เหตุผลที่ MRT สายสีชมพู ใช้คำว่า ‘Kor Mor’ แทน Km 6 เพราะต่างชาติเรียกแท็กซี่จะได้ไม่ต้องพูดว่า “คิล้อมิเถอะซิกส์”

(1 มี.ค. 66) หลังจาก เพจ ‘ฉันเป็นนักเสียดสี’ ได้โพสต์แซะป้ายสถานีรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู ‘สถานีรามอินทรา กม.6’ ระบุว่า “บ้านนอก ใช้คำว่า ‘Kor Mor’ ชี้ คนคิดน่าจะใกล้ปลดเกษียณภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะแตก” จนถูกชาวเน็ตถล่มยับเละคาบ้านไปก่อนหน้านั้น

ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Pat Sangtum’ ก็ได้ออกมาช่วยโพสต์ไขความกระจ่างให้อีกคำรบ ว่าเหตุใดจึงมีการเลือกใช้คำเขียนดังกล่าว ไว้ว่า...

LOCALIZATION คือ การปรับภาษา วัฒนธรรม ให้เกิดความเข้าใจตรงกันในวงกว้าง ใช้งานได้ทั่วไป ในการแปลภาษา localization เป็นเทคนิคที่ใช้กันทั่วทั้งโลก ใช้คู่กับ foreignization (รักษาลักษณะภาษาต่างชาติไว้) หรือ internationalization (ปรับให้เป็นภาษาที่เข้าใจกันเป็นสากล)

- สถานีรถโดยสาร หมอชิต ก็เขียนว่า Mor Chit ไม่ใช่ Doctor Chit
- Siam Square ก็เขียนว่า สยามสแควร์ ไม่ใช่ จตุรัสสยาม
- แยกไฟฉาย ก็เขียนว่า Yaek Fai Chai ไม่ใช่ Junction Flashlight
- ถ้าไม่ใช้ Kor Mor (กม.) ต้องเขียนว่า Km 6 เวลาพูด ต้องพูดว่า “คิ-ล้อ-มี-เถอะ ซิกส์” เวลาต่างชาติจะขึ้นแท็กซี่ จะต้องพูดว่า “ราม-อินธรา คิล้อมิเถอะซิกส์” หรือ “รามอินทรา เคเอ็ม ซิกส์” ถ้าพูดไม่ชัด km จะเป็น เค-อม แนวเดียวกับ อม-เค (MK)
- สถานี BTS Kheha เคหะ ก็ไม่ได้แปลให้ว่า BTS Bang Phli Housing Project
- ถ้าจะเป็นนักเสียดสี ต้องมีความเข้าใจหลาย ๆ มิติ เสียดสีตามใจชอบ ก็จะออกมาแบบ “กูรู้ว่า กม. มาจาก kilometre แต่มึงไม่รู้ ฮ่า ฮ่า”

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เพจ ‘ฉันเป็นนักเสียดสี’ ก็ทนต่อแรงเสียดสีไม่ไหว ลบโพสต์​ไป หลังโซเชียลมีการนำเสนอ​ข้อมูล​ที่ถูกต้อง​มาหักล้าง​ จนเกิดทัวร์ลงในที่สุด


ที่มา: Pat Sangtum