บทเรียนจากกิ่งแก้ว ภาพจำจากอดีตสู่แนวทางของโรงงานอุตสาหกรรมในวันข้างหน้า
จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก “หมิงตี้” ซอยกิ่งแก้ว สมุทรปราการ เปลวไฟที่โหมกระหน่ำและควันสีดำที่พวยพุ่งสู่เบื้องสูงสร้างมลภาวะไปทั่วบริเวณเป็นรัศมีไกลหลายกิโลเมตร ความสูญเสียนอกจากทรัพย์สินของชาวบ้านนับหมื่นครัวเรือน ยังรวมไปถึงชีวิตของนักกู้ภัยที่หาญกล้าในการเข้าไปผจญเพลิงเพื่อจบการโหมของอัคคีภัยต้นเหตุ
หลายคนคาดการณ์ถึงสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ในครั้งนี้ไปอย่างหลากหลาย ทั้งส่วนที่เป็นการรั่วไหลของวาล์วถังเก็บวัตถุไวไฟ ทั้งส่วนของการเสื่อมซึ่งคุณภาพของท่อเชื้อเพลิง ทั้งส่วนการควบคุมในกระบวนการผลิต และอีกหลายเหตุผลอันนำไปสู่การประทุใหญ่ในครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุอะไร ทุกสิ่งที่สูญเสียย่อมต้องมีคำตอบในการเยียวยา
เบื้องต้น “โรงงานเม็ดพลาสติก” คงต้องมาออกโรงในการเป็นผู้เยียวยาหลัก เพราะเหตุนั้นเกิดขึ้นจากโรงงาน ส่วนอื่น ๆ ก็คงไม่พ้นตัวจังหวัดสมุทรปราการเองที่ต้องมาตอบคำถามในเรื่องของการจัดทำผังเมืองในอดีต ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต และแน่นอนย่อมไม่พ้นจังหวัดที่ต้องออกมายอมรับความจริงในการที่จะต้องเยียวยาผู้ประสบภัยในครั้งนี้อย่างชัดเจนหลังจากจัดพื้นที่พำนักของผู้ประสบภัยไปแล้วในเบื้องต้น
แม้จะเป็นเผือกร้อนในการตอบคำถามของบางบุคคลที่ว่าทำไมโรงงานถึงมาตั้งอยู่ตรงนั้น? แต่คำถามนี้ก็ย้อนแย้งกันว่าแล้วทำไมชุมชนถึงไปอยู่ตรงนั้น? ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ล่วงมาแล้ว 32 ปี ไม่เคยมีบ้านเรือนไปตั้งอยู่ตรงนั้น หากเรามองพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงโกดังเก็บสินค้ากระจายอยู่โดยทั่วไป หลายโรงงานเกิดขึ้นก่อนที่จะมีผังเมือง เมื่อมีผังเมืองบังคับใช้แล้วผู้ที่มีส่วนในการออกแบบผังเมืองจึงพยายามตีกรอบให้โรงงานที่มีอยู่แล้วเหล่านั้นเป็นเขตอุตสาหกรรม แบ่งเป็นสีต่าง ๆ ตามที่เห็นในผังเมืองของแต่ละจังหวัด และในหลายพื้นที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสีผังเมืองเช่นกัน รองรับการขยายตัวของเมืองในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะความเป็นชุมชนที่เข้ามารองรับกลุ่มพนักงานและผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนตัวโรงงานนั่นเอง ดังนั้น การหาคำตอบจากอดีตไม่น่าจะใช่เหตุที่เราพึงมาโยนบาปใส่กัน
เราจะไปต่ออย่างไรในเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรม? โดยเฉพาะโรงงานผลิตเม็ดโฟมซึ่งเป็นจำเลยในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าโรงงานผลิตเม็ดโฟมนั้นอาจจะไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักสำหรับการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมของประเทศ แต่เราก็ขาดเม็ดโฟมไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่เรายังต้องการวัสดุเพื่อทำแพ็คเกจจิ้ง เพื่อทำตู้เย็น เพื่อทำฉนวนกันความร้อน ฯลฯ เมื่อเราขาดไม่ได้โรงงานเหล่านี้ก็ยังคงต้องมีอยู่ บางแห่งก็ยังคงอยู่ในชุมชนที่ขยับขยายไปไหนไม่ได้ เนื่องจากการย้ายโรงงานคือเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้การย้ายโรงงานคือความเสี่ยงของการปิดตัว การปิดตัวคือความเสี่ยงของการตกงานของพนักงานจำนวนมาก การย้ายไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่ทางออก เพราะเอาเข้าจริงชุมชนก็เริ่มเข้าไปล้อมนิคมอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่ทางออกของเรื่องเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะไม่มี
ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการทางมาตรฐานต่าง ๆ ที่เข้มงวดกับโรงงานทั้งที่มีอยู่แล้ว และก่อตั้งขึ้นใหม่ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA การรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA รวมไปถึงการประเมินต่าง ๆ ในยุค 4.0 ที่เข้มงวดกว่าในอดีต “แล้วยังไงล่ะ? วัวหายก็ล้อมคอกทุกที !!!” ประโยคสะท้อนความตระหนักรู้บางอย่างที่ไม่มีอยู่ของผู้ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับโรงงานอุตสาหกรรม ต้องยอมรับว่าการยึดโยงของชุมชมกับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยวันนี้มันแยกกันไม่ได้และมันไม่ใช่วัวหายล้อมคอก เนื่องจากชุมชนเขาเอาวัวไว้ในคอกตั้งนานแล้ว เพราะโรงงานฯ คือแหล่งรายได้ที่ทำให้ชุมชนมีอยู่
ดังนั้น จิตสำนึกแห่งความปลอดภัยร่วมกันต่างหากที่วันนี้เราต้องสร้าง แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะควบคุมและดูแลโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งการผลักดันให้อุตสาหกรรมของประเทศก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างเข้มข้นแล้วก็ตาม แต่จำนวนโรงงานกว่า 60,000 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หลายพันแห่งที่ตั้งอยู่กลางชุมชน คงไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการสร้างชุมชนรอบโรงงานอุตสาหกรรมให้แข็งแรงและอยู่ด้วยกันอย่างปลอดภัย ซึ่งนั่นน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางของโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนในวันข้างหน้าที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9