ยโสธร – ผู้ว่าฯ ส่งทีมแพทย์ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ อิมแพคเมืองทองธานี มอบช่อดอกไม้ และกล่าวชื่นชมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีส่งทีมปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อิมแพคเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 11– 28 มิถุนายน 2564 นี้  โดยมี นายธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และสื่อมวลชน ร่วมในพิธีครั้งนี้ ณ บริเวณลานจอดรถสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร  

นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้มอบช่อดอกไม้ และกล่าวชื่นชมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ทั้ง 8 คน ในความเสียสละและความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถ  และชวนให้ชาวยโสธรร่วมเป็นกำลังใจในการไปปฏิบัติหน้าที่ของทีมครั้งนี้ และร่วมใจกันฝากส่งพลังกาย พลังใจให้ทีมไปดูแลรักษา และช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้หายเป็นปกติทุกคน สำหรับทีมปฏิบัติการทางการแพทย์จังหวัดยโสธร เป็นเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลยโสธรทั้งหมด ทั้ง 8 คน ประกอบด้วย 

1.แพทย์หญิงธันยนันท์ ศรีธัญรัตน์ นายแพทย์ชำนาญการ เป็นหัวหน้าทีม 

2.เภสัชกรหญิงภาวินี วารีขัน เภสัชกรปฏิบัติการ 

3.เภสัชกรหญิงณัฐธิดา ดีเพชร เภสัชกรปฏิบัติการ   

4.นางมะลิวรรณ แสนสุข พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ   

5.นางเนตรชนก สิทธิบุรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  

6.นางสาวณัฐพร ประสงค์ศิลป์ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ  

7.นางรัตติยา  ยั่งยืน  พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ   

8.นางสาวอารยา  เนติวัชรเวช พยาบาลวิชาชีพ 

โดยได้มีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่แก่ทีม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการดูแลป้องกันตนเองด้วย 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานีตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิตได้ และเป็นการช่วยให้โรงพยาบาลในเขต กทม. มีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มที่ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา เบื้องต้นรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,200 คน สามารถเพิ่มเตียงได้ 3,000 – 5,000 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลืองที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง ทั้งจากในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสายด่วนต่าง ๆ จากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจร ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต   โยจังหวัดยโสธรมีความภูมิใจ ที่เราได้มีส่วนร่วมไปปฏิบัติหน้าที่ในช่วง 11 – 28  มิถุนายน 2564  ถือเป็นความเสียสละที่ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์จะได้ทั้งกุศลบุญและประสบการณ์ที่ดีในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดยโสธร