รัฐบาล จ่ายต่อเนื่องอุดหนุนเด็กแรกเกิด ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเด็กมีพัฒนาการตามวัย

เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้โพสต์ข้อความถึงโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายสำคัญระดับชาติ มุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต อันจะยังประโยชน์ดังนี้

1) ช่วยให้เด็กอายุ 0 – 6 ปี ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และเป็นกำลังของสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต

2) การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7 - 10 เท่า ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีทักษะที่สูงขึ้น ผลการเรียนที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น การเจ็บป่วยที่ลดลง และลดจำนวนอาชญากรรมลง เป็นต้น

3) ทำให้เด็กแรกเกิดสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ได้รับการพัฒนาให้เติบโตอย่างเหมาะสมตามวัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการตามภารกิจของหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ข้อมูลประมาณการจำนวนประชากรของ สศช. ในปี 2565 พบว่า จะมีเด็กอายุ 0 - 6 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4,183,308 คน โดยประมาณการเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/คน/ปี จะมีจำนวน 2,655,272 คน หากให้เงินอุดหนุนแก่เด็กอายุ 0- 6 ปี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน จะใช้งบประมาณ จำนวน 16,659.4899 ล้านบาท

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการจ่ายเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ