กกร. แนะรัฐสร้างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-ยาว เสริมภาคธุรกิจฟื้นตัว ด้าน ปธ.หอการค้าฯ คาดหากรัฐ คุมการระบาดโควิด-19 ได้ เชื่อ ต.ค. เศรษฐกิจไทยเสียหายน้อยลง
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. ว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มากขึ้น โดยมาตรการระยะสั้นต้องการให้ส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง โดยเพิ่มวงเงินจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท รวมทั้งนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับคืนมา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และขอให้ไม่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เนื่องจากกระทบเศรษฐกิจอย่างมาก
ขณะที่มาตรการระยะยาว รัฐต้องเร่งเสริมสร้างฐานการผลิตรับมือสงครามการค้า และผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ ควรทำต่อเนื่องผ่านการลงทุนกับเอกชน และดึงดูดลงทุนต่างประเทศ และเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านการค้ำประกันสินเชื่อ
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า ที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% โดยจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก60% เป็น 70-80% สามารถกู้เงิน เพื่อให้มีเงินเข้าเพิ่มเติมเข้าอีก 7 แสนบาท-1.5 ล้านล้านบาท เน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีผลกับเศรษฐกิจสูง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องให้ความสำคัญจริงจังช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายภาคเอกชนที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เสนอไม่อยากให้มีการล็อกดาวน์อีก จะกระทบเศรษฐกิจมาก เพราะการล็อกดาวน์ จะต้องหยุด หมดไป และการเปิดประเทศจะทำได้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงช่วยเหลือมาตรการภาษี โดยพยายามประคองไม่ให้กระบวนการเศรษฐกิจประเทศหยุดชะงัก
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าวัคซีนเข้ามาตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ ในที่สุดน่าจะมีโอกาสเห็นการเปิดประเทศได้ ส่วนความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนส.ค.เสียหายต่อเดือนถึง 3 แสนล้านบาท และคาดว่าเดือน ก.ย. ความเสียหายจะลดลงเหลือ 2 แสนล้าน และเดือน ต.ค. ก็น่าจะดีขึ้นถ้าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยแต่ละบริษัทจะมีการสร้างกิจกรรม เช่น เทศกาลปีใหม่ทำให้คึกคัก จะนี้จะส่งดีต่อเศรษฐกิจช่วงปลายปี