18 ปี อุ้มหายกลางเมือง ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ทนายและนักสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย
ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นนักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย ที่มักเข้าไปมีบทบาทเป็นทนายให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้ายจนจำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี ทำให้เขานั้นกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ผู้ที่ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านชายแดนใต้’ หรือในอีกแง่หนึ่งที่บางคนอาจรู้จักเขาในฐานะ ‘ทนายโจร’
ไม่ว่าเขาจะถูกเรียกขานอย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายหลักของเขานั้นก็คือการช่วยเหลือคนเพื่อให้ได้รับความ ‘ยุติธรรม’ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแม้แต่น้อย หากแต่การเป็นทนายน้ำดีของเขาที่เข้าไปมีบทบาทพัวพันกับคดีความมั่นคงมากมาย อาจไปขัดต่อความคิดเห็นหรือขัดขาคนบางกลุ่ม จนทำให้เขาต้องประสบกับเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้เขาต้องกลายเป็น ‘บุคคลสูญหาย’ ในที่สุด
โดยย้อนกลับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ทนายสมชายได้เดินทางไป โรงแรมชาลีน่า เพื่อรอพบเพื่อน หลังจากนั่งรอที่ล็อบบี้ของโรงแรม แต่เพื่อนมาช้ากว่ากำหนดมาก บวกกับความอ่อนเพลีย และอยากพักผ่อน จึงทำให้ทนายสมชายตัดสินใจเดินทางกลับ
ในระหว่างเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว ทนายสมชายได้ใช้เส้นทางถนนรามคำแหง เพื่อมุ่งหน้าไปค้างคืนที่บ้านเพื่อน แต่ระหว่างทางนั้นกลับมีรถยนต์ที่บรรทุกชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ตามมาอย่างกระชั้นชิด จนชนท้ายรถยนต์ของทนายสมชาย
ทำให้ต้องหยุดรถเพื่อลงมาพูดคุย หากแต่ว่าทนายสมชายกลับถูกทำร้ายและผลักเข้าไปในรถยนต์ของชายฉกรรจ์ และมีชายอีกคนขับรถของทนายสมชายขับหลบหนีออกไปพร้อมกัน และนั่นจึงกลายเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ ที่มีผู้คนเห็นทนายสมชาย
ซึ่งหลังจากการหายตัวไปของทนายสมชาย ทำให้มีการสืบสวนเกิดขึ้น และได้มีการพูดถึงปมเหตุจากการที่ทนายสมชายได้แฉพฤติกรรมของตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ทำกับผู้ต้องสงสัยในคดีปล้นปืนจากค่ายทหารที่นราธิวาส ด้วยการบังคับให้รับสารภาพผิดด้วยการถูกทรมาน
ต่อมาได้มีการพบหลักฐานตำรวจ 5 นายมีความเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย ซึ่ง 2 ใน 5 คน ที่ถูกจับกุม เป็นผู้ที่ร่วมทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีปล้นปืนจากค่ายทหารที่นราธิวาส
อีกทั้งพนักงานสอบสวน ตรวจสอบพบว่า การใช้งานโทรศัพท์ของตำรวจทั้ง 5 นาย น่าจะมีการติดตามทนายสมชายตั้งแต่เช้าวันที่ 12 มีนาคม ตั้งแต่ 09.00-20.35 น. และจากข้อมูลบันทึกการใช้เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถระบุพิกัดสถานที่โทรเข้า-ออกได้ในทุกๆ ครั้ง ได้นำไปสู่การจับกุมตำรวจทั้ง 5 นาย
แต่ผลสุดท้ายศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายตำรวจคนหนึ่ง เป็นเวลา 3 ปีเพียงคนเดียว เท่านั้น ในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย ขณะที่ผู้ต้องหาที่เหลือให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ
โดยในช่วงปลาย พ.ศ. 2556 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่าแฟ้มคดีหายไป แต่อ้างในภายหลังว่าได้พบแฟ้มแล้ว โดยสถานะของคดีและกระทรวงที่ดำเนินการก็ยังไม่ทราบที่แน่ชัด ใน พ.ศ. 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ‘ประกาศปิดคดี โดยกล่าวว่าไม่พบผู้กระทำผิด’
ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1654923
ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes