เมียนมากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ต้องยอมรับว่าการรัฐประหารมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิด New Normal ในเมียนมาอย่างแท้จริง ด้วยการที่หลายธุรกิจพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องใช้เงินตราเป็นดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศโดนแซงชั่นจึงไม่มีเงินดอลลาร์เข้าประเทศ

แม้รัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย จะแก้ปัญหาการไหลออกของเงินสหรัฐ โดยการลดการพึ่งพิงการใช้เงินตราดอลลาร์สหรัฐและหันมาจับการค้าขายตรง เช่น บาท-จ๊าด รูปี-จ๊าด หยวน-จ๊าด เป็นต้น แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้น ก็ยังส่งผลต่อผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเมียนมา ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้นเป็นผลให้เกิดเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเมียนมา

อย่างไรก็ตามกลับยังมีธุรกิจบางธุรกิจที่ปรับตัวโดยการเลือกวัตถุดิบที่มีในประเทศ ลดการใช้วัตถุดิบนำเข้า รวมถึงการเข้าไปทำคอนแทคกับผู้ผลิตโดยตรง เพื่อลดราคาต้นทุนของเขา เพื่อให้ธุรกิจของเขาดำเนินต่อไปได้ 

และนั่นก็ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านั้นมีลูกค้าเข้าใช้บริการจำนวนมากเพราะเขาสามารถบริหารต้นทุนและกำไรให้อยู่ในสัดส่วนที่เดินหน้าต่อไปได้นั่นเอง การที่ภาครัฐพยายามจะผลักดัน SMEs ของคนเมียนมาให้มีบทบาทชัดขึ้น เหมือนเป็นการเดินตามรอยของประเทศไทยที่เคยผลักดัน พัฒนาธุรกิจชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองและจำหน่ายในตลาดสากลได้

แต่อย่างไรก็ตามกับประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากต่างชาติ หากรัฐบาลเมียนมาคำนึงถึงจุดนี้ด้วยจะยิ่งช่วยในการทำให้เศรษฐกิจในเมียนมาฟื้นตัวกลับมาไวยิ่งขึ้นด้วยตามลำดับ

ในวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคของคนเมียนมาในเขตเมืองได้เปลี่ยนไป แม้เขาจะมีเงินแต่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเหมือนที่เคยเป็นมา  ส่วนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะคนชนบทแม้จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีผลกับชีวิตเท่าไร เราคงต้องจับตาดูว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลเมียนมา ณ วันนี้จะตรงจุดหรือไม่อย่างไร

เรื่อง: AYA IRRAWADEE