นายกฯ อังกฤษ อาจไม่ได้ไปต่อ หลังกระแส ‘จบ’ หนาหู ขึ้นอยู่กับเวลา

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล

“Credibility is one of the most prized assets in politics.
When it drains away, dredging it back is difficult, often impossible.”
Chris Mason, Political editor, BBC News

ผู้เขียนขอยกข้อเขียนของนายคริส เมสัน บรรณาธิการข่าวการเมืองของบีบีซีมาเริ่มต้นเรื่องอนาคตของนางลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพราะมันเป็นสัจธรรมทางการเมืองที่แน่นอนที่สุด 

นายคริส เมสันบอกว่า “ความน่าเชื่อถือ คือสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดในทางการเมือง หากว่ามันได้สูญหายไปแล้ว ก็ยากยิ่งนักที่จะดึงมันกลับคืนมาและบ่อยครั้งที่ยากที่จะเป็นไปได้”

Credibility หรือความน่าเชื่อถือในตัวนางลิซ ทรัสส์ กระทบกระเทือนอย่างนัก เมื่อเธอได้ปลดรัฐมนตรีคลังนาย กวาซี กวาร์เทง (Kwasi Kwarteng) ออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากแผนงบประมาณที่เรียกว่า mini-budget ที่นายกวาร์เทงประกาศออกมาในปลายเดือนที่แล้ว ถูกตำหนิติเตียนอย่างหนักว่าไม่สมเหตุสมผลกับสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นนางลิซ ทรัสส์ จึงต้องกลับลำเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟในเรื่องภาษี เช่น กลับลำในเรื่องการเก็บภาษีนิติบุคคลที่เธอประกาศแต่แรกว่าจะไม่ขึ้น แต่พอโดนวิจารณ์หนักเธอก็บอกว่าต้องขึ้น หรือเรื่องภาษีเงินได้เป็นต้น

ที่จริงการเปลี่ยนแผนในเรื่องภาษีนั้นรัฐ อาจสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ในเวลาแค่ไม่ถึงเดือนที่เธอเข้ามาเป็นรัฐบาล เพราะไม่เพียงแต่ตลาดเท่านั้นที่หวั่นใจในการเปลี่ยนแปลง แต่บรรดาลูกพรรคที่เป็นส.ส. ของพรรคคอมเซอร์เวทีฟเองก็พลอยวิตกกังวลไปด้วย เพราะมันหมายถึงอนาคตในการเลือกตั้งของพวกเขาต่อไปด้วย

คริส เมสัน บอกว่าแม้เธอจะฉลาดในการตั้งนายเจเรมี่ ฮันท์ เข้ามาเป็นร.ม.ต. คลังคนใหม่เพื่อที่อาจจะสงบปากของกลุ่มนายริชชี่ สุหนักลงบ้าง (นายเจเรมี่ เป็นผู้ที่สนับสนุนนายริชชี่ในระหว่างการแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรค) แต่ก็มีเสียงจากส.ส. บางคนว่าอาจเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น และบางคนถึงกับพูดว่านายเจเรมี่ คือ นายกรัฐมนตรีตัวจริง ซึ่งเขาได้ปฏิเสธและยืนยันว่านางทรัสส์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว

อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานคำพูดของอดีตรัฐมนตรีของพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนหนึ่งว่า “คนทั่วไปรู้ดีว่า มันจบแล้ว แต่มีคำถามเพียงว่า จะจบอย่างไรและเมื่อไหร่เท่านั้น”

ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า นายกฯ ทรัสส์ จะอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่งอีกได้นานเพียงใด หลังมี ส.ส. กลุ่มเล็กๆ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เธอลาออก และอีกจำนวนมากอาจจะตามมา

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และเรียกร้องเช่นนี้ ทำเนียบรัฐบาลก็ยังอยู่ในโหมดของการรับฟังเท่านั้น ขณะเดียวกันเพื่อให้ทันกับสถานการณ์และให้เกิดความชัดเจนในเรื่องภาษีของรัฐบาล ด้านรมต.คลัง หมาดๆ (เจเรมี ฮันท์) ก็ได้แถลงต่อสภาเมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 17 ต.ค.ว่า จะลดหรือเพิ่มในเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็เป็นที่ต้อนรับของ ส.ส. บางคน แต่ธุรกิจบางอย่างก็ไม่ยินดี โดยนโยบายที่แถลงต่อสภานั้น มีการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญ ๆ หลายอย่างจากที่นางลิซเคยประกาศไว้

มีการคาดการว่าในสัปดาห์นี้นายกฯ ทรัสส์จะใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกพรรคของเธอเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุน เช่นเดียวกับนายฮันท์ที่จะชี้แจงให้ส.ส. พรรคเข้าใจในแผนการที่สำคัญและยากของเขาที่จะประกาศในปลายเดือนนี้

เมื่อดูสถานการณ์แล้วทั้งนางทรัสส์และนายฮันท์อาจจะทำงานยากอยู่กับเสียงของส.ส.ลูกพรรค แต่ก็ยังมีความหวังอยู่บ้าง เมื่อมีเสียงจากผู้อาวุโสในพรรคออกมาเตือนว่าควรจะฟังแผนเศรษฐกิจทั้งหมดของ รมต.คลัง เสียก่อน เช่นเดียวกับ ส.ส. รุ่นใหญ่ในพรรคที่ขอให้สงบสติอารมณ์กันลงบ้างและ ส.ส.อีกกลุ่มใหญ่เตือนว่า ให้ดูๆ กันไปอีกหน่อยอย่าวู่วามเกินไป

แต่ดูเหมือนว่าคนที่พูดได้น่าฟังและอาจเป็นจริงที่สุด คือ อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนายบอริส จอนห์สัน ว่า “ประเด็นสำคัญจะขึ้นอยู่กับตลาด ถ้าหากตลาดยังอยู่ตามที่เป็น เธอก็อาจจะยังมีเวลาอยู่อีกหน่อย แต่ถ้าหากตลาดตกตามสภาพของมัน เธอก็คงต้องไปภายในหนึ่งสัปดาห์”

ขณะนี้อนาคตของนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สามของอังกฤษ จะขึ้นอยู่กับตลาดหรือเสียงสนับสนุนจากลูกพรรคของเธอ ในอีกราวสองสัปดาห์ข้องหน้าคงจะได้รู้กัน แต่ในสายตาของผู้สื่อข่าวในอังกฤษแล้วเธอหมดสภาพนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เธอแถลงข่าวปลดเพื่อนของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

(ล่าสุดเมื่อตอนบ่ายวันพุธที่ 19 ตุลาคม ปรากฏว่า รมต. มหาดไทย อย่างนาง ซูเอลล่า บริเวอแมน Suella Bravermanก็ได้ยื่นจดหมายลาออกต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งรับ พร้อมกับตั้งนายแกร้น แช้ป Grant Shapps เข้ารับตำแหน่งแทน เหตุผลที่ลาออกมีอยู่สองประเด็น คือ นางซูเอลล่า ยอมรับว่าผิดพลาดในการใช้อีเมล์ส่วนตัวส่งข้อความทางราชการให้กับคนข้างนอกซึ่งผิดกฎ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่านางซูเอลล่า ขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องผู้ลี้ภัย)


อ้างอิง: How long can Liz Truss survive as prime minister? BBC News
: Many Tory MPs are doom-laden - what will they do next? BBC News
: Braverman resigned over migration row - Conservative Home editor