'หมอยง' ชี้ บทสรุป 'วัคซีนทุกตัว' ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน ฉีดกี่เข็มก็ไม่กันการติดเชื้อ ได้แค่ลดความรุนแรงของโรค
(3 มี.ค. 66) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเรื่อง โควิด 19 วัคซีน ความต้องการที่น้อยลง ระบุว่า...
ในปีแรกที่เริ่มมีวัคซีน ทุกคนแย่งกันมาก เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น เรียกร้อง mRNA เป็นวัคซีนเทพ เมื่อกาลเวลาผ่านไป จะเห็นได้ว่าวัคซีนทุกตัวประสิทธิภาพไม่ต่างกันเลย
มาถึงปัจจุบัน จะฉีดวัคซีนกี่เข็มก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพียงแต่ลดความรุนแรงของโรคลง
ในวันนี้ ประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่ได้ติดเชื้อไปแล้ว น่าจะถึง 5 พันล้านคน แม้กระทั่งประเทศไทยก็น่าจะติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 50 ล้านคน
ภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนและการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อในระยะหลังที่ตรงกับสายพันธุ์มากกว่า ทำให้แนวโน้มโรคสงบลง
วัคซีนที่ยังคงอยู่ในสต๊อกขณะนี้ จึงเกินความต้องการ จึงทำให้มีการทำลายวัคซีนที่หมดอายุเป็นจำนวนมาก และเร่งระบายวัคซีนในสต๊อกด้วยการบริจาค บริษัทวัคซีนต่างๆ ก็หยุดสายพานการผลิต จะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น และการสั่งซื้อจะต้องซื้อเป็นจำนวนมาก และวัคซีนในกลุ่มของ mRNA มีอายุสั้นกว่า
วัคซีนที่เราได้รับบริจาคมา ถึงแม้ว่าจะเป็น 2 สายพันธุ์ ก็ไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้ได้หมด
บริษัทต่างๆ จะไม่พัฒนา สายพันธุ์ใหม่มากไปกว่านี้ เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอด การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ในวัคซีน ก็ไม่ได้มีผลมากมาย
นอกจากนี้การทำวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ด้วยขบวนการทางพันธุกรรม ในกลุ่มของ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ ต้องมีการทำ codon modification จึงทำให้ต้องมีการทดลองเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ ไม่เหมือนอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่เป็นเชื้อตาย เพียงแต่เปลี่ยน seed สายพันธุ์ตามองค์การอนามัยโลกกำหนด ก็พัฒนาวัคซีนได้เลยภายใน 6 เดือน