23 กรกฎาคม พ.ศ.2528 เปิดการจราจร ‘สะพานพระนั่งเกล้า’ ครั้งแรก เชื่อมถ.รัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2528 เปิดการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยสะพานพระนั่งเกล้าเป็นครั้งแรก เชื่อมการเดินทางระหว่างพื้นที่ตำบลไทรม้ากับตำบลบางกระสอ เมืองนนทบุรีเข้าด้วยกัน

วันนี้เมื่อปี 1985 หรือ พ.ศ. 2528 ประเทศไทยได้เปิดให้มีการสัญจรโดยสะพานพระนั่งเกล้าเป็นครั้งแรก โดยมีการเริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 โดยบริษัท สุมิโตโม คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยเชื่อมการเดินทางระหว่างพื้นที่ตำบลไทรม้ากับตำบลบางกระสอเข้าด้วยกันตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ สะพานมีความยาว 545.10 เมตร โดยช่วงตัวสะพานยาว 329.10 เมตร และเชิงลาดสะพานทั้งสองฝั่ง 216 เมตร ความสูง 7.40 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีช่องทางจราจร 4 ช่องทาง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้สูงส่งและเด่นชัดยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้เสนอขอขนานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า "สะพานพระนั่งเกล้า" โดยได้เสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตผ่านทางกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีขออัญเชิญพระนามมาเป็นชื่อสะพานเพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นเกียรติแก่ชาวไทยจังหวัดนนทบุรี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานพระนั่งเกล้า" ตามหนังสือของกรมโยธาธิการ ที่ มท. 0903/2843 ลงวันที่  8 มีนาคม 2528 เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านนั้นจึงขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามของรัชกาลที่ 3 มาเป็นชื่อสะพาน

และในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ได้มีก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า ที่อยู่ด้านเหนือน้ำของสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามแนวถนนรัตนาธิเบศร์ - งามวงศ์วาน - เกษตรฯ - นวมินทร์ เพื่อให้ประชาชนใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้รับความสะดวกไม่ประสบปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากสะพานพระนั่งเกล้าไม่สามารถรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้า เปิดให้ใช้การจราจรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีช่องทางจราจร 6 ช่องทาง โดยเชื่อมต่อกับช่องทางหลักของถนนรัตนาธิเบศร์ ช่องทางคู่ขนานใช้สะพานเก่า ที่มีความยาวตลอดช่วงสะพานถึง 2 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนนนทบุรี 1 มีความยาวช่วงกลางแม่น้ำเท่ากับ 229 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสะพานคอนกรีตรูปกล่องที่ก่อสร้างด้วยวิธีคานยื่นสมดุล (balanced cantilever) ที่มีช่วงกลางแม่น้ำยาวที่สุดในประเทศไทย ส่วนความสูงมีความสูงกว่าสะพานพระนั่งเกล้า 9 เมตร