เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย หมู่ 3 บ้านขั้นกระได ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(ศรชล.ปข.) ได้จัดพิธีบวงสรวงสักการะ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากร เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) ครบ 4 ปี ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยมี นาวาเอก เรืองฤทธิ์ แสงแก้ว รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(ศรชล.ปข.)เป็นประธานในพิธีบวงสรวงแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีผู้แทนกองบิน 5 ผู้แทนหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กอ.รมน.จังหวัด ประมงจังหวัด สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาประจวบคีรีขันธ์ กองบังคับการตำรวจน้ำ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งประกอบอาชีพประมง เข้าร่วมพิธีและทำกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง

โดยหลังจากเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงได้ร่วมกันทำกิจกรรม ปรับปรุงภูมิทัศน์ เก็บขยะ และทำความสะอาด บริเวณชายหาดทะเลบ้านคั่นกระได พร้อมทาสี สถานที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากร เกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ย ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของทหารเรือ และชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวประมงทะเล ภายใต้ชื่อกิจกรรม 'รักษ์หาด รักชายฝั่ง ประจวบ'

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อํานวยการ ศรชล.ได้ประกาศให้วันที่ 9 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในการตราพระราชบัญญัติศูนย์อํานวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 เป็นวันคล้ายวันสถาปนา ศรชล.

โดย “ศรชล.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”ภายใต้ภารกิจหลักในการป้องกันภัย 9 ด้าน ของ ศรชล. ประกอบด้วย 1. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2. การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 3. การทำประมงผิดกฎหมาย 4. การค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมืองทางทะเล 5. การลักลอบขนยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมายและอาวุธสงครามทางทะเล 6. การลักลอบขนส่งสินค้าสองวัตถุประสงค์และอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงทางทะเล 7. การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือทะเล 8. การก่อการร้ายทางทะเล 9. การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล และเหตุการณ์อื่น ๆ เป็นต้น


ที่มา : นายนิพล ทองเก่า