‘ทิพานัน’ เตือนอย่าแลกสิทธิคนละครึ่งเป็นเงินสด ชี้ ผิดกฎหมาย-ถูกตัดสิทธิเข้าร่วมโครงการอื่น
‘ทิพานัน’ เตือน ร้านค้า-ประชาชน อย่าแลกสิทธิคนละครึ่งเป็นเงินสด ชี้ ผิดกฎหมาย-ถูกตัดสิทธิเข้าร่วมโครงการอื่น
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ข้าวราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาล เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 โดยเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 30 เม.ย. นี้ จำนวน 1,200 บาทต่อคน ให้กับประชาชนที่รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ 29 ล้านคน คาดว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 7-8 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมการใช้จ่ายในวันแรกคึกคัก มีผู้กดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการ 16.93 ล้านคน ใช้สิทธิสแกนจ่าย 2.4 ล้านราย ยอดใช้จ่าย 253.43 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 247.81 ล้านบาท มียอดใช้จ่ายรวมในวันแรก 501.24 ล้านบาท
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า จากการมอนิเตอร์โซเชียลเน็ตเวิร์ก พบว่ามีบุคคลจำนวนมาก ประกาศรับแลกสิทธิโครงการคนละครึ่ง เช่น ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ทวีตข้อความว่า “รับแลกคนละครึ่งนะคะ สแกนเสร็จโอนทันที สนใจแอดไลน์ … ค่ะ เจ้าเก่าเจ้าเดิม…” เป็นต้น ข้อความดังกล่าวสะท้อนว่าทำมาหลายครั้ง และผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ การแลกวงเงินสิทธิเป็นเงินสด ถือว่ากระทำทุจริตผิดกฎหมายเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง มีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้ง ทำให้ได้ประโยชน์ทางทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกคือรัฐ มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 341
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ขอให้ร้านค้า-ประชาชน ปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการ เพราะหากพบว่าทุจริตจะถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญา ชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการ ถูกเพิกถอนสิทธิทั้งร้านค้า-ประชาชนออกจากโครงการ ส่วนร้านค้าจะถูกระงับใช้เครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือแอปพลิเคชันถุงเงินของร้านค้า และประชาชน-ร้านค้าจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐในอนาคตที่มีทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นบรรเทาความเดือดร้อน ดูแลลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน และกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ร้านค้า ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น จูงใจให้เพิ่มยอดขาย จากการขายสินค้า ดังนั้นประชาชนอย่าตกเป็นเครื่องมือของคนฉวยโอกาสทุจริตเงินภาษีของประชาชน ส่วนประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งเบาะแส โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน ถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 หรือส่งอีเมลที่ [email protected], กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1569, กระทรวงการคลัง โทร. 02-273-9020 ต่อ 3697, 3527, 3548, 3509 หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144 (24 ชั่วโมง)