23 กันยายน วันภาษามือโลก วันสำคัญสากลของคนพิการทางการได้ยิน สร้างความตระหนักรู้สิทธิคนในโลกเงียบ
วันภาษามือโลก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า International Day of Sign Languages เป็นวันสำคัญสากลของคนพิการ ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ของทุกปี
วันภาษามือโลกถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ของทุกปี ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1951 เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018 นั่นเอง
จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้
ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่นสหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ ในปี 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก