ถอดรากศัพท์คำว่า Kanbawza  อาจแปลความหมายถึง สุวรรณภูมิ 

คำว่า Kanbawza ที่คนพม่าออกเสียงว่า 'กันโบซา' นั้น หลายคนอาจจะเคยทราบว่าคำนี้มาจากชื่อในภาษาไทใหญ่ ซึ่งตำนานของคำว่ากัมโบซาในภาษาไทใหญ่นั้นต้องย้อนกลับไปถึงคริสต์ศักราชที่ 957 ในยุคที่อาณาจักรน่านเจ้ายังเรืองอำนาจอยู่ โดยมีบันทึกว่า มีเจ้าชายจากราชอาณาจักรกัมปูเจียเข้ามาปกครองดินแดนฉาน จนทำให้มีชื่อเรียกในภาษาไทใหญ่ว่ากัมโบซาในเวลาต่อมา

เมื่อนำเรื่องราวของเจ้าชายแห่งกัมปูเจียที่เข้ามาปกครองรัฐฉานใน ค.ศ. 957 มาเทียบระยะเวลาในเขมรช่วงนั้นจะพบว่าอยู่ในช่วงอาณาจักรขอม ซึ่งปกครองเขมรในขณะนั้นในช่วงปีคริสต์ศักราช 802-1203 เป็นยุคเดียวกันกับการสร้างปราสาทนครวัด

ดังนั้นหากนำไทม์ไลน์ของมาวางทาบกัน จะกล่าวได้ว่าเจ้าชายผู้แผ่อิทธิพลเข้าไปยึดดินแดนรัฐฉานในช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ กองทัพอันเกรียงไกรของอาณาจักรขอมโบราณนั่นเอง

และหากเมื่อเราค้นหาลึกเข้าไปอีกว่าอาณาจักรขอมโบราณมาจากไหน ทาง อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยเขียนเรื่องนี้ลงใน มติชนประชาชื่น : สุวรรณภูมิในอาเซียน ขอมละโว้ เก่าสุดอยู่ไทย โอนขอมไปเขมร, มติชน 17 สิงหาคม 2560 ระบุว่า...

"ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ดังนั้นไม่เป็นชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงไม่มีชนชาติขอม หรือเชื้อชาติขอม ฉะนั้นใคร ๆ ก็เป็นขอมได้ เมื่อยอมรับนับถือวัฒนธรรมขอม…ช่วงแรก ขอมเป็นชื่อที่คนอื่นเรียก (ในที่นี้คือพวกไต-ไท) ไม่ใช่เรียกตัวเอง

"คำว่า ‘ขอม’ หมายถึง คนในวัฒนธรรมขอม ที่อยู่รัฐละโว้ (ลพบุรี) บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ระบุชาติพันธุ์ จะเป็นใครก็ได้ ถ้าอยู่สังกัดรัฐละโว้ในวัฒนธรรมขอม ถือเป็นขอมทั้งนั้น เมื่อมีรัฐอยุธยา คนพวกนี้กลายตัวเองเป็นคนไทย ดังนั้นช่วงหลัง ขอม หมายถึง ชาวเขมรในกัมพูชาเท่านั้น แม้เปลี่ยนนับถือศาสนาพุทธเถรวาทก็ถูกคนอื่น เรียกเป็นขอม แต่ชาวเขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม เพราะไม่เคยรู้จักขอมและภาษาเขมรไม่มีคำว่าขอม"

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวกัมพูชาเรียกตนเองว่า “กโรม” หรือ “ขอม” (ในความหมายว่า ชาวเขมร หรือ ชาวกัมพูชา) แต่พวกเขาเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า เขมร มาตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนคร

และจากหลักฐานที่มีการยืนยันว่าที่เรียกชาวกัมพูชาไม่เรียกตัวเองว่า ขอม แต่เรียกตัวเองว่า เขมร ที่เก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึก Ka. 64 ซึ่งเป็นศิลาจารึกสมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวถึงทาสชาวเขมรโบราณไว้ว่า “(๑๓) กฺญุม เกฺมร โฆ โต ๒๐. ๒๐. ๗ เทร สิ ๒” ซึ่งคำว่า “กฺญุม” ในภาษาเขมรโบราณสมัยก่อนพระนครหมายถึง ข้ารับใช้ ส่วนคำว่า เกฺมร (kmer) เมื่อรวมความหมายของคำว่า “กฺญุม เกฺมร” แล้ว น่าจะหมายถึง “ข้ารับใช้ชาวเขมร” ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าชาวกัมพูชาเรียกตัวเองว่า เกฺมร (kmer) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นคำว่า เขฺมร (khmer) ในช่วงเขมรสมัยเมืองพระนคร และกลายเป็น แขฺมร ออกเสียงว่า แคฺมร์ (khmaer) ดังที่ปรากฏในภาษาเขมรปัจจุบัน

ส่วนขอมมาจากไหน..?

ตามหลักฐานคำว่า ขอมที่เก่าที่สุดพบในจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม น่าจะหมายถึง ใช้เรียกกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกที่ “อยู่ทางใต้” ของสุโขทัย คือกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 

กลับมากันที่ Kanbawza กันต่อ เมื่อเรามาวิเคราะห์แล้วว่าคำว่า ‘กัมโบซา’ มาจากรากศัพท์คำว่า ‘กัมปูเจีย’ ซึ่งกัม นั้นน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ‘กรอม’ หรือ ‘ขอม’ ส่วนพุเจียนั้น มีนักวิชาการชาวกัมพูชาอ้างว่าคำว่า ‘พุเจีย’ หรือ ‘พูเจีย’ น่าจะแปลว่าเผ่าพันธุ์ ดังนั้น กัมปูเจีย ก็คือ ชาติพันธุ์ขอมนั่นเอง

อีกหนึ่งเส้นทางที่น่าสนใจคือ คำว่าขอมนั้น อาจจะมาจากคำว่า กม ซึ่งแปลว่าทอง ซึ่งตรงกับคำว่า “ขอม” โดยกษัตริย์ขอม องค์แรกที่ปกครองนครขอมนั้นทรงพระนามว่า “กเมรุราช” ที่แปลว่า “ทอง” เช่นกัน

ดังนั้นจึงมีการตีความจากท่าน เปา ณิน และ ตรึง เงีย Kanbawza น่าจะแปลความหมายถึง สุวรรณภูมิ ซึ่งคำว่า Kanbawzathadi ที่บุเรงนองนำไปใช้นั้นน่าจะหมายถึง ราชธานีแห่งสุวรรณภูมิ นั่นเอง


เรื่อง: AYA IRRAWADEE