‘Yahoo Finance’ ยกไทยติด 1 ใน 12 ประเทศแห่งเอเชียที่มี 'ความก้าวหน้ามากที่สุด'

เมื่อไม่นานมานี้ช่องยูทูบ ‘Thailand & The World’ ได้เผยแพร่วิดีโอ การจัดอันดับ 12 ประเทศในเอเชีย ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่ง 1 ใน 12 ประเทศนั้นมีประเทศไทยติดอันดับอยู่ด้วย โดยเนื้อหาในคลิปดังกล่าว สรุปใจความได้ว่า...

ในศตวรรษที่ 21 ถือว่าเป็น ‘ศตวรรษแห่งทวีปเอเชีย’ เพราะมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก โดย ‘McKinsey’ บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้ประเมินว่า เอเชียจะมี GDP มากกว่า 50% ของโลก ภายในปี 2040 และผู้บริโภคจากเอเชีย จะเป็นตัวขับเคลื่อนกว่า 40% ของการบริโภคทั้งโลกภายในปีดังกล่าวเช่นกัน 

ทั้งนี้ ความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของชนชั้นกลาง โดย World Economic Forum ได้ทำการประเมินไว้ว่า ภายในปี 2030 หรืออีกเพียง 7-8 ปีข้างหน้า ‘2 ใน 3 ของชนชั้นกลาง’ จะเป็นชาวเอเชีย

ล่าสุด ‘Yahoo Finance’ ก็ได้เผยผลการจัดอันดับ ‘12 ประเทศในเอเชีย’ ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด เราจะมาดูกันว่า ประเทศไทยของเรา ทำได้ดีแค่ไหนในการจัดอันดับครั้งล่าสุดนี้

โดยวิธีการวิจัยการจัดอันดับในครั้งนี้ ทำขึ้นมาโดยการประเมินสัดส่วนของงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ต่อ GDP ที่เป็นข้อมูลจากธนาคารโลก และระดับการพัฒนามนุษย์ จาก Human Developemtn Index หรือ HDI ของปี 2021-2022 ซึ่ง HDI มีการวัดจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ 1. อายุคาดเฉลี่ย 2. ระดับการศึกษา และ 3. รายได้ต่อหัว หรือ GDP Per capita นอกจากนั้นยังมีการพูดถึงการมีอยู่ของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศนั้นๆ อีกด้วย

สำหรับ 12 อันดับประเทศในเอเชีย ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด มีดังต่อไปนี้...

อันดับที่ 12 อินโดนีเซีย Yahoo ระบุว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI 0.718 สอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่สูง โดยมีการใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา R&D ต่อ GDP 0.28% ในปี 2020 โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระบบโลกตั้งอยู่ โดยมี Alphabet ที่บริษัทแม่ของ Google, Toyota, ExxonMobil เป็นต้น การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ เติบโตขึ้น 64% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งได้รับแรงหนุนหลักมาจากความสามารถในการจัดการทรัพยากรของประเทศ

อันดับที่ 11 จอร์เจีย จอร์เจียมีที่ตั้งอยู่ระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยในปี 2020 ประเทศได้ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา R&D ต่อ GDP 0.30% โดยมีระดับคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI 0.802 ซึ่งถือว่าสูงมาก ในช่วงที่มีการสำรวจในปี 2021-2022 โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา จอร์เจียได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศ 1,670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 26%

อันดับที่ 10 ไทย อีกหนึ่งประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ภาคการบริการมีการเติบโตสูง คิดเป็น 58.3% ของ GDP ประเทศในปี 2020 ผลประกอบการของภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมในปี 2021 เติบโตจากปีก่อนหน้า 7.31% คิดเป็นรายได้ที่ 137,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

ส่วนคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ในช่วงปี 2021-2022 มีระดับที่สูงมาก อยู่ที่ 0.800 

นอกจากนั้น ประเทศยังมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมากในปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 1.14% ต่อ GDP และถ้าเจาะลึกลงไปทั้ง 3 หลักเกณฑ์ ในการพิจารณาคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่ใช้ในการวัดผลจะพบว่า คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 78.7 ปี ในระยะเวลาการศึกษา 15.9 ปี และมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 619,000 ต่อปี

อันดับ 9 มาเลเซีย มาเลเซียมีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่สูงมากเช่นกัน โดยอยู่ที่ 0.803 และจากข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกในปี 2018 ประเทศมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา อยู่ที่ 1.04% ต่อ GDP สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มีการลงทุนที่นั่น ได้แก่ Alphabet, Microsoft เป็นต้น

อันดับที่ 8 ตุรกี เช่นเดียวกับจอร์เจีย ประเทศนี้มีที่ตั้งอยู่ระหว่างยุโรปและเอเชีย แต่มากถึง 97% ของพื้นที่ อยู่ในเขตเอเชีย ตุรกีมีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ในปี 2022 ที่สูงมาก คือ 0.838 มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา ที่ 1.09% ต่อ GDP ในปี 2022 อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อบริษัท startup ต่าง ๆ อย่าง keteers ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2015 มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 อีกบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บริษัททางด้าน E-Commerce สัญชาติตุรกี ที่ชื่อ D market ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่มีการลงทุนที่นั่น ได้แก่ Microsoft, apple เป็นต้น ตุรกียังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโดรนอีกด้วย ซึ่งได้เป็นผู้จัดหาโดรนให้กับยูเครน ในการสนับสุนนการต่อสู้กับรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันดับที่ 7 รัสเซีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีที่ตั้งคาบเกี่ยวระหว่างยุโรปและเอเชีย โดยพื้นที่กว่า 75% อยู่ทางฝั่งเอเชีย รัสเซียมีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่สูงถึง 0.822 ในงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาในปี 2018 ที่ 1.10% ต่อ GDP รัสเซียโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการทหาร ที่เทียบเท่ากับเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาในด้านการพรางตัว และเหนือกว่าในด้านเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รัสเซียเป็นบ้านเกิดของบริษัทอย่าง Yandex, Auto, VK และ Y berry ศูนย์บริษัทต่างชาติที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Microsoft, apple และ Alphabet ที่ตอนนี้ ทั้งหมดได้ถอนตัวออกจากประเทศไปแล้ว หลังจากที่รัสเซียได้เข้าทำสงครามกับยูเครน

อันดับที่ 6 จีน ในปี 2022 จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศษรฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และคาดว่าจะสามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ในอีกไม่นาน คะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ของจีน อยู่ที่ 0.768 ซึ่งยังต่ำกว่าไทย แต่สูงกว่าอินโดนีเซีย รัฐบาลได้มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา ด้วยงบประมาณสูงถึง 2.40% ต่อ GDP มีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ในระดับที่สูงมาก โดยมีการส่งออกในด้านนี้สูงถึง 17% ของ GDP ทั้งประเทศ ในปี 2018 และเช่นเดียวกับรัสเซีย จีนมีแต้มต่อเหนือสหรัฐอเมริกาในด้านเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียง ในแง่ของเทคโนโลยีสารสนเทศ จีนมีบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Alibaba ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงของ amazon จากสหรัฐอเมริกา

อันดับที่ 5 ไต้หวัน ไต้หวันเป็นประเทศในเอเชียตะวันออก มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 3.63% ของ GDP ทั้งประเทศ ในปี 2020 มีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่สูงถึง 0.916 ในปี 2022 ไต้หวันมีบริษัทผลิตชิป อย่าง TSMC ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งโลกในด้านนี้ สูงถึง 53% ในปี 2022 ส่วนบริษัทขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่มีการลงทุนในไต้หวัน ได้แก่ ASC Group, United Microelectronics Corporation เป็นต้น

อันดับที่ 4 ฮ่องกง คะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ของฮ่องกง สูงถึง 0.952 ในช่วงปี 2021-2022 แต่มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา เพียง 0.99% ของ GDP ในปี 2020 ฮ่องกงถือเป็นประเทศที่รองรับธุรกิจ startup ได้ดีมาก โดยมีการเติบโตถึง 12% ในปี 2021 ทำให้มีบริษัทประเภทนี้ รวมแล้วถึง 3,755 บริษัท

อันดับที่ 3 สิงคโปร์ อีกหนึ่งประเทศจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีการพัฒนาที่สูงมาก ด้วยคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่ 0.939 ในงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา ที่ 1.89% ของ GDP ในปี 2019 นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยคนท้องถิ่น กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยจำนวนสิทธิบัตรที่มีการยื่นขอจดทะเบียน มากกว่า 2,000 สิทธิบัตร ในปี 2021 

นอกจากนั้น สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างหุ่นยนต์ มาใช้งานเป็นวงกว้างอย่างจริงจัง โดยสํานักข่าว รอยเตอร์ส ได้แค่รายงานว่า สิงคโปร์มีการใช้งานหุ่นยนต์ จำนวน 605 ตัว ต่อการทำงานของมนุษย์ 10,000 คน และถ้านับจนถึงปี 2022 สิงคโปร์มีบริษัท Startup ภายในประเทศ เกือบ 10,000 บริษัท

อันดับที่ 2 เกาหลีใต้ ประเทศนี้ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา สูงถึง 4.81% ของ GDP ประเทศ มีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่ 0.925 มีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ในส่วนของการพัฒนาคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ถึง 9% ทำให้กลายเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียและในโลก บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่คือบริษัทสัญชาติเกาหลี เช่น Samsung และ LG เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในเรื่องของระบบนิเวศของบริษัท Startup โดยมีบริษัท Startup ทั้งหมดเกือบ 7,000 ในปี 2022

อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น ที่มีคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่ 0.925 เท่ากับเกาหลีใต้ แต่มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่า คือที่ 3.26% ของ GDP ในปี 2020 ญี่ปุ่นคือประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในเอเชีย จากการพัฒนาในด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่สูง ขนาดของ GDP ในปี 2021 มีมากถึง 5.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาที่สูงมากประเทศหนึ่ง และยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น ในปี 2019 อยู่ที่ 8% สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และสหรัฐอเมริกา 

ญี่ปุ่นถือว่าเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก โดย 45% ของหุ่นยนต์ที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรมทั่วโลก เป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตขึ้นโดยประเทศแห่งนี้ บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้แก่ Toshiba, Toyota, Honda, DENSO, Fanuc และ Epson เป็นต้น โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีบริษัท Startup มากถึง 6,000 บริษัท

แม้ว่าการจัดอันดับในครั้งนี้ จะไม่ได้ให้รายละเอียดถึงจำนวนประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดอันดับ แต่ด้วยการที่มีทั้ง ตุรกี, จอร์เจีย และรัสเซีย ติดอยู่ใน 12 อันดับแรก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ทุกประเทศในทวีปเอเชีย ได้รับการประเมินทั้งหมด รวมถึงประเทศในแถบตะวันออกกลาง แต่การที่ไม่มีประเทศอิสราเอล ติดอยู่ในการจัดอันดับครั้งนี้ ก็อาจจะทำให้หลายคนมีคำถามเกิดขึ้น เพราะประเทศนี้ มีตัวเลขทั้ง คะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ที่ 0.919 ในปี 2019 งบประมาณในการวิจัยและพัฒนา ต่อ GDP อยู่ที่ 5.44% ซึ่งถือว่าสูงมากในระดับต้นๆ ของเอเชีย

ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ การที่ไม่มีประเทศอินเดียถูกรวมเข้าไปในการจัดอันดับครั้งนี้ แต่ถ้ามองจากหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับแล้วจะพบว่า อินเดียมีตัวเลขของคะแนนดัชนีการพัฒนามนุษย์ HDI ในปี 2020 เพียง 0.645 เป็นอันดับที่ 131 จากทั้งหมด 189 ประเทศทั่วโลก ส่วนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนา ต่อ GDP มีเพียง 0.66% ในปี 2018 

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่อินเดีย ไม่ถูกจัดอยู่ในรายชื่อ 12 อันดับแรก ซึ่งความก้าวหน้าของประเทศ ไม่สามารถวัดได้จากปัจจัยใดปัจจัยนึงเพียงอย่างเดียว เช่น การมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง ที่หลายคนมักจะใช้เป็นตัววัดถึงความก้าวหน้าของประเทศอินเดียมาโดยตลอด


ที่มา: https://youtu.be/ooPY3Ks7umQ