โรงรับชำเราบุรุษและนครโสเภณีสมัยอยุธยา อาชีพเสรี ที่ถูกต้องห้ามในโลกปัจจุบัน
จากละครเรื่อง ‘ลายกินรี’ ที่กำลังออกอากาศทางช่องน้อยสีอยู่ในขณะนี้ ละครอิงอยู่ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีฝรั่งมั่งค่าและชาวต่างชาติมาเผ่นผ่านอยู่เต็มพระนครไปหมด มีสถานที่หนึ่งที่ปรากฏและปรากฏอยู่ในละครอิงประวัติศาสตร์แบบนี้อยู่อย่างเนือง ๆ นั่นก็คือ ‘โรงรับชำเราบุรุษ’ และนครโสเภณี...
‘พระไอยการลักษณะผัวเมีย’ ซึ่งตราขึ้นใน พ.ศ.1904 สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงหญิงนครโสเภณี ซึ่งแสดงว่ามีการค้าประเวณีเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว ว่ากันว่า คำว่า ‘นครโสเภณี’ นี่เองที่เป็นที่มาของคำว่า ‘หญิงงามเมือง’ เพราะโดยรากศัพท์แล้ว ‘โสเภณี’ แปลว่า ‘หญิงงาม’ ส่วน ‘นคร’ แปลว่า ‘เมือง’ รวมความว่าเป็นหญิงงามเมือง โดยอ้างกันว่ามีที่มาจากอินเดีย แต่หญิงงามเมืองในอยุธยาอาจจะไม่ได้โชคดี มีฐานะสูงส่งอย่างหญิงงามเมืองของอินเดียในอดีต ในสมัยอยุธยานั้นยังไม่มีการใช้คำว่า ‘ซ่อง’ แต่เรียกว่า ‘โรงรับชำเราแก่บุรุษ’
ในช่วงกว่าหนึ่งศตวรรษท้ายของอยุธยา ที่การค้ากับต่างชาติเฟื่องฟู ทั้งกับตะวันออก จีน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, ตังเกี๋ย และกับตะวันตก ฮอลันดา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, แขกมัวร์ และกับรัฐใหญ่น้อยโดยรอบทั้งลาว, กัมพูชา, ล้านนา, มอญ, พะโค, อังวะ, มลายู การค้าและความมั่งคั่งเฟื่องฟูนี้ตรงกับในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม พระเจ้าปราสาททอง และพระนารายณ์ เงินทองที่สะพัด ผู้คนที่มากหน้าหลายตา ธุรกิจเพื่อความสำราญใจก็ขยายตัว อันนี้มีบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ / ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ ซึ่งพระเจ้าอังวะได้ให้พระเจ้าอุทุมพรและข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยที่ถูกจับเป็นเชลยไปเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ.2310 ได้ลำดับเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยา จดบันทึกไว้ว่า…
“…มีตลาดบนบกนอกกำแพงพระนครตามชานพระนครบ้าง ตามฝั่งฟากกรุงบ้าง ติดแต่ในรอบบริเวณขนอนใหญ่ทั้ง 4 ทิศ รอบกรุงเข้ามาจนฟากฝั่งแม่น้ำตามกรุง แลชานกำแพงกรุงนั้นด้วย รวมเป็น 30 ตลาดคือ…ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงนครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรง รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ ตลาดนี้เป็นตลาดใหญ่ใกล้ทางเรือแลทางบก มีตึกกว้างร้านจีนมาก ขายของจีนมากกว่าของไทย มีศาลเจ้าจีนศาลหนึ่งอยู่ท้ายตลาด 1”
สรุปคือมี ‘โรงรับชำเราบุรุษ’ ที่ตลาดบ้านจีน ปากคลองขุนละครไชย โดยตั้งอยู่ท้ายตลาด 4 โรง ส่วน ‘คลองขุนละครไชย’ ที่ว่านี้คือ ‘คลองตะเคียน’ อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะอยู่ใกล้ป้อมเพชร อันเป็นป้อมที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา เป็นอันว่าเราพอจะรู้แหล่งทำกินของบรรดาหญิงงามเมืองว่าอยู่ในตลาด อย่างน้อยที่สุดก็หนึ่งแห่งในอยุธยา
ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตชาวฝรั่งเศส ผู้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรอยุธยา ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามไว้ใน ‘จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนเอกสารไม่กี่ชิ้นที่ทำให้เราทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการค้าประเวณีในราชอาณาจักรอยุธยา โดยมีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องเรื่องของหญิงนครโสเภณี ว่า...
“...บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ‘ออกญา’ เรียกกันว่า ‘ออกญามีน’ เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่จะไปติดต่อด้วย"
ความอีกตอนหนึ่ง กล่าวถึงเมื่อชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวได้สิ้นชีวิตลงซึ่งมีความน่าสนใจ ความว่า…
“.....มรดกจะตกอยู่แก่ภรรยาหลวงทั้งสิ้น แล้วก็ถึงบุตรภรรยาหลวงเป็นผู้ได้รับมรดกจากบิดามารดาโดยเสมอภาคกัน แต่ผู้เป็นภรรยาน้อย หรือบุตรภรรยาน้อยนั้น ผู้เป็นทายาทอาจขายให้ไปเป็นทาสผู้อื่นเสียก็ได้ ส่วนบุตรีที่เกิดแต่ภรรยาน้อย ก็จะถูกขายส่งไปเป็นภรรยาน้อยเขาตามเหล่ากอต่อไป คนที่มีอำนาจวาสนามาก ก็จะเลือกซื้อแต่ที่มีรูปร่างงดงาม โดยไม่คำนึงถึงว่าหญิงสาวนั้นจะเป็นลูกเต้าเหล่าใคร" และที่มาของหญิงนครโสเภณีความว่า.…
“....ถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้นเป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษี กล่าวกันว่า ชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง 600 นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่งบุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย”
ข้อความตอนนี้แสดงให้เห็นว่า การที่ ‘ออกญามีน’ ทำธุรกิจการค้าประเวณีไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เพราะต้องเสียภาษี แถมมียศเป็นถึง ‘ออกญา’ เสียด้วย
ที่สำคัญหญิงสาวที่ ลา ลูแบร์ ในนครโสเภณีที่เขารู้จัก เป็นหญิงสาวที่ถูกขายมาจากบ้านของขุนนางด้วยกันทั้งนั้น !!! ซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสถานบันเทิงย่อมต้องมีผู้ที่รู้ศาสตร์สายเอนฯ ชั้นมาสร้างความบันเทิง ซึ่งบางส่วนอาจจะไม่ได้มา ‘ชำเรา’ บุรุษ แต่อาจจะมาสร้างความบันเทิงในแบบเมมเบอร์คลับ เป็นเพื่อนดื่ม เป็นแดนเซอร์ ก็เป็นไปได้หมด และแน่นอนศาสตร์เหล่านี้น่าจะได้รับการฝึกฝน หรือสืบทอดมาจากในบ้านขุนนาง ไม่มีทางสืบทอดได้จากบ้านของตาสีตาสาที่ไหน
แต่ถึงจะถูกต้องด้วยกฎหมายแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะถูกปฏิบัติด้วยดีจากผู้คนอื่น ๆ ในสังคมนัก เพราะถึงแม้ว่าจะเคยเป็น ‘ลูก’ หรือ ‘เมีย’ ของขุนนาง แต่พวกเธอก็ถูกขายมาด้วยข้อหา ‘กระทำชั่ว’ หรือ ‘คบชู้สู่ชาย’ อยู่นั่นเอง ในกฎหมายลักษณะภญาณ (ก็ ‘พยาน’ นั่นแหละครับ) ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตราเอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.1894 หรือเพียงปีเดียว หลังการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นนั้น ได้ระบุเอาไว้ว่า ในจำนวนบุคคล 33 จำพวกที่ห้ามไม่นำมาใช้สืบความเป็นพยานนั้น มีหญิงนครโสภิณี (คือ โสเภณี) และหญิงแพศยา รวมอยู่ด้วย
ถึงแม้จะฟังดูเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยจะให้ความเป็นธรรมนัก แต่กฎหมายลักษณะภญาณ ก็ช่วยบอกให้เรารู้ด้วยว่า อาชีพหญิงนครโสเภณี มีมาตั้งแต่เริ่มต้นสถาปนากรุงศรีอยุธยา คือสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือรู้จักกันในพระนามอย่างลำลองว่า ‘พระเจ้าอู่ทอง’ นั่นเลยทีเดียว
อาชีพดึกดำบรรพ์ของโลกนี้อยู่ในสยามอย่างถูกกฎหมายมาจนถึง สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้ออก ‘พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503’ โดยถือว่าโสเภณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมื่อเราอ่านมาถึงบรรทัดนี้วันนี้คุณว่า ‘โรงรับชำเราบุรุษและนครโสเภณี’ มันเป็นยังไงหนอ ? ในโลกยุคหลังโควิด-19
เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager