"บิ๊กป๊อก" สั่งการผู้ว่าฯ คุมเข้มโควิด เร่งกระจายฉีดวัคซีน ปชช.ให้ทั่วถึงหลังวัคซีนเข้าเพิ่มช่วง มิ.ย. สกัดต่างด้าวเข้าเมืองผิด กม.เด็ดขาด

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเพื่อป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และหารือข้อราชการอื่น ๆ โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี และนายทรงศักดิ์ ทองศรีรมช.มหาดไทย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ร่วมการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลไปยังผู้ว่าฯ ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางประจำภูมิภาค

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวมอบนโยบายในการป้องกัน ควบคุม และสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่

1.) การเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีนของจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยนายกฯ ได้กำหนดให้เรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย บริหารจัดการวางแผนการกระจายวัคซีน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยให้เร็วที่สุด โดยตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป จะมีวัคซีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ถ้าประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ก็จะทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาลง สิ่งที่ต้องเตรียมการ คือเมื่อวัคซีนเข้ามาในระยะต่อไปเป็นจำนวนมาก เราต้องกระจายและฉีดให้กับพี่น้องประชาชน ขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้เข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง พร้อมมอบหมายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชนในการกรอกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” เพื่อสามารถบริหารจัดการจำนวนวัคซีนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า

2.) มาตรการควบคุมการลักลอบเข้าประเทศ และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ขอให้ทุกพื้นที่ดำเนินการกักกันผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้อง ให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้น และสกัดกั้นควบคุมการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยบูรณาการและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่อย่างสูงสุด พร้อมสร้างการรับรู้ประชาชนช่วยสำรวจตรวจสอบบุคคลที่เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน มิให้มีการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางระบบการตรวจตราโรงงาน สถานประกอบการ หอพัก

3.) การป้องกันการรวมกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ขอให้รณรงค์ประชาชนและทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A ให้ชัดเจนและต่อเนื่อง

4.) ให้ทุกจังหวัดพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่ ระบบบริหารจัดการ ระบบการบูรณาการข้อมูลผู้ติดเชื้อและการส่งต่อ

5.) มาตรการช่วยเหลือประชาชน (มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า-น้ำประปา) ขอให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง