ดรุณวรรณ รองโฆษก ปชป. เสนอ กทม. ใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มข้นในชุมชน วอนทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม พร้อมเชิญชวนคนกรุงเทพลงทะเบียนฉีดวัคซีนวันแรก
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าหลังจากที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัย และทีมงาน กทม. ของพรรค ได้มีการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาโดยตลอดตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย. 2564 และพรรคได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) เพื่อช่วยหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด ทำให้พบปัญหาและอุปสรรคที่อยากให้ได้รับการแก้ไข ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงมีจำนวนผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ในหลายเขต และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีคลัสเตอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความกังวลว่าตัวเลขของการระบาดจะยังคงสูงขึ้นอีก หากการแก้ปัญหายังไม่เป็นระบบ รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ยังไม่ดีพอ
ทั้งนี้จึงได้มีข้อเสนอแนะเพื่อส่งไปยังกรุงเทพมหานคร ดังต่อไปนี้
1.) มีการคัดกรองนำตัวผู้ติดเชื้อที่อาศัยในชุมชน เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลโดยเร็ว จากการลงพื้นที่พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ในชุมชนต่าง ๆ หลายแห่งเป็นชุมชนที่มีความแออัด และผู้ติดเชื้อบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ต้องใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว และอยู่ร่วมกับคนในชุมชน อาจส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อต่อไปยังคนในครอบครัวและบุคคลอื่นได้หากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ ทั้งนี้บางครอบครัวมีผู้ติดเชื้อเริ่มต้น 1 คน เมื่อไม่สามารถแยกตัวเองออกจากครอบครัวได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวติดเชื้อต่อไปอีกถึง 9 คน ดังนั้นหากไม่มีมาตรการนำผู้ป่วยออกจากที่พำนักอาศัยได้อย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้กลายเป็นจุดกระจายเชื้อต่อไป
2.) กำหนดสถานที่พักคอย สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่พำนักอาศัยในชุมชนแออัด
เมื่อมีผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อความเสี่ยงสูง จากการที่เป็นคนในครอบครัวผู้ติดเชื้อ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรการการควบคุมโรค แต่ก็ต้องประสบปัญหาในการกักตัว เพราะที่พักอาศัยมีความแออัด อยู่รวมกันกลุ่มใหญ่ในชุมชน ทำให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้นควรหามาตรการเพื่อกำหนดจุดที่เป็นสถานที่พักคอยให้กับผู้มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ในระหว่างกักตัว เมื่อพ้นระยะกักตัวแล้วและผลการตรวจเป็นลบ จึงค่อยกลับไปพำนักต่อที่บ้าน
3.) มีกลไกในการส่งอาหารช่วยเหลือผู้ที่กักตัวถึงในชุมชน ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำโครงการ “ข้าวกล่องเดลิเวอรี่ ส่งตรงถึงบ้าน” ช่วยผู้กักตัว เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีหลายครอบครัว มีหัวหน้าครอบครัวต้องถูกกักตัวทำให้ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพได้ และไม่สามารถออกมาหาอาหารรับประทานเองได้ในระหว่างกักตัว ดังนั้นกลไกในการส่งอาหารถึงบ้านจึงมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อ ขณะที่การดำเนินการของกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการให้บริการเฉพาะจุดไม่ครอบคลุม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหากลไกเพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งกรุงเทพมหานครเองมีข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อแต่ละเขต รวมไปถึงจำนวนผู้กักตัว ดังนั้นจึงควรนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์
นางดรุณวรรณ ยังกล่าวเสริมในตอนท้ายด้วยว่า การที่กรุงเทพมหานครจะเปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวัคซีนผ่านเวปไซต์ที่จะเริ่มต้นในวันนี้ว่าอยากเชิญชวนให้ทุกคนลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน ในขณะเดียวกันก็อยากให้ กทม. เตรียมความพร้อมเรื่องระบบการบริหารจัดการหลังบ้าน ความพร้อมของเทคโนโลยีเพราะอาจประสบปัญหาเรื่องความเสถียรของตัวระบบได้ หากมีผู้สนใจลงทะเบียนพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และตนยังมีข้อห่วงใยถึงการบริหารจัดการบางอย่างที่อาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมได้
“การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้มีการเลือกปฏิบัติ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม อยากให้ทุกคนทิ้งประโยชน์ส่วนตน และมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หันหาเข้าหากัน ไม่มีฝ่าย ไม่มีพรรคการเมือง มีแค่ทีมประเทศไทย ที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาของประเทศให้ผ่านพ้นไปได้โดยเร็วที่สุด” นางดรุณวรรณ กล่าว