ใครเจ๋งกว่า? เปรียบเทียบแสนยานุภาพทาง ‘ทหาร’ ระหว่าง ‘Russia VS Ukraine’

ขณะที่เขียนบทความนี้ (วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐเอกราชในพื้นที่โดเนตสค์-ลูฮันสก์ ในภูมิภาคดอนบาสของ Ukraine พร้อมส่งกองกำลังทหารเพื่อ “รักษาสันติภาพ” เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว อันเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียเคลื่อนไหวอยู่ โดยรัสเซียได้ฉีกสนธิสัญญากรุงมิสก์ (Minsk Protocol) เพื่อยุติสงครามชายแดนระหว่าง Russia กับ Ukraine การส่งทหารเข้าไปในดินแดนของยูเครนครั้งใหม่นี้เป็นการเพิ่มความตึงเครียดของสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย ยูเครน และชาติตะวันตก โดยเฉพาะ NATO ให้มากยิ่งขึ้น

ยูเครนเคยเป็นรัฐภายใต้สหภาพโซเวียตตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกาศเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2534 หลังจากนั้นก็มีการปะทะตามแนวชายแดนระหว่าง Russia กับ Ukraine จนกระทั่งสามารถเจรจาสงบศึกด้วยการทำสนธิสัญญากรุงมิสก์ (เมื่อ 5 กันยายน พ.ศ. 2557) ในการแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ความยาวเกือบหนึ่งชั่วโมง ประธานาธิบดีปูติน ผู้นำรัสเซียได้กล่าวถึงเหตุผลในการส่งกองกำลังทหารเข้าในพื้นที่โดเนตสค์-ลูฮันสก์ ของยูเครนไว้หลายประเด็นได้แก่

(1) เพื่อรับรองภูมิภาคดอนบาส (สาธารณรัฐโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์)

(2) ยูเครนไม่ทำตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้ในปี พ.ศ. 2537 ว่าจะไม่เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรตะวันตก

(3) การป้องกันภัยคุกคามจากโลกตะวันตกต่อรัสเซีย 

เมื่อดูแสนยานุภาพของทั้งสองชาติเปรียบเทียบกันในมิติต่าง ๆ พอจะสรุปได้ดังนี้
>> Russia vs Ukraine (อัตราส่วน)
ประชากร : 145,478,097 vs 41,167,336 คน (ราว 3.53 : 1)
GDP : US$ 4,328,000,000,000 vs 622,000,000,000 (ราว 6.95 : 1)
งบประมาณกลาโหม : US$ 61,000,000,000 vs 6,000,000,000 (ราว 10.16 : 1)
กำลังทหารประจำการ : 1,014,000 vs 255,000 นาย (3.97 : 1)
กำลังสำรอง : 2,000,000 vs 250,000 นาย (8 : 1)
ประชากรในวัยพร้อมรบ : 3,014,000 vs 1,155,000 คน (ราว 2.6 : 1)

>> กองกำลังทางบก
ทหาร : 280,000 vs 125,600 นาย (2.22 : 1)
รถถัง : 13,367 vs 2,119 คัน (6.30 : 1)
ปืนใหญ่ (ลากจูง+อัตตาจร) : 5,934 vs 2,040 ระบบ (2.9 : 1)
ยานรบหุ้มเกราะ : 27,100 vs 11,435 คัน (2.36 : 1)

>> กองกำลังทางเรือ
ทหาร : 150,000 vs 15,000 นาย (10 : 1)
เรือผิวน้ำ : 74 vs 2+13 (ขนาดเล็ก) = 15 ลำ (4.93 : 1)
เรือดำน้ำ : 51 vs 0 (51 : 0)

>> กองกำลังทางอากาศ
ทหาร : 165,000 vs 35,000 นาย (2.22 : 1)
เครื่องบินรบ : 1,531 vs 146 (10.48 : 1)
เฮลิคอปเตอร์โจมตี : 538 vs 42 (12.80 : 1)

จำนวนกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์มาจากข้อมูลหลายแหล่ง แต่จะใช้การอนุมานจากจำนวนที่มากที่สุดเป็นหลัก บทความนี้โพสต์ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ซึ่งไม่แน่ว่าสงครามระหว่าง Russia กับ Ukraine เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ แต่ตัวเลขจำนวน GDP งบประมาณทางทหาร กำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ บอกได้ว่า Russia เป็นต่อ Ukraine มากมาย ซ้ำกองทัพ Ukraine ก็ยังไม่เข้มแข็ง ไม่มีแม้แต่ศักยภาพในการยึดคืนเขตอิทธิพลของ Russia ในพื้นที่โดเนตสค์-ลูฮันสก์ได้เลย ดังนั้นหากกองทัพ Ukraine สามารถต้านทานกองทัพ Russia ได้สักหนึ่งสัปดาห์ก็ถือว่า ยอดเยี่ยมแล้ว  

ประมาณการ การวางกองกำลัง Russia ที่ประชิดพรมแดน Ukraine

ตัวเลขต่าง ๆ ที่นำมาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นศักย์สงครามของสองประเทศที่ต่างกันอย่างไม่สามารถเทียบได้ หาก NATO สนับสนุน Ukraine แบบจัดเต็มก็ยังอาจจะพอรับมือ Russia ได้บ้าง หาก NATO สนับสนุนเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยไม่มีการส่งกำลังทหารมาร่วมรบ Ukraine คงแพ้ในสงครามเต็มแบบอย่างแน่นอน และเมื่อ Ukraine แพ้ สงครามก็จะเปลี่ยนจากสงครามเต็มรูปแบบเป็นสงครามกองโจรระหว่างฝ่ายต่อต้านคือ กองทัพ Ukraine กับกองทัพ Russia ผู้รุกรานและยึดครอง ซึ่งคาดว่า Russia คงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีชาว Ukraine ที่สนับสนุน Russia เป็นแกนนำรัฐบาล

กรณีนี้จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้อง มีทหาร มีกองทัพ มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนากองทัพและกำลังพล ความพร้อมของกองทัพทั้งกำลังพล และอาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อความพร้อมในการรับมือภัยจากการรุกรานของอริราชศัตรูที่ไม่อาจคาดเดาได้


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes