เมื่อนักการเมืองยื่นปลา แต่พระราชาทรงยื่นเบ็ด

เนื้อหาของบทความนี้ผมตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งอีกนัยหนึ่งยังเป็น ‘วันพ่อ’ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพ่อของปวงชนชาวไทย ผมเลยขอนำเรื่องความประทับเรื่องหนึ่งมาเขียนเล่าในบทความนี้

เมื่อหลายปีก่อน ผมได้เคยเห็นภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ฉบับวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2518 จาก ‘สมุดภาพโครงการตามพระราชดำริ’ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยเนื้อหาใต้ภาพระบุว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การพัฒนาที่ดินตามโครงการที่ได้ทรงเริ่มมาตั้งเเต่พุทธศักราช 2507 ที่ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ได้ผลเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะขยายงานด้านการช่วยเหลือเกษตรกรให้เเพร่หลายต่อไป ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่นาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งหมดรวม 51,967 ไร่ 95 ตารางวา สำหรับใช้ในการปฎิรูปที่ดินเป็นการประเดิมเริ่มเเรก โดยให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พุทธศักราช 2518”

สมุดภาพเล่มนี้รวบรวมโครงการพระราชดำริจนถึง พ.ศ. 2525 ไว้ทั้งหมด 654 โครงการ (ซึ่งปัจจุบันมี 4,000 กว่าโครงการ) จากภาพหน้า 1 หนังสือพิมพ์ที่ได้เห็นจากหนังสือ ผมก็เลยไปลองหาข้อมูลต่อ โดยเฉพาะความสนใจเรื่องของ ‘ที่ดินทำกิน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนไทย ที่เกษตรกรรมคืออาชีพหลัก และเป็นเรื่องหลักที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทย 

ปฐมบทของเรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จ.เพชรบุรี แล้วทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพจึงทรงรับกลุ่มเกษตรกรนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานเงินให้กู้ยืมไปลงทุน (ย้ำว่าให้กู้นะครับ) จำนวน 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับสมัยนั้น แต่ทว่าไม่มีผู้ใดสามารถนำเงินที่กู้ยืมไปมาคืนได้ (ทำไมล่ะ ?) เหล่าเกษตรกรไม่ได้ขี้เกียจนะครับ แต่มูลเหตุที่เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีเงินมาคืนก็เพราะพวกเขา ‘ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง’ ต้องเช่าที่ดินของกรมประชาสงเคราะห์ เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ทั้งอยู่ ทั้งเพาะปลูก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ พอพระองค์ทรงทราบถึงมูลเหตุแห่งการนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ อดีตองคมนตรี ไปจัดหาที่ดินในเขต จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อมาจัดสรรให้แก่เกษตรกร (คือวัดผลกันอีกครั้ง เงินที่ให้กู้ไป ก็ช่างมัน) 

เป็นความบังเอิญที่โชคดีอย่างยิ่ง!! เพราะในขณะนั้น รัฐบาลอิสราเอล โดย เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ได้ขอทราบหลักการของโครงการเรื่องของที่ดินเกษตรในครั้งนั้นและอาสาช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทำให้เกิดการทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โดยเริ่มโครงการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ให้ชื่อว่า ‘โครงการไทย - อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)’ นั่นคือการต่อยอดจากพระราชดำริในการสร้างที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร 

พื้นที่โครงการเดิมเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่ทำกินไม่ค่อยได้ผล เพราะดินไม่ดีและขาดแคลนน้ำ การทำกินจึงเป็นไปในลักษณะไร่เลื่อนลอย ย้ายที่ทำกินทุก 3-4 ปี จึงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากพื้นที่ป่า โดยทรงจับจองที่ดินตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วนำมาจัดให้ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความขยันหมั่นเพียร แต่ขาดแคลนที่ทำกินได้เข้าไปอยู่อาศัยและทำประโยชน์ นั่นคือจุดเริ่มต้นจนเกิดเป็นข่าวนี้ในปี พ.ศ. 2518 

เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องที่ดิน ผมขอยกบทความของท่านอดีตประธานองคมนตรี ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เรื่อง ‘พระบารมีคุ้มเกล้าฯ’ ในหนังสือ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี’ โดยมีใจความบางส่วนบางตอนที่เล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’ ความว่า...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการณ์ไกลในอนาคตว่า ยิ่งนานวันชาวไร่ชาวนาจะยิ่งไม่มีที่ดินทำกิน เพราะความยากจนของเขาเหล่านี้ พวกที่เคยมีที่ดินต้องยอมสูญเสียกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุน และกลายมาเป็นผู้เช่าหรือไร้ที่ดินทำกินในที่สุด จึงมีพระราชดำริที่จะปฏิรูปที่ดินทำกิน เพื่อช่วยราษฎรที่ยากจนให้มีที่ดินทำกินตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โดยทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างเริ่มจาก ‘โครงการจัดสรรและพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง’

“รัฐบาลแต่ละชุดหลังจากนั้น ก็ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทในเรื่องปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำริของพระองค์มาเป็นลำดับ (พระองค์ไม่ได้บังคับให้ทำตามนะครับ แต่ถ้ารัฐบาลไหนเห็นประโยชน์ตรงนี้ก็สนองพระราชดำริของพระองค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน)”

“ตั้งแต่รัฐบาลชุดศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เสนอและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ขึ้น ช่วงที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ พระองค์ทรงพระกรุณาฯ รับโครงการไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยการพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 51,967 ไร่ 95 ตารางวา ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นประเดิม โดยมีพระราชประสงค์ให้ผู้เช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่แต่เดิม ได้ทำกินในที่ดินนั้นต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน ตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น (ให้ทำกินได้ แต่ไม่ให้ขายเพราะจะหมดที่ทำกินหากขายไป)”

“ต่อมาในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำริเรื่องการปฏิรูปที่ดิน โดยทรงขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ช้านัก แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้มีเวลาอยู่ในหน้าที่ไม่นาน (เป็นรัฐบาลผสมยิบย่อยมาก ๆ) จึงยังไม่มีโอกาสสนองพระราชดำริเต็มที่ การปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินั้น จึงเริ่มดำเนินการในสมัยรัฐบาลชุดของผม (รัฐบาลของ ฯพณฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ตามที่ได้มีพระราชดำรัสแนะนำ คือ ให้มีการแจกเอกสารสิทธิแก่ราษฎรผู้ไร้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และจัดให้มีการบูรณาการต่อไปด้วยการสร้างถนน สะพาน ขุดคลอง สร้างอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงคุณภาพดิน แจกปุ๋ย ฝึกอบรมสาธิตการเพาะปลูกพืชต่างๆ ที่ดูแลง่าย โตเร็ว ให้ราคาสูง และจัดสรรเงินทุนของกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกษตรกรกู้ยืมเพื่อการเกษตรด้วย…”

ถึงตรงนี้จบเรื่องราวที่ดินในบทความเล่าเรื่อง ‘การปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีที่ดินทำกิน’

น่าสังเกตว่าโครงการหุบกะพงที่ทรงดำเนินโครงการเป็นแบบอย่างนั้น มีการทดลองปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ วางแผนผังการจัดที่ดิน บำรุงรักษาพัฒนาแหล่งน้ำรวมกลุ่มเกษตรจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อการผลิต การจำหน่าย จัดหาสินเชื่อ มีการส่งเสริมการเกษตรและพัฒนาอาชีพ ครบวงจร 

ที่น่าสนใจ คือ พระองค์พระราชทานที่ดินเพื่อใช้ประเดิมสำหรับการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินในท้องที่ภาคกลางด้วย โดยรัฐบาลในขณะนั้นเริ่มทำการปฏิรูปที่ดินที่ได้รับพระราชทานมาทั้ง 50,000 ไร่เศษก่อน โดยมีที่ดิน ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถปฏิรูปได้ 43,902ไร่ จากนั้นก็บุกเบิกปฏิรูปที่ดินในท้องถิ่นทุรกันดารอื่น ๆ ตามพระราชดำริ รวมอีก 17 จังหวัด ปฏิรูปไปถึงท้องที่ ที่แห้งแล้งที่สุดในอีสาน คือ ทุ่งกุลาร้องไห้!! (วันนี้ไม่มีกุลามาร้องไห้ มีแต่ข้าวเจ้าที่อร่อยมาก ๆ) 

ต่อจากนั้น รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามพระราชดำรินี้จวบจนถึงปัจจุบัน จนสามารถช่วยเกษตรกรไทยให้มีที่ดินทำกิน และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพิ่มเติม โดยทรงชี้แนะด้วยว่า การปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่ จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้เกษตรกรเห็นผลโดยไม่ชักช้าส่วนเงินชดเชยค่าที่ดินที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายตามกฎหมายนั้น เพื่อพระราชทานให้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินเหล่านั้น (คือเงินพระองค์ที่ชาวบ้านมาใช้ที่ดินของพระองค์พระองค์ไม่รับ ที่จ่าย ๆ กันมาให้เอาไปหมุนเวียนในสหกรณ์) พูดง่าย ๆ ว่า ทรงให้ทั้งที่ดินทำกิน ให้ทั้งเงิน แล้วยังให้พัฒนาทรัพยากรเพื่อการผลิตอื่น ๆ พร้อมด้วยความรู้ในการผลิตและการดำเนินการต่อไปด้วย

นอกจากเรื่องที่ดินทำกินแล้ว เมื่อพระองค์ทรงมีโครงการในพระราชดำริหลังจากที่ได้พระราชทานที่ดินไปหมดแล้ว แต่มีความจำเป็นจะต้องใช้ที่ดินดำเนินโครงการ เช่น ทดลองเกษตรทฤษฎีใหม่ ทดลองการปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เป็นต้น ในหลายครั้ง หลายโครงการ แทนที่พระองค์จะเรียกคืนที่ดิน พระองค์กลับมีพระราชกระแสให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับสนองพระราชดำริไปจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนา (ไม่ขอฟรีนะครับ) หลังจากทดลองสำเร็จก็นำไปจัดสรรแบ่งแปลงแบ่งให้กับผู้ยากไร้ไว้ทำกินต่อไปอีก โดยทั้งหมดด้วยการใช้พระราชทรัพย์ของพระองค์เอง

ส่วนเรื่องสหกรณ์การเกษตรกับฉางข้าวและพืชผล ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์เล่มที่ผมนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเล่านั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ได้ทรงมีพระราชดำรัสแนะนำให้มีการส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรช่วยเหลือกันเองและร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจของเกษตรกรให้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาในการตั้งสหกรณ์เพิ่มขึ้นถึง 102 แห่งในปี 2520 จนทั่วประเทศในขณะนั้นมีสหกรณ์รวมทั้งสิ้น 664 แห่ง สหกรณ์และรัฐบาลก็เร่งรัดจัดหาเงินให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรกู้ยืม เพื่อไปลงทุนและปลดเปลื้องหนี้สิน นอกจากสหกรณ์ในหลวง ร.9 ยังทรงพระราชดำริต่อไปด้วยว่า ควรมีการสร้างฉางข้าวและพืชผล เกษตรกรจะได้ไม่ต้องเร่งรัดขายข้าวและพืชผลในทันที ทำให้สามารถเก็บไว้รอขายในยามที่เหมาะสมได้ โดยรัฐบาลออกค่าวัสดุให้ ส่วนการก่อสร้างนั้นให้สมาชิกสหกรณ์ลงแรงร่วมกันจัดสร้างเอง ครบวงจรการร่วมมือราษฏร์กับรัฐ ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรไทยได้จริง 

ดังนั้น คำที่ว่า ‘นักการเมืองยื่นปลา พระราชาทรงให้เบ็ด’ จึงเป็นความจริงอย่างยิ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ยังชวนบำรุงดิน ชวนปลูกพืช ชวนสร้างสหกรณ์ ชวนสร้างยุ้งฉาง ชวนขุดบ่อ เพาะพันธุ์ปลา อีกต่างหาก 

“นักการเมืองยื่นปลา พระราชาทรงยื่นเบ็ด”

นี่คือพระราชปณิธานปฏิรูปที่ดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงทำเพื่อประโยชน์แท้จริงแด่ปวงชนชาวไทยของท่าน


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager