‘รัสเซีย’ เสียท่า!! ส่งความรวยให้สหรัฐฯ หลังพลาดขาย ‘อะแลสกา’ ไปในราคาแสนถูก

ชาวโลกรู้ว่าอเมริกากับรัสเซียนั้นเป็นคู่กรณีสงครามเย็น จนหลายคนคิดว่าสองชาตินี้คงไม่มีวันยิ้มให้กันได้ แต่จริงๆ แล้วครั้งหนึ่งไอ้นกอินทรีกับพี่หมีขาวเป็นมิตรกันมาก่อน ตอนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังอยู่ฝ่ายเดียวกันเลย มาแตกหักรักไม่ลงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่แหละ แต่เชื่อไหมว่าอเมริกาได้ครอบครองดินแดนของรัสเซีย และสถาปนาเป็นรัฐของอเมริกาเต็มภาคภูมิ 

เมื่อเอ่ยถึงรัฐอะแลสกา (Alaska) หลายคนรู้สึกหนาวแทนพลเมืองที่นั่น เพราะได้ชื่อว่าเป็นรัฐที่หนาวสะท้านโลก 

อะแลสกาเป็นรัฐที่ 49 ในบรรดา 50 รัฐของอเมริกา ถูกค้นพบโดยนักเดินทางรัสเซียในปี ค.ศ.1741 พี่หมีขาวเลยกระโจนเข้าครอบครองตั้งแต่ปี ค.ศ.1784 ไอ้ที่โผเข้าหาดินแดนโน่นนี่ไม่ใช่อะไรหรอก พี่หมีแกอยากขยายอาณาจักรไปเรื่อยๆ เพราะช่วงนั้นประเทศต่างๆ ก็ล่าอาณานิคมกัน จะล่องไปล่าแถวไหน ประเทศแถบยุโรปล่ากันหมดแล้ว เลยต้องมุ่งหน้าขึ้นเหนือ 

พี่หมีขาวอยากได้อาณานิคมในดินแดนฝั่งตะวันออก เอาไว้ค้าขายชายเฟือยและเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีและทรัพยากรจากอาณานิคม แต่อะแลสกานั้นยกเว้น เพราะการครอบครองอะแลสกาของรัสเซีย เป็นไปเพื่อการทำธุรกิจมากกว่าการตั้งถิ่นฐาน มีการจัดตั้งการค้าขนสัตว์ในปีค.ศ.1781 และตั้งบริษัท Russian American Company ในปี ค.ศ. 1799 

หากเรากางแผนที่โลก จะเห็นว่าอะแลสกาอยู่ไกลจากขอบเขตดินแดนรัสเซีย ด้วยระยะทางที่ห่างกันมากระหว่างอะแลสกากับเมืองหลวงของรัสเซีย ทำให้สื่อสารกันลำบาก แถมไม่มีชาวรัสเซียไปตั้งรกรากในอะแลสกามากนัก นอกจากหนาวแล้วยังไกลปืนเที่ยง เลยมีคนหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ที่นั่นแค่ 800 คนเท่านั้นเอง  

หนักหนากว่านั้นคือหนาวหูตูบจนเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยจะได้ ทำให้ผู้นำหมีขาวเบ้ปากมองบนว่าจะเอาไอ้แผ่นดินนี้ไว้ทำไมหนอเรา นอกจากอะแลสกาจะกลายเป็นดินแดนที่ไม่ทำกำไรให้รัสเซีย ยังเสี่ยงต่อการถูกอังกฤษรุกราน ทำให้พี่หมีขาวนอนกระดิกตีนตรอง ว่าจะเอาไงดีกับไอ้ดินแดนแห่งนี้ ที่สำคัญตอนนั้นรัสเซียกำลังถังแตกเสียด้วย

รัสเซียจนกรอบ เพราะทำสงครามอย่างหนักและต่อเนื่อง เพื่อขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาล การทำสงครามแต่ละครั้งนั้นต้องใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะสงครามไครเมียในปี 1853-1856 สงครามหนนี้ทำเอารัสเซียสิ้นเนื้อประดาตัวแทบล้มละลาย  หลังเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพปารีส 1856 มีการกันทะเลดำให้เป็นเขตกลางเพื่อไม่ให้รัสเซียตั้งฐานยุทธศาสตร์ นั่นยิ่งทำให้สูญเสียช่องทางการค้าขายกับประเทศอื่นไปโดยปริยาย

เมื่อถังแตกก็ต้องขายของเก่ากินนั่นแหละ กวาดสายตาทั่วแผ่นดินแล้วพบว่าอะแลสกาเป็นแผ่นดินของรัสเซียในบริเวณอเมริกาเหนือ แถมยังรกร้างว่างเปล่าเต็มไปด้วยน้ำแข็ง จนทางรัสเซียคิดว่าหาประโยชน์อะไรไม่ได้ และไม่อยากจ่ายเงินก้อนโตในการดูแล เลยเอาไปเร่ขายให้อเมริกา ซึ่งตอนนั้นยังดี ๆ กันอยู่ แถมทั้งรัสเซียและอเมริกามีศัตรูร่วมกันคืออังกฤษ เลยใส่พานวางถวาย

รัสเซียตัดสินใจเสนอขายอะแลสกาให้อเมริกาใน ค.ศ. 1859 แต่การเจรจาซื้อขายถูกชะลอไปเนื่องจากสงครามเย็น จนกระทั่งวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1867 วิลเลียม เอช. ซูเวิร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ซื้ออะแลสกามาจากรัสเซีย  

การซื้อขายครั้งนี้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก สื่อในอเมริกาลงข่าวเสียดสีว่าการซื้ออะแลสกาเป็นความโง่เขลาของ ซูเวิร์ด และเป็นสวนหมีขั้วโลกของ จอห์นสัน ส่วนชาวรัสเซียต่างไม่พอใจที่อะแลสกาถูกขายไป เพราะรัสเซียทุ่มเทพัฒนาอะแลสกามาอย่างยาวนาน อยู่ ๆ จะมาขายไปง่ายๆ ได้ไง แถมขายถูกเสียด้วย

รัสเซียตกลงเซ็นสัญญาขายอะแลสกาให้กับสหรัฐอเมริกาด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ นับว่าถูกมากหากเทียบกับสิ่งที่อะแลสกามี ตอนแรกเสนอขาย 10 ล้านดอลลาร์ฯ แต่อเมริกาต่อเหลือ 7.2 ซึ่งรัสเซียก็ยอมรับเงื่อนไขนี้ และนั่นก็ทำให้อะแลสกากลายเป็นรัฐที่ 49 ของสหรัฐอเมริกา 

หลังอเมริกาซื้ออะแลสกาไปแล้ว รัสเซียคงนึกเสียดายแผ่นดินผืนนี้อย่างยิ่ง เพราะอะแลสกาเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่า ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การท่องเที่ยว และการประมง โดยมีการค้นพบน้ำมันในปี ค.ศ. 1968

อะแลสกา มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของอเมริกา อาหารทะเลร้อยละ 50 น้ำมันดิบร้อยละ 25 มาจากอะแลสกา แถมอะแลสกา ยังสร้างมูลค่าการส่งออกให้สหรัฐฯ มากถึง 2.40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงภาษีการค้ามากถึง 1.84 พันล้านดอลลาร์ 

นี่คือความพลาดท่าของพี่หมีขาวที่ทำให้อเมริกันไชโยโห่ฮิ้ว เพราะทุกวันนี้รัฐอะแลสกามั่งคั่งสุด ๆ ถึงขนาดประกาศแจกเงินให้คนไปตั้งรกรากที่รัฐนี้เลยทีเดียว พลเมืองอะแลสกาทุกคนยังได้เงินก้อนโตทุกปีจากรัฐ เป็นส่วนแบ่งรายได้ที่ขายน้ำมันได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย  


แหม..ก็รัฐมันรวย..ช่วยไม่ได้นี่นะ

เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้