รมว.ต่างประเทศ ยืนยัน ทุกประเทศตอบรับร่วม APEC 2022 ลุ้นแค่ผู้นำมาเองหรือส่งตัวแทน ด้านด้าน 'มกุฎราชกุมารซาอุฯ' เตรียมยกคณะใหญ่ 800 คนเยือนไทย
ใกล้เข้ามาเต็มทีกับงานใหญ่อย่าง APEC 2022 ที่กรุงเทพฯ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงความคืบหน้าการเชิญผู้นำจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ประเทศไทย ในวันที่ 18-19 พ.ย.65 ว่า...
"ไม่มีประเทศใดที่เราเชิญไปแล้วจะไม่เข้ามาร่วม เพียงแต่เมื่อใกล้ถึงวันประชุม ตัวผู้นำจะเดินทางมาเองหรือมอบหมายให้ผู้ใดมาแทนต้องรอดูในช่วงใกล้วันประชุมอีกครั้ง ว่าประเทศต่างๆ พิจารณาอย่างไร ดังนั้น ยืนยันว่าทุกประเทศจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แต่อยู่ที่ว่าจะเป็นบุคคลระดับใด"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมเตรียมการจัดการประชุมเอเปก เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานการประชุม ได้มีความกังวลเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายดอน กล่าวว่า "ไม่มี ทั้งนี้ นายกฯ รับทราบมาตลอดว่าการประชุมเอเปกครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ 3 การประชุมสำคัญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ที่จัดติดกัน และมีการติดตามการเตรียมการของแต่ละหน่วยงาน นายกฯ จึงได้รับทราบถึงรายละเอียด ว่าแต่ละก้าวย่างจะต้องทำอย่างไร และประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง"
เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวมกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย จะนำผู้ร่วมคณะกว่า 800 คน เดินทางมาที่ประเทศไทย นายดอน กล่าวว่า...
"เป็นไปตามข่าว โดยการเยือนดังกล่าวมาในฐานะแขกของรัฐบาล ส่วนหนึ่งมาจากการตกลงร่วมกันในช่วงที่นายกฯ เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา จึงได้เตรียมการต่างๆ พร้อมสำหรับการเยือนประเทศไทย ทั้งนี้การเยือนดังกล่าวจะทำให้ทุกเรื่องราวที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย เกิดเป็นโอกาสสำหรับสองประเทศ อย่างไรก็ตามขอให้ รอรายละเอียดอีกครั้งในช่วงที่ใกล้ถึงวันที่จะมีการเยือนเกิดขึ้น ซึ่งจะมีการแถลงข่าวด้วย ตอนนี้ไม่ควรไปพูดอะไรล่วงหน้ามากนัก"
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 เพจไทยคู่ฟ้า ได้เผยแพร่กำหนดการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 25 – 26 ม.ค.นี้ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย
นับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับผู้นำรัฐบาลระหวางสองชาติเป็นครั้งแรกรอบกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน
สำหรับ เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน แห่งราชวงศ์อัล ซาอูด หรือที่โลกตะวันตกเรียกกันภายใต้ชื่อย่อว่า MBS พระองค์ขึ้นเป็นมกุฏราชกุมารว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย ในช่วงปี 2015 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอห์ บิน อับดัลอะซิซ อัล ซาอูด เสด็จสวรรคต ส่งผลให้พระบิดาของพระองค์คือ เจ้าชายซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ อัล ซาอูด พระยศในขณะนั้น ซึ่งเป็นมกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียพระองค์ใหม่ต่อจากพระเชษฐา
เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ อัล ซาอูด ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ เจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ผู้เป็นโอรสองค์ที่เจ็ดของกษัตริย์ซัลมาน และบุตรชายคนโตในจำนวนหกคนอันที่เกิดจากภรรยาคนที่สามของกษัตริย์ซัลมาน พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาทแห่งซาอุฯ
ซึ่งนอกจากจะเป็นมกุฎราชกุมารเตรียมสืบทอดเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปแล้ว เจ้าชาย MBS ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ประธานสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและพัฒนา เป็นประธานสภากิจการการเมืองและความมั่นคงเป็นที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์และยังเป็นประธานกองทุนความมั่งคั่งซาอุฯ PIF ด้วยพระชันษาเพียง 36 ปี
นั่นทำให้พระองค์มีสถานะไม่ต่างจากผู้ปกครองโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย ไม่ปรากฏหลักฐานอันชัดเจนนักว่าเหตุใด กษัตริย์ซัลมาน ทรงโปรดปรานเจ้าชาย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน มากที่สุดในบรรดาพระราชบุตรทั้ง 9 พระองค์ ที่ประสูติจากพระมเหสีทั้ง 3 พระองค์
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ประสูติเมื่อ 31 สิงหาคม 1985 จบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย King Saud สถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่สุดของประเทศ ก่อนจะเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐหลายแห่ง กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์อับดุลลาห์เมื่อปี 2009
ทันทีที่เจ้าชาย MBS ขึ้นครองอำนาจในฐานะรัชทายาท นั่นทำให้เจ้าชายเริ่มมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จในหลายส่วน พระองค์ทรงได้รับเสียงชื่นชมจากหลายชาติตะวันตกจากการเดินหน้าปฏิรูปสังคมซาอุดีอาระเบียในหลายด้าน โดยเฉพาะเปิดเสรีแก่สตรีมากขึ้น ท่ามกลางสังคมซาอุฯ ซึ่งเป็นแบบอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด
พระองค์ยังเป็นผู้เปิดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 อันเป็นแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้ลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจของประเทศและพัฒนาภาคบริการสาธารณะ เปิดกว้างด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเสริมสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุน การเพิ่มการค้าระหว่างประเทศที่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน
แม้จะได้รับเสียงชื่นชมในแง่นโยบายเปิดกว้างประเทศ แต่พระองค์ก็ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกรณีนาย จามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์วอชิงโพสต์ ชาวซาอุฯ ที่ถูกสังหารโหดในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในนครอิสตันบูล ตุรกี เมื่อปี 2018 จนส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุฯจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ประมุขแห่งซาอุดีอาระเบียโดยพฤตินัย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเจ้าชายเคยให้สัมภาษณ์ต่อรายการ 60 Minutes ถึงกรณีที่ตะวันตกเชื่อว่าทรงพัวพันการสั่งสังหารนายคาช็อกกี ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการสั่งสังหารคอลัมนิสต์ชาวซาอุฯ แต่พระองค์จะทรงรับผิดชอบในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานให้กับรัฐบาลริยาด
ที่มา: https://www.thaipost.net/hi-light/240210/
https://www.prachachat.net/world-news/news-848609