‘อธิบดีกรมการแพทย์’ แจง สร้างเตียงไอซียู 7 วัน ไร้ปัญหา รับหาบุคลากรดูแลยากกว่า ชี้ หากติดวันละพันคน ต้องมี 33 เตียงรองรับ วอน ปชช. ป้องกัน ช่วยลดเคสป่วยหนัก

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังแถลงศบค. ถึงการสร้างห้องไอซียูโควิด ส่วนต่อขยายแบบเบ็ดเสร็จภายใน 7 วัน ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจกว่า 400 คน และช่วงนี้การรับจะตึงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่มีคลัสเตอร์ ไซต์ก่อสร้าง ชุมชนคลองเตย และติดเชื้อในเรือนจำ 

ดังนั้นอยากให้กระบวนการค้นหาเชิงรุก แยกกลุ่ม แยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนโดยเร็ว เพราะคนไข้ตกค้างในชุมชนบางครั้ง 3-4 วันกว่าจะเจอหมอ ทำให้ผู้ป่วยสีเขียวที่รอเวลา เป็นสีเหลือง และเวลานี้ผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในหนึ่งสัปดาห์

นพ.ธีรพล กล่าวว่า หากมีคนไข้วันละ 1,000 คน จะต้องใช้เตียงเพิ่มวันละ 33 เตียง หรือประมาณ 3% ซึ่งทางภาครัฐและเอกชน มีประมาณ 100 กว่าเตียง ถ้าไม่มีคนไข้ออกจะมีเตียงรองรับ 5 วันเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังมีขยับเข้าออก ถ้าคนไข้ใหม่ไม่เยอะจำนวนเตียง 33 เตียง ก็จะลดลงไปด้วย ยอมรับว่ากรมการแพทย์ไม่สบายใจ และเตรียมการขยายเตียงไอซียูโดยร่วมกับ SCG สร้างห้องไอซียูภายใน 7 วันจำนวน 10 เตียง เรื่องการสร้างเตียงไม่ยากแต่ที่ยากมีปัญหาคือการเตรียมคนมาดูแล ซึ้งจะหารือกับโรงเรียนแพทย์ที่จะหมุนเวียนบุคลากร และฝึกพยาบาลเข้ามาดูแล 

ทั้งนี้การเพิ่มเตียง ในรพ.ราชวิถีสร้างเพิ่ม 10 เตียง และตั้งเป้าไว้จะขยายได้ถึง 30 โดยดูตามสถานการณ์ และเตรียมไว้ที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ซึ่งใช้วอดเก่ามาดัดแปลงใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วย และจะนำพยาบาลมาเทรนสำหรับดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ แพทย์และพยาบาลยินดีทำงานเต็มที่ แต่ประชาชนก็ต้องช่วยกันป้องกัน เพราะถ้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือ 500 คนต่อวัน คนไข้อาการหนักจะลดลงไปได้และแพทย์ก็จะดูแลประชาชนได้เต็มที่