เกาะยอในความทรงจำ (๑) 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า 

ดิฉันเข้าไปทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านรอบทะเลสาบสงขลากับอ.เขมานันทะ น้องกิ๋ว-คุณปรัศนันท์ กังศศิเทียม และทีมงานคนอื่นๆ เป็นครั้งแรกเมื่อกลางปีพ.ศ. ๒๕๔๒ เขียนเป็นหนังสือ “ทะเลสาบสงขลา” และ “อนุทินทะเลสาบ” ให้กับ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ แล้วหลังจากนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ดิฉันก็ยังได้เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมชาวบ้าน ที่เกาะยอ เมืองสงขลา ให้กลุ่มบริษัทแปลน เป็นช่วงที่ดิฉันและน้องกิ๋วพักอยู่สงขลาหลายเดือน นับเป็นความทรงจำที่ยิ้มได้เสมอเมื่อรำลึกถึง

หลังจากนั้น...นานครั้ง ดิฉันถึงมีโอกาสเข้าไปที่เกาะยออีกบ้าง หลักๆ คือไปที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เกาะยอ ที่จำได้และถ่ายภาพเก็บไว้ก็คือช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๘ และปีพ.ศ. ๒๕๕๙

มีเรื่องเกี่ยวกับเกาะยอ ที่ดิฉันเขียนไว้ในหนังสือ “อนุทินทะเลสาบ : บันทึกจากแผ่นดินของปู่-ทะเลของย่า” พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ พลิกดูวันนี้มีหลายเรื่องที่เห็นว่ามีค่า สำหรับคนเกาะยอ-สงขลา รุ่นหลัง จึงนำมาขึ้นเพจ ให้ได้อ่านกัน

สำหรับภาพประกอบนั้น ดิฉันตั้งใจนำมาให้ได้ดูเปรียบเทียบ ๒ ช่วงในห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป ภาพเก่านั้นถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ภาพสีสดใสบันทึกไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ 
ซึ่งบัดนี้ คงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในช่วงปัจจุบัน
ดูภาพ และอ่านเรื่องเกาะยอกันนะ
#เกาะยอ

"ผ้าดำดี ลูกสาวสวย" คือคำพังเพยที่ชาวสงขลาระบุกันถึงภาพของเกาะยอในวันวาน ผ้าที่ทอขึ้นจาก "ด้ายกุหลี" หรือเส้นไหมละเอียดสีดำ ด้วยฝีมือของสาวเกาะยอ ตาคม ผิวขาวนวล ตามเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนของบรรพบุรุษ ได้สร้างชื่อให้เกาะยอเป็นสถานที่อันโดดเด่นในบริเวณปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ทั้งยังเป็นแหล่งของผลไม้อร่อยนานาพันธุ์ กระเบื้องดินเผามุงหลังคา และมาตุภูมิของอิงอร-นักเขียนผู้ใช้สำนวนภาษาประดุจปลายปากกาจุ่มหยาดน้ำผึ้ง

ธานี ไพโรจน์ภักดิ์ ชาวเกาะยอ กำนันวัย ๖๗ ปี เล่าว่า ๒-๓ ชั่วอายุคนก่อนนี้ คนเกาะยอส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนอพยพมาจาก ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ และ ต.ทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา จีนสมัยนั้นแล่นเรือใบมาเห็นเกาะแห่งนี้ร่มรื่นน่าอยู่ มีที่ว่างไร้เจ้าของมากมาย จึงชวนกันมาตั้งรกราก พบว่ามีต้นยอขึ้นอยู่มาก ถึงเรียกกันว่า "เกาะยอ" มาแต่บัดนั้น

จีนเริ่มต้นชุมชนบนเกาะขึ้นที่บ้านนาถิ่น ได้เมียคนไทย พากันทำสวน ปลูกฝ้าย ปลูกครามย้อมผ้าตามถนัด สาวเกาะยอทอผ้าทุกครัวเรือน คิดค้นลายผ้าขึ้นอย่างมีแบบฉบับของตนเอง พื้นดำ น้ำเงินขัดลายยกดอกเป็นลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายข้าวหลามตัด ลายดอกพริก ลายดอกก้านแย่ง ฯลฯ ทอทั้งผ้าพื้นสีเขียว สีน้ำเงิน เป็นโสร่งทั้งของหญิงและชาย จากฝ้ายเป็นด้ายกุหลีที่ละเอียดกว่าเส้นไหม จนมาถึงไหมเทียมโทเรในปัจจุบัน

ลักษณะโดดเด่นของผ้าเกาะยอก็คือ ความหนาคงทน สวยด้วยลายเฉพาะถิ่น ส่งขายไกลทั่วเมืองไทย เดี๋ยวนี้สาวเกาะยอยังทอผ้ากันอยู่กว่า ๒๐๐ ครอบครัว เสียงกี่กระตุกกึงกังยังกังวานอยู่ยามบ่าย เมื่อเดินผ่านลัดเลาะไปตามถนนคดเคี้ยวในเกาะ

ถนนที่เพิ่งลาดยางช่วงปีพ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ วกเวียนทับเส้นทางเดินโบราณที่เลี้ยวเลาะเข้าไปตามสวนผลไม้นานา เกาะยอเลื่องชื่อเรื่องผลไม้อร่อย เป็นที่โจษจันกันมานานแล้ว ดังหลักฐานในบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี คราวเสด็จออกตรวจราชการภาคใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า "อนึ่งที่ปากช่องทะเลสาบนั้นมีเกาะๆ หนึ่งชื่อเกาะยอ...มีสวนเรียงรายอยู่ในเกาะและรอบเกาะเป็นสวนผลไม้ หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน และมีสวนมัน ผักและพลูต่างๆ บริบูรณ์ มีบ้านราษฎรเจ้าของสวนเรียงราย" 

คุณตาประวิทย์ นพคุณ วัย ๘๖ ปี คนย่านถนนนครนอก อำเภอเมืองสงขลา ยืนยันด้วยรอยยิ้มและดวงตาเป็นประกายสดใสเมื่อเล่าถึงเกาะยอครั้งคุณตายังหนุ่มว่า "คนเกาะยอทำสวนทอผ้า ผู้หญิงเกาะยอตัวขาว เชื้อจีนสวยมากๆ ผลไม้เกาะยอขึ้นชื่อ มีทั้งสวา(ละมุด) จำปาดะ มะพร้าว ทุเรียน"

ร้อยกว่าปีหลังบันทึกของเจ้าฟ้าภาณุฯ ผลไม้เกาะยอยังอุดม ผ้าเกาะยอยังดี ลูกสาวชาวเกาะยอยังสวย กระเบื้องเกาะยอเท่านั้นที่กลายไปเป็นตำนาน

เรือนไทยใต้ซ่อนตัวอยู่หลังแมกไม้ครึ้ม แดดสว่างจับหลังคากระเบื้องดินเผา คือภาพงามยามเย็น บ่งบอกถึงวิถีชีวิตสงบเนิบช้า เรือนปั้นหยาทุกหลังที่ผ่านตา ล้วนมุงกระเบื้องเกาะยอ นอกจากจะให้ความงามอันกลมกลืนกับเรือกสวนรอบข้างแล้ว กระเบื้องเกาะยอยังแข็งแกร่ง คงทนอยู่ได้ถึง ๔๐-๕๐ ปี ขึ้นชื่อว่ามุงแล้วร่มเย็นอยู่สบาย ช่วงรุ่งเรืองคนเกาะยอตั้งเตาเผากระเบื้องกันราว ๑๐ เจ้า ขุดดินจากทุ่งนาปั้นกระเบื้อง อิฐ โอ่ง อ่าง กันตั้งแต่เดือนยี่ถึงเดือน ๑๑ มาหยุดเอาหน้ามรสุม ยามฝนชุก ชื้นแฉะจนตากกระเบื้องไม่ได้ คนเกาะยอเล่าว่า เคยบรรทุกกระเบื้องเป็นหมื่นๆ แผ่น ลงเรือใบ รอนแรมไปในเวิ้งทะเลสาบสงขลาแถบเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง ขายไกลถึงเมืองตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รุ่งเรืองมีชื่อเสียงโด่งดังถึงกลันตัน ตรังกานู ปีนัง สิงคโปร์ จนพวกพ่อค้าพากันเอาเรือสำเภา ๒ หลักขนาดใหญ่ออกทะเลลึก มาบรรทุกกระเบื้องไปขายเอง

กิจการกระเบื้องดินเผาเกาะยอเพิ่งมาสิ้นสูญไปเมื่อราว ๒๐ ปีนี้เอง วันเวลาเคลื่อนไป หากบ้านเก่าที่เคยใช้กระเบื้องเกาะยอกลับอยู่กันยาวนาน มุงหลังคามากว่า ๕๐ ปีไม่มีพัง แทบไม่ต้องซ่อมแซม บ้านใหม่ก็ถูกกระเบื้องโรงงาน ที่แม้จะมุงแล้วร้อนอบอ้าว ทั้งไม่คงทนเท่า แต่ราคาที่ถูกกว่า เบากว่า ใช้ไม้โครงหลังคาน้อยกว่าที่เข้ามาแทน ก็ทำให้ชาวบ้านสมัครใจหันไปใช้ของใหม่ที่ผลิตออกมาตีตลาด จนกระเบื้องเกาะยอค่อยๆ สูญสิ้นความนิยมไปโดยปริยาย คงเหลือเพียงกระเบื้องดินเผาของเมืองสงขลาก็แต่ที่บ้านท่านางหอม นอกเกาะยอห่างไกลออกไป ให้นึกถึงตำนานของบ้านหลังคากระเบื้องดินเผา สวยสงบในดงไม้ จารึกไว้ถึงวันวานอันรุ่งเรืองของ "เบื้องเกาะยอ" ในวันเวลานี้

คนเกาะยอล้วนเดินผ่านไปบนเรื่องเล่าของวันวาน และหนึ่งในเรื่องเล่าอันมีค่าก็คือ ความซาบซึ้งในทะเลสาบสงขลาของศักดิ์เกษม หุตาคม หรือ "อิงอร" นักเขียนผู้ลาลับไปเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ อิงอรได้เคยบันทึกภาพงาม "กลางแสงเดือนเพ็ญอำไพฟ้า ฉาบอ่าวสงขลาให้เป็นทะเลทองด้วยเงาระยับ" สร้างเรื่องราวของ "ดรรชนีนาง" ให้อุโฆษในวงวรรณกรรม

"แม่พี่อิงอรเป็นคนเกาะยอ" คุณลุงลีลวุฒิ วิสมิตะนันทน์ ญาติสนิทของอิงอรรำลึกความหลังให้ฟัง ในความใกล้ชิดลุงลีลวุฒิเรียก "อิงอร" ว่า "พี่เข้งเฉี้ยง" ตามชื่อจีนที่คุ้นเคยในครอบครัว หลายช่วงของจังหวะชีวิต อิงอรเคยมานอนอยู่ที่บ้านสวนใหม่ บนเกาะยอ และให้ลีลวุฒิญาติผู้น้อง พาเรือออกไปดูทิวทัศน์ของเวิ้งอ่าวทะเลสาบ ที่อิงอรบันทึกไว้ใน "ดรรชนีนาง" ว่า

"พลบค่ำ-ดวงตะวันสีแดงลับเขารูปจระเข้หมอบทางฟากแหลมสน เขาเดินเลาะแก่งหินดินแดงเลียบทิวมะพร้าวและป่าละเมาะ จากหมู่บ้านท่าเสามาจนถึงหมู่บ้านหัวเขาแดง จนพ้นทิวเขาถึงลานทรายปากทะเลสาบ ก็ยังไม่พบเรือจ้างข้ามฟากแม้แต่ลำเดียว เสียงจักจั่นเรไรที่ระงมร้องเหมือนช่วยเร่งเวลาพลบ บนยอดมะพร้าว และบนยอดไม้เชิงเขา ยิ่งเพิ่มความวังเวงและกระวนกระวายยิ่งขึ้น ทะเลใหญ่ในเวลานั้น ทอดทาบด้วยเงาเขียว รายเรียบด้วยผิวน้ำสีน้ำเงินแก่ พ้นจากปากอ่าวเป็นทะเลหลวงเวิ้งว้าง เรือรบหลวง "อรุโณทัย"  ทอดสมอจอดนิ่งอยู่ระหว่างเกาะหนูเกาะแมว ตัดกับฟ้าสีเทาและเมฆที่ถูกแสงสะท้อนจากดวงตะวันพลบย้อมเป็นส้มอ่อนๆ เป็นฉากตัดใบเรือสีขาวและสีปีกของหมู่นกนางนวลให้เด่นชัดขึ้นบนขอบน้ำ" 

คุณลุงลีลวุฒิรำลึกความทรงจำให้ฟังว่า ในยามข้างขึ้นเดือนแจ้ง คุณอิงอร ชอบออกไปลอยเรือกลางทะเลบริเวณหน้าบ้านสวนใหม่ ธรรมชาติงามของเวิ้งน้ำเงียบสงบอาจเป็นที่มาของบรรยากาศในเพลง “หนาวตัก” ที่คุณอิงอรเขียนให้กับ “ดรรชนีนาง” ดังที่ว่า…. “ทะเลงามยามดึกดื่นเมื่อคลื่นหลับ แสงเดือนจับ เจิดนภาเวหาหาว นั่งเรือน้อยเคลื่อนคล้อยใต้แสงดาว พร่างน้ำพราว ผ่องเพชรเกล็ดนที…”

ทะเลสาบสงขลาในมุมอันโอบล้อมเกาะยอไว้ในระลอกไหวพลิ้วของเกลียวคลื่น ได้ทำนุบำรุงเกาะยอให้อุดมไปด้วยทรัพย์ในดินและสินทะเลมั่งคั่ง ทั้งยังให้แรงบันดาลใจกับผู้คนทุกสมัย มาจนปัจจุบัน


ที่มา : https://www.facebook.com/1190754654403357/posts/2883492255129580/