30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 รำลึก ‘สุรินทร์ พิศสุวรรณ’ อดีตเลขาธิการอาเซียน ถึงแก่อนิจกรรม จากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เป็นคนบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในเรื่องการศึกษานั้น ดร.สุรินทร์ ศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเรียนปี 1-2 และได้รับทุน Frank Bell Appleby ไปศึกษาต่อ ปี 3-4 ด้านรัฐศาสตร์ที่ Claremont Men’s College, Claremont University และศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกที่ Harvard University ด้านรัฐศาสตร์ โดยได้รับทุนจาก Rockefeller

ซึ่งหลังจากจบการศึกษาปริญญาเอกจาก Harvard University ดร. สุรินทร์ ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามเงื่อนไขของทุนการศึกษาที่ได้รับไปศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก โดยเป็นอาจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2525 

ต่อมาใน พ.ศ. 2529 ชีวิตการเป็นนักการเมืองของ ดร. สุรินทร์จึงได้เริ่มต้นขึ้น จากการชักชวนของ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราชจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในตอนแรกนั้น ดร.สุรินทร์ ไม่ได้ตอบรับในทันที แต่ในเวลาต่อมาก็ตอบรับคำที่จะลงสมัครและก็ได้รับเลือกตั้งในที่สุด

เมื่อได้เป็น ส.ส. ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ชักชวนให้ ดร. สุรินทร์ มารับหน้าที่เป็นเลขานุการประธานสภาฯ หลังจากนั้นเมื่อมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2531 ดร. สุรินทร์ ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการให้กับ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

ด้วยเหตุที่ ดร. สุรินทร์ ศึกษามาทางด้านรัฐศาสตร์อยู่แล้ว ทางผู้ใหญ่ในพรรคจึงเห็นว่าน่าจะเหมาะสมที่จะไปช่วยงานในกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2535 เมื่อชวน หลีกภัยได้รับการเลือกตั้งจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดร. สุรินทร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 1 พ.ศ. 2535 - 2538) 

 

โดยในปี พ.ศ. 2540 เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ และในครั้งนี้ชวน หลีกภัยได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 คณะรัฐมนตรีชวน 2 ครั้งนี้ได้แต่งตั้งให้ ดร. สุรินทร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 2 พ.ศ. 2540 - 2544)

ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วงหลังวิกฤตเพื่อนำพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงมีการผลักดันบทบาทของอาเซียนในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างสมาชิกภายในอาเซียนอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้รับสิทธิในการเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ทำการสรรหาบุคคลที่ประเทศไทยจะส่งไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว และในที่สุด จึงได้เสนอชื่อ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 - 2555 

โดยในระหว่างการเป็นเลขาธิการอาเซียนนั้น ดร. สุรินทร์ ได้ดำเนินการเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนให้สามารถประกาศใช้ได้ และยังรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อประชาชนในประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียน หลังจากหมดวาระ ดร. สุรินทร์ ก็ยังทำงานในการเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนต่อไป ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบตำแหน่งธรรมศาสตราภิชาน ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. สุรินทร์


ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_749764


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32