ส่อง ‘เมียนมา’ ในวันที่ชาติตะวันตกเข้ามาเผือก กองทัพไม่กระทบ-คนป่วนนั่งชิล-ปชช.รับบาป
เพิ่งจะผ่านวันครบรอบการรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันในเมียนมายังมีหลายพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่สีแดงและห้ามคนต่างชาติเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวแม้จะมีการเปิดประเทศแล้ว รวมถึงการแซงชันจากชาติตะวันตก ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบถึงฝ่ายกองทัพหรือไม่ เอย่ากล่าวได้เลยว่า กองทัพเมียนมาแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย แต่คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ นั่นคือประชาชนที่หลายคนไม่ได้สนับสนุนกองทัพ แต่ต้องมารับผลโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ประเด็นการแซงชันในเมียนมานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า เมียนมาโดนชาติตะวันตกแซงชันมานับสิบๆ ปีก่อนจะมาเปิดประเทศ ซึ่งนั่นเหมือนเป็นวัคซีนชั้นดีที่ทำให้เมียนมาปรับตัวได้ โดยผ่านระบบเอเย่นต์
ส่วนการก่อความไม่สงบในเมียนมาดังที่ปรากฎในข่าวไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดถนน สะพาน รถไฟ หรือลอบสังหารผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเปรียบได้กับโมเดลของโจรใต้ในประเทศไทย แต่ส่งผลซ้ำร้ายกว่าตรงที่ผลเหล่านั้นกระทบกับผู้คนในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สุดท้ายการกระทำของฝ่ายต่อต้านในประเทศก็ดี และนอกประเทศก็ดี แม้เหมือนจะทำให้เมียนมาดูตัวหดเล็กลง ประเทศดูแย่ลง แต่เหมือนกับการผลักให้เมียนมาเข้าสู่ภาวะจำศีลเท่านั้น ส่วนประชาชนในประเทศไม่ว่าจะสนับสนุนทหารหรือสนับสนุนประชาธิปไตยก็ต้องรับผล ในขณะที่คนมีอำนาจสั่งการซึ่งอยู่นอกประเทศนั่งกินหรูอยู่สบายกัน และสุดท้ายประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่พยายามดิ้นรนไปหางานในต่างประเทศและสุดท้ายชีวิตการทำงานในต่างแดน ก็ไม่ได้ดีนักหากเทียบกับการทำงานในประเทศ
มีคนเคยกล่าวว่าประเทศจะดีไม่ใช่มาจากผู้นำประเทศดีอย่างเดียว แต่ต้องมาจากการร่วมมือกันหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันทำให้มันดี เพราะไม่ว่าจะเป็นภาวะข้าวยากหมากแพง เงินเฟ้อ ทรัพยากรมีจำกัด หรือปัญหาใดๆ ก็ตามที่คนภายนอกหวังกระทำต่อเมียนมาให้เกิดปัญหาต่อรัฐบาล สุดท้ายมันก็วนเป็นบูมเมอแรงกลับมาสู่ประชาชนชาวเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด
เรื่อง: AYA IRRAWADEE