วรรณวรี ตะล่อมสิน กล่าวอภิปรายร่าง 'พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019' หรือ 'พ.ร.ก. Soft loan' ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 3 บางคอเเหลม พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่าง 'พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019' หรือ 'พ.ร.ก. Soft loan' ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
วรรณวรี กล่าวว่า ตอนนี้ พวกเรากำลังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามแล้ว ซึ่งการระบาดรอบนี้ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ของประเทศเราอย่างมาก รัฐบาล โดยเฉพาะพลอ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จัดว่าล้มเหลวในการบริหารระบบสาธารณสุข การบริหารจัดการวัคซีน และการจัดการเศรษฐกิจของประเทศ
"ช่วงปีที่ผ่านมา มีธุรกิจ SMEs มากมายที่ไปไม่รอด ไม่สามารถฝ่าฟันช่วงโควิดในรอบ 1-2 ทำให้ต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก วันนี้เจ้าของกิจการหลายรายก็บอกว่า รอบแรกผ่านมาได้ รอบสองพอไหว รอบสามไม่ไหวจริง ๆ ถ้าแบงค์ไม่ช่วยเรื่องสภาพคล่อง จึงจำเป็นอย่างมากที่ท่านจะต้องช่วยพยุงพวกเค้าด้วย หากดูจากตัวเลขการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ปัจจุบันมีการจ้างงาน 6.9 ล้านคน"
วรรณวรี กล่าวต่อไปว่า ในปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยออก พรก.Soft loan 5 แสนล้านบาท แต่หลังจากดำเนินโครงการไป มีการอนุมัติสินเชื่อไปเพียง 138,200 แสนล้าน คิดเป็น 27.64% ของวงเงินสินเชื่อ ถือว่าล้มเหลวและพลาดเป้าไปมาก จน SMEs ที่เดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงวงเงินนี้ได้จริง
ส่วนพรก.ฟื้นฟูฉบับใหม่นี้ อาจจะทำให้สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงได้ยากขึ้นไปอีก เนื่องจากในประกาศของแบงค์ชาติที่กำหนดมาให้ธนาคารพาณิชย์ ระบุว่า ให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือกับ 'ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อช่วยประคับประคองฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการการต่อไปได้' ซึ่งแบงก์พาณิชย์จะนำในส่วนนี้ไปตีความเพื่อปล่อยกู้
"การประเมินว่า ธุรกิจใดมีศักยภาพ ในมุมมองของดิฉันคือ ธุรกิจที่ยังอยู่รอดจากโควิดทั้งสองครั้ง มาได้จนถึงวันนี้ อาจจะมีปัญหาหรือสะดุดบ้างในช่วงปีที่ผ่านมา และถ้าตั้งใจเดินเข้ามาขอกู้ เราก็ยินดีที่จะช่วยและควรจะช่วย แต่ธุรกิจที่มีศักยภาพในสายตาของแบงค์ คือ ธุรกิจที่มีรายได้เยอะ สม่ำเสมอ มีหนี้น้อย มีประวัติดี ไม่เคยผิดนัดชำระ และจะสามารถคืนเงินกู้ได้ทุกบาททุกสตางค์ โดยไม่พิจารณาเรื่องความเดือดร้อนของกิจการ"
วรรณวรี ยังกล่าวอีกว่า ที่พรก.ได้บอกว่า จะให้กับธุรกิจที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารด้วย ก็จะพบว่า ณ วันที่ 17 พ.ค. ธปท.ได้ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูไปให้ 5,465 บริษัท ในจำนวนนี้ มีเพียง 71 บริษัทที่ไม่เคยมีวงเงินกับธนาคาร คิดเป็น 1.3% เท่านั้น และในความเป็นจริง จาก SMEs ในประเทศไทย 3 ล้านราย มากกว่า 2.5 ล้านรายไม่มีวงเงินกู้กับธนาคาร
"เท่าที่ดิฉันทราบและพูดคุยกับผู้ประกอบการมา ได้ยินถึงขนาดว่า คนที่เดินเข้ามาหาแบงค์เพื่อขอกู้ ร้อยทั้งร้อย แทบไม่มีใครได้กู้ ดิฉันได้ยินแล้วพูดตรง ๆ ว่าฟังแล้วทั้งเจ็บ ทั้งจุก ครั้งแล้วครั้งแล้ว ที่ธุรกิจเล็ก ๆ ธุรกิจที่เดือดร้อน ไม่มีโอกาสได้เข้าถึงวงเงินเยียวยาจริง ๆ"
"รัฐบาลสู้อุตส่าห์เตรียมวงเงินสูงถึง 350,000 ล้านบาท เพื่อพยุงธุรกิจ เขียนพรก.อย่างสวยหรู อ่านแล้วดูดี มีความหวัง แต่มันไม่สำคัญ ในความเป็นจริง แบงค์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามได้อย่างที่เขียนดิฉันขอให้นิยาม Soft loan ฉบับใหม่นี้ว่า #ซอฟโลนทิพย์”
วรรณวรี เสนอว่ารัฐบาลควรตั้งวงเงินออกมา 5 หมื่นล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาทตาม พ.ร.ก. เพื่อช่วยพยุงธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด ระบุกลุ่มธุรกิจให้ชัด เช่น ร้านอาหาร โรงแรม บริการ ให้ทั้งที่มีวงเงินและไม่มีวงเงินกับธนาคาร โดยตั้งเป็นกองทุนพิเศษ ให้กู้ผ่านธนาคารรัฐ เช่น ธ.ออมสิน / SME bank และควรมีข้อยกเว้นในเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ที่ต้องยืดหยุ่น ซึ่งสามารถพิจราณาเป็นรายเคสได้
"ตั้งแต่วันแรกที่พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ท่านก็ทำให้ประชาชนก็เห็นมาตลอดว่า ท่านสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าสัวอย่างชัดเจน มาจนถึงวันนี้ 7 ปีผ่านไป วิกฤติโควิดเข้ามา ยิ่งตอกย้ำให้พวกเราเห็นว่า นอกจากสนับสนุนทุนใหญ่อย่างชัดเจนแล้ว ท่านยังไม่เคยเหลียวแลธุรกิจตัวเล็ก ๆ ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจหลังโควิด ที่จะตกต่ำไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี เราต้องการผู้นำที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจ และนำพาให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ ถ้าเรายังมีนายกและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดิฉันคิดว่า ประชาชนคนไทยคงจะตกงาน อดตาย หนี้ท่วมหัว ส่วนคนที่เลือกได้ก็คงจะย้ายประเทศหนีท่านกันหมด" วรรณวรีกล่าวทิ้งท้าย
แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32