นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง!! รู้จัก ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’

สวัสดีนักอ่านที่น่ารักทุกท่าน ใครที่ติดตามเรื่องเล่าของผมเป็นประจำก็จะรู้ว่าหลายครั้งหลายคราผมได้หยิบยกเหตุการณ์ในอดีต หรือแม้แต่บุคคลที่สร้างวีรกรรมต่าง ๆ ในอดีตมาเขียนเล่าเรื่องให้ทุกท่านได้อ่านกัน และส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องหรือบุคคลในต่างประเทศ

พอมานั่งตรึกตรองดูแล้ว ผมอยากจะเล่าเรื่องของคนไทยบ้าง และอยากเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันให้มากขึ้น หันซ้ายหันขวาผมก็เจอเรื่องและบุคคลที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนา โครงการ ‘มณีแดง’ 

สำหรับใครที่ตามข่าวแนว ๆ วิทยาศาสตร์ก็อาจจะเคยได้ยินชื่อ ‘มณีแดง’ กันมาบ้าง และคงตาลุกวาวเมื่อรู้ว่า ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ

ก่อนจะอธิบายว่าทำไม ‘มณีแดง’ เปรียบดังยาอายุวัฒนะ นั้น ผมขอแนะนำประวัติคร่าว ๆ ของ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ ผู้ค้นพบและวิจัยมณีแดงก่อนนะครับ

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย อาจารย์ประจำ และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ มีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการศึกษาการอณูพันธุศาสตร์โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก และสภาวะเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเกิดโรคในมนุษย์ ได้แก่ มะเร็ง โรค autoimmune และโรคชรา

ที่สำคัญ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) และนอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่สำคัญ เช่น

๑. การค้นพบ DNA ของไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก ในปัจจุบันใช้การวัดปริมาณ EBV ของ DNA ในน้ำเหลืองเพื่อติดตามผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก

๒. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำเพื่อควบคุมการทำงานของยีนและปกป้องจีโนมของเซลล์ (2-8) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกัน ตรวจกรองวินิจฉัยและรักษา มะเร็งและความชราในอนาคต

๓. ศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส (9-13) ทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการตรวจกรองและวินิจฉัยมะเร็งในอนาคต

๔. ค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ดี (14-17) ที่อาจมีประโยชน์ป้องกันความไม่เสถียรของจีโนม ความชราและมะเร็ง น่าจะทำให้เกิดแนวทางใหม่ในการป้องกันการเกิดมะเร็งและความชราในอนาคต

อ่านเพียงเท่านี้ ก็ต้องยกนิ้วโป้งให้ ‘ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร’ เลยทีเดียว เพราะผลงานที่ศึกษานั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก นอกจากผลงานที่ยกมาบอกเล่าข้างต้นแล้ว ผลงานที่เด่นและเป็นที่สนใจของคนในสังคมมากก็คือ การวิจัย ‘มณีแดง’ ที่คนเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนยาชะลอวัย นั่นเอง

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า การวิจัยและพัฒนาโมเลกุล ‘มณีแดง’ ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สกว. สวทช. และ วช. สำหรับทีมวิจัยฯ นอกจากบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มีรายนามคณะนักวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :

๑. ผศ.ดร. จิรพรรณ  ทองสร้อย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ศึกษาการตรวจวัด รอยแยกของ DNA
๒. ศาสตราจารย์ ดร. นพ. นิพนธ์ ฉัตรธิพากร และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สถานที่และคำแนะนำในเรื่องการย้อนวัยของหนูชรา
๓. บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเลี้ยงและวิเคราะห์หมู
๔. อาจารย์ ดร. สรวงสุดา สุภาสัย ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาหนูพาร์กินสัน และหนู อัลไซเมอร์
๕. ผศ.ดร.สุกัญญา เจริญพร และคณะ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาลิงแสม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะผู้วิจัยได้รายงานการค้นพบ DNA ของเชื้อไวรัสเอพสไตน์บาร์ (Epstein Barr virus, EBV) หรือ EBVDNA ในน้ำเหลืองของผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก การค้นพบนี้ทำให้เกิดการพัฒนาการตรวจติดตามผลการรักษา โดยที่ EBVDNA จะหายหมดไปหากไม่มีเนื้อมะเร็งโพรงหลังจมูกหลงเหลือ และหากพบมี EBVDNA ในน้ำเหลืองแสดงว่ามีการกลับเป็นซ้ำเกิดขึ้น ในปัจจุบัน แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูกประมาณ ๖ แสนคนทั่วโลก ได้ประโยชน์จากการตรวจหา EBVDNA ในน้ำเหลือง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยเริ่มรายงานค้นพบการเปลี่ยนแปลงสภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำในเซลล์มะเร็ง ในผู้ชรา และในโรคอื่น ๆ เช่น กระดูกผุ โรค SLE หรือรู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง การศึกษาต่อเนื่องทำให้รู้กลไกและบทบาทที่ส่งผลต่อการเกิดพยาธิสภาพของโรค ทั้งจาก ความไม่เสถียรของจีโนมและการแสดงออกของยีนที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันคณะผู้วิจัย กำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้เกี่ยวกับ สภาวะเหนือพันธุกรรมของสาย DNA เบสซ้ำ มาพัฒนาเป็นยารักษามะเร็ง ป้องกันความพิการจากความชรา และการตรวจกรองมะเร็งที่พบบ่อย นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังเป็นผู้ค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรมของยีนที่จำเพราะกับชนิดเนื้อเยื่อหรือชนิดการติดเชื้อไวรัส และกำลังกำลังศึกษาวิธีการที่จะนำความรู้นี้ไปใช้วินิจฉัยและการตรวจกรองมะเร็งในอนาคต

ส่วนผลงานวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ คณะผู้วิจัยรายงานการค้นพบรอยฉีกขาดของ DNA ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน รอยฉีกขาดของ DNA ที่รู้จักกันจะทำให้เซลล์ตายหรือกลายพันธุ์ แต่รอยฉีกขาดที่ค้นพบกลับน่าจะมีประโยชน์ต่อเซลล์ทำให้จีโนมเสถียร ไม่แก่และไม่เป็นมะเร็ง เป็นการค้นพบกลไกต้นน้ำของความชราบริเวณรอยแยก (youth-DNA-gap) ตรงจุดที่มี DNA แมดทิเลชัน (DNA methylation) ดังนั้นการเข้าใจกลไกการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลที่รอยฉีกขาดนี้อาจนำไปสู่การป้องกันการแก่และมะเร็งในอนาคต 

จึงเป็นที่มาของการพัฒนา ‘โมเลกุลมณีแดง’ หรือ RED-GEMs (Rejuvenating DNA by Genomic Stability Molecules) ซึ่งมีบทบาทในการช่วยปกป้อง DNA และป้องกันความแก่ชราใน DNA โดยเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยก DNA จะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของ DNA ไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ และถูกทำลายได้ง่าย จึงพบรอยโรคใน DNA ของเซลล์ที่แก่ชราแล้วเยอะขึ้น 

ซึ่งรอยโรค DNA นี้จะส่งสัญญาณให้เซลล์หยุดการแบ่งตัวตามปกติและเข้าสู่ความแก่ชรา รวมถึงอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์และมะเร็งได้ โมเลกุลมณีแดงคือยีนที่มีหน้าที่เป็นกรรไกรเพื่อสร้างรอยแยก DNA เซลล์ที่ได้รับมณีแดงจะมี DNA ที่แข็งแรงขึ้น และทำให้เซลล์ที่เสื่อมลงแล้วกลับมาดีขึ้น 

มณีแดงอาจเป็นความหวังรักษาคนไข้สมองตาย ในการศึกษาทำให้ สมองส่วนทำการเคลื่อนไหวในหนูตาย พบว่า หนูขยับตัวไม่ได้ แต่เมื่อให้มณีแดง หนูดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นปกติใน ๗ วัน กลไก ความรู้ในปัจจุบันเรียก ‘สมองที่ไม่ทำงานสร้างกระแสประสาท’ แล้วว่า ‘สมองตาย’ แต่จากการศึกษามณีแดงทำให้ทราบเป็นความรู้ใหม่ว่า สมองยังไม่ตายจริง เพียงแค่ DNA ทำงานไม่ได้ เมื่อ มณีแดงไปช่วยให้ DNA ทำงานได้ สมองของหนูถึงฟื้นขึ้นมาได้เป็นปกติ

ในขณะนี้ได้มีการใช้มณีแดงศึกษาในสัตว์ทดลอง หนู หมู และ ลิงแสม แล้ว นับร้อยตัว มีความปลอดภัยสูง หากมีความจำเป็นใช้เพื่อช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน ก็สามารถใช้ได้ แต่หากรอได้ ทีมวิจัยกำลังจะทดสอบในผู้ป่วยที่มีความพิการรุนแรงทางสมองแบบพาร์กินสัน ในเร็ว ๆ นี้ 

สำหรับรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ‘มณีแดง’ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ มีดังนี้

๑. มณีแดงคืออะไร มณีแดง หรือ (Rejuvenating DNA by genomic stability molecule, REDGEM) คือ ยาแก้ไขความชราของ DNA โดยการทำให้ DNA แข็งแรง ถูกทำลายได้ยาก

๒. องค์ประกอบของมณีแดง DNA ของ ยีน HMGB1 ส่วน Box A (HMGB1 มี ๓ ส่วน A, B และ C) เคลือบด้วย Calcium Phosphate nanoparticle.

๓. การศึกษาที่ตีพิมพ์แล้ว พบว่า มณีแดง ทำให้ ทนต่อรังสีปรมาณูได้ ทำให้หนูที่ชราแล้วหายชรา (เทียบกับคน จาก ๗๐ ปี เป็น ๒๕ ปี) แก้ไขความจำเสื่อมในวัยชรา (senile dementia) (ปล senile dementia เชื่อกันว่า เป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เรียกว่า เป็น irreversible process) ตับเป็นพังผืด ลดไขมันในช่องท้อง และ ทำให้ฉลาด ที่มา : https://faseb.onlinelibrary.wiley.com

๔. การทดสอบรักษาโรคในหนูที่เสร็จแล้ว รอเขียนเพื่อตีพิมพ์ ได้แก่ การแก้ไขภาวะดื้ออินซูลินและรักษา เบาหวาน ชนิดที่ ๒ การรักษาแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้

๕. การทดสอบรักษาโรคในหนูที่กำลังดำเนินการโดยผลการศึกษาที่เชื่อได้ว่าได้ผลดีมากอย่างมหัศจรรย์ เพราะไม่เคยมีผลสำเร็จในการรักษาโรคเหล่านี้ในระดับนี้มาก่อน ได้แก่ ไตวาย ปอดเป็นพังผืด สมองเสื่อมแบบพาร์กินสัน

๖. การทดสอบรักษาโรคในหนูที่กำลังเริ่มให้มณีแดง ได้แก่ สมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์

๗. กำลังจะ รักษาพิษสุนัขบ้า และ ศึกษาการย้อน epigenetic clock

๘. การทดสอบในหมูตั้งแต่วัยเยาว์ เสร็จแล้ว ปลอดภัย หมูน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ ๑๐ มีเนื้อนุ่มแน่น มากกว่ากลุ่มควบคุม แสดงว่าน่าจะแก้ไขภาวะกล้ามเนื้อลีบในคนชราได้

๙. การทดสอบในลิงแสม ในวัย ก่อนหมดประจำเดือน ให้มณีแดงครบแล้ว (๘ เข็ม ทางหลอดเลือดดำ อาทิตย์ละเข็ม) ขณะนี้ ติดตาม จนถึง ๒ เดือนหลังจาก เข็มที่ ๘ พบว่า ปลอดภัย กระดูกขาหนาขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น ความดันโลหิต ลดลง หัวใจแข็งแรงขึ้น

๑๐. การผลิตเพื่อใช้ในคนจะเริ่มได้หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำสัญญากับ ปตท. เรียบร้อย คาดว่าจะเริ่มกระบวนการจัดตั้งห้องผลิต ในเดือนนี้ และใช้เวลา ๖ ถึง ๙ เดือน

๑๑. การทดสอบในคน clinical trial. Phase I-II โดยทดสอบในผู้สูงอายุเพื่อดูความปลอดภัยและ efficacy ในการย้อนวัย เคยให้ข่าวว่า ถ้าไม่มีอุปสรรคใดใด น่าจะเริ่มเดือนเมษายน แต่ในสถานการณ์จริง คงจะเริ่ม อย่างเร็วระหว่าง เดือน มิถุนายน ถึงเดือน ตุลาคม การศึกษาใช้เวลา ๔ ถึง ๖ เดือน

๑๒. ทีมวิจัยกำลังมองหาแนวทางที่ให้มณีแดงได้ใช้ช่วยรักษาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด 

อ่านมาถึงตรงนี้ก็รับรู้ได้เลยว่า ‘มณีแดง’ เปรียบเสมือนความหวังของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว เพราะดูเหมือนจะช่วยชีวิต หรือรักษามนุษย์ให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกินกว่า 20% แล้ว และอายุขัยเฉลี่ยของไทยยังยืนยาวขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๕ ปี และคาดว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวถึง ๘๕ ปี 

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร หัวหน้าคณะผู้วิจัยและพัฒนามณีแดง จึงมองว่า “มณีแดงจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทย เพื่อ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิต’ ของคนในสังคม”

และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ‘มณีแดง’ คือสิ่งที่นักวิจัยคนไทยค้นพบและทำการศึกษา หวังว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นผลการวิจัยที่พัฒนามากยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะครับ

สุดท้ายนี้ต้องขออภัยที่ไม่สามารถนำเสนอรายชื่อบุคลากรผู้ร่วมวิจัย ผู้ให้ทุนสนับสนุน ผู้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ และทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในครั้งนี้ได้หมดครับ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ