รู้จัก Polar Vortex สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ปรากฏการณ์ 'เย็นวูบวาบ' ที่คาดว่าไทยกำลังเจอ

(3 เม.ย. 65) จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส 

ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

ส่วนมากบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง

ขณะที่สภาพอากาศกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็น กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-29 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat โดยระบุว่า...

อากาศที่เย็นลงในไทยแบบวูบวาบนี้ สิ่งที่ต้องเร่งดูแล นอกจากคนให้มีที่นอนที่อบอุ่นเพียงพอแล้ว

สัตว์เองก็จะประสบปัญหาความหนาวเย็นที่เค้าอาจปรับตัวไม่ทันเช่นกัน

นี่คือผลของภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุด หรือบางจุดมาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก

น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้กระแสลมที่เคยพัดวนทวนเข็มนาฬิกาด้วยความเร็วเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ปกติหมุนพัดที่ความสูง 10 กิโลเมตรจากพื้นดินรอบเขตขั้วโลกมานับล้านปีเกิดสะดุด

กำแพงลมนี้เป็นเสมือนปราการธรรมชาติที่เคยขังไอเย็นไว้ในขั้วโลก 

บัดนี้เริ่มมีจุดที่มันยืดย้วยออกเป็นห้วงๆ เพราะไออุ่นจากมหาสมุทรและแผ่นดินทวีปบางย่านที่มากขึ้นลอย ไปกระทบกำแพงลม 

ทำให้ลมหมุนถูกเบี่ยงเบน อ้อมออกจากเส้นทางเดิมๆ

ทีนี้ไอเย็นก็ขยายออกตามลงมา แล้วแต่ว่ารอยยืดนั้นไปเกิดในจุดไหน

พอจุดนั้นยืดย้วย ก็จะดันเอาอากาศชุดที่ติดกับมันให้ดันกันต่อไปสู่เขตอื่น แม้แต่เขตอากาศของเส้นศูนย์สูตร

ความเยือกเย็นจึงถูกดันมาเป็นทอดๆ

ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Polar Vortex

แม้จะย้วยมาเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ชี้ให้เราตระหนักว่า โลกใบนี้เล็กกว่าที่เราเคยรู้จัก

สิ่งที่เกิดกับภาวะโลกร้อน ที่ขั้วโลกเหนือ สะเทือนมาถึงเส้นศูนย์สูตรได้อย่างรวดเร็วเหมือนกัน

ในทางกลับกัน กำแพงลมเย็นที่ถูกไออุ่นเบียดให้แคบลงก็แปลว่าจะมีไอร้อนเบียดเข้าหาขั้วโลกเช่นกัน

ปีนี้เราคงได้เห็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลตามมา

อย่างไรเสีย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยาก็ได้มีการออกมาชี้แจงข่าวลือตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข้อความและภาพ ถึงสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น ฝนตกหรืออากาศหนาวเย็นช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน 2565 โดยผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่าเป็นผลจากปรากฏการณ์ Polar Vortex ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพวงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น
 


โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มีนาคม 2565) ซึ่งโดยทั่วไป อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

ส่วนความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าว แผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรกๆ 

ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น 

ส่วนปรากฎการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทยเพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกรีดขวางเป็นอุปสรรคคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไปโอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก

ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้ จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด


ที่มา: https://www.facebook.com/139223596102079/posts/5343149362376117/
https://www.tnnthailand.com/news/earth/109902/