เมื่อไทยมีพระโค อเมริกาก็มี ‘กราวด์ฮอก’ เทพพยากรณ์อากาศ ขวัญใจชนพื้นเมือง

เช้าตรู่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบในเมือง Punxsutawney รัฐเพนซิลเวเนีย แม้หนาวสาหัสขนาดไหน แต่ผู้คนนับพันก็ไม่ย่อท้อต่อความหนาวสุดขั้ว และต่างถือแก้วกาแฟหอมกรุ่นออกมารวมตัวชุมนุมที่ลานกลางเมือง

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นและส่วนกลางตระเตรียมเครื่องมือของตน รอวินาทีสำคัญที่จะเผยตัวเบื้องหน้าโลกในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า ใครคนหนึ่งตะโกนฝ่าอากาศยามเช้าออกไป จากนั้นทุกคนก็ส่งเสียงเชียร์กระหึ่ม...ทั้งโลกจับตามองเจ้าตัวกราวด์ฮอก (Groundhog) อ้วนปี๋ประจำเมือง ที่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ตัวเก่าตาย ตัวใหม่มาแทน จะตั้งชื่อกราวด์ฮอกว่า ‘ฟิลด์’ เจ้าตัวกลมปุ๊กหน้าตาตลกนี้เป็นนักพยากรณ์อากาศอันดับหนึ่งแห่งอเมริกาเลยทีเดียว

วินาทีที่นายกเทศมนตรีในเครื่องแต่งกายย้อนยุค ควัก ‘ฟิลด์’ จากโพรงไม้มาชูให้ฝูงชนเห็น ทุกคนต่างโห่ร้องปรบมือให้กำลังใจกันล้นหลาม ท่ามกลางประกายเจิดจ้าของแฟลชวูบวาบของกองทัพนักข่าว ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ว่าจะปีไหน เจ้าฟิลด์ ก็จะดูงัวเงียอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยความที่เป็นขวัญใจมหาชนมายาวนาน จึงยังคงนอนนิ่งในอ้อมกอดนายกเทศมนตรี ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและเสียงรัวชัตเตอร์ถี่ยิบของฝูงชน (ครั้นเมื่อตอนภาพยนตร์เรื่อง Groundhog Day ออกฉายเมื่อปี 1993 ชื่อเสียงของฟิลด์ยิ่งดังทะลุฟ้ายิ่งกว่าดาราฮอลลีวู้ดเสียอีก)

Groundhog Day จัดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทั้งในแคนาดาและรัฐทางเหนือของอเมริกา มีความเชื่อเก่าแก่ที่เล่าสืบต่อมาว่า ถ้ากราวด์ฮอกโผล่ออกมาจากโพรงในวันนี้ และทิ้งโพรงไปหากินทันที นั่นหมายถึงฤดูหนาวใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว ใบไม้ผลิจะมาถึงในไม่ช้า 

แต่ถ้ากราวด์ฮอกโผล่ออกมาจากโพรง แล้วเห็นเงาของตัวเอง แสดงว่าปีนั้นฤดูหนาวจะยาวนานต่อไปอีก 6 อาทิตย์ แล้วจะเข้าสู่ใบไม้ผลิ คือไม่ว่า กราวด์ฮอกจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร ก็ถือเป็นเรื่องเล่นสนุกของผู้คนในเมืองหิมะที่เบื่อหิมะอันแสนยาวนานนั่นเอง

การฉลอง Groundhog Day เริ่มครั้งแรกในอเมริกาที่รัฐเพนซิลเวเนีย มีจุดเริ่มต้นมาจากตำนานเก่าแก่ของเยอรมันในศตวรรษที่ 18 โดยมีนิทานพื้นบ้านเล่าต่อๆ กันมาเรื่องตัวแบดเจอร์ที่สามารถพยากรณ์อากาศได้ แต่เล่ากันอีท่าไหนไม่รู้ พอตกทอดมาถึงอเมริกา สัตว์ที่สามารถพยากรณ์อากาศได้กลับกลายเป็นกราวด์ฮอกไปซะอย่างงั้น ไม่ยักกะใช่แบดเจอร์แต่อย่างใด 

เทศกาลนี้มีความคล้ายคลึงกับอีกหลายเทศกาลที่มีการพยากรณ์อากาศในเดือนกุมภาพันธ์ เช่น เทศกาลของชาวคาทอลิกที่เรียกว่า Candlemas หรือ เทศกาลของชาว Celtic ที่เรียกว่า Imbolc ซึ่งฉลองกันในวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ เช่นกัน 

เมื่อชาวยุโรป โดยเฉพาะเยอรมันและไอร์แลนด์อพยพสู่โลกใหม่ ก็นำประเพณีเก่าแก่มาด้วย โดยเริ่มต้นฉลองกันเป็นครั้งแรกในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะรัฐนี้ถือเป็นชุมชนชาวเยอรมันอพยพที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเมื่อครั้งอดีตกาล หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการฉลองกราวด์ฮอกเดย์ในอเมริกาเป็นเอกสารบันทึกแห่งรัฐเพนซิลเวเนียโดยเจมส์ มอร์ริส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 1841 

อย่าทำเป็นขำไป การใช้สัตว์เสี่ยงทายฤดูกาลและความสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารนั้นเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และคู่กับมวลมนุษย์ทุกยุคสมัย ตั้งแต่ยุคโบราณ อย่างบ้านเราก็มีพระโคเสี่ยงทายที่จัดงานกันเป็นพิธีใหญ่โตทุกวันพืชมงคล  

เรื่องราวพื้นบ้านน่ารักแบบนี้แหละ บ่งบอกว่าเราใกล้ชิดกับธรรมชาติและพยายามหาทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผสานผสมกลมกลืน โดยเชื่อว่าทุกสรรพชีวิตในโลกใบนี้ ล้วนเกี่ยวพันเป็นพี่น้องกันทั้งสิ้น แต่ยิ่งนานวัน เรากลับหลงลืมรากเหง้าของตนเอง แยกตัวออกมาจากธรรมชาติผู้อารีต่อสรรพชีวิต หนำซ้ำหันไปทำลายล้างแม่ธรณีอย่างไม่สำนึกในบุญคุณอีกด้วย


เรื่อง: เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้