ปธ.ศาลฎีกา ยัน ศาลทำงานเชิงรุก ปรับวิธีคิด ทิ้งขนบเก่า เน้น ’ให้ศาลเป็นงานบริการ ไม่ใช้อำนาจ-เน้นกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฎิบัติ’
วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “การอํานวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” กล่าวว่า ในการพิจารณาคดีในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนในกระบวนการยุติธรรม พยายามร่วมมือทำงาน โดยไม่แบ่งส่วน แม้ความสำเร็จเป็นรูปธรรมยังไม่สมบูรณ์ตามเป้าหมายที่อยากเห็น แต่ในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นชัดขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณกระทรวงยุติธรรมที่เข้ามาทำงาน และทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่หยุด แต่งานของศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยุดได้ ที่ผ่านมาจะมองว่าศาลเป็นองค์การที่มีความอนุรักษ์นิยม มีพิธีรีตองหรือมีอะไรที่เป็นของตัวเองค่อนข้างมาก หรือเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสั่งอย่างเดียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้า ติดขนบธรรมเดิม ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ถ้าเข้ามาจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยการพิจารณาพิพากษาไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ แต่ได้ปรับกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิดให้เป็นการให้บริการ เพื่อให้คนที่เข้ามาติดต่อมีความสุขและได้รับความเป็นธรรม จะเห็นภาพว่าผู้พิพากษา ผู้บริหารศาล ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น ออกสืบพยานออนไลน์ ออกไปพบประชาชน ชี้แจงให้รู้สิทธิพื้นฐานของตนเอง โดยยึดนโยบาย 5 ด้าน ภายใต้หลักการ ‘บริสุทธิ์ ยุติธรรม’ ที่สำคัญกับประชาชน โดยเฉพาะกระจายความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเสมอภาคให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เลือกคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และกระจายไปกลุ่มคนในชนบทด้วย โดยมีการตั้งศาลแขวงและศาลจังหวัดเพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน เมื่อโควิด-19 ระบาด ลดขั้นตอนยุ่งยาก ต้องคำนึงความถูกต้อง เป็นธรรมคุ้มครองสิทธิ และต้องมีความสมดุลย์
นางเมทินี กล่าวว่า ส่วนเสียงวิจารณ์ว่าล่าช้า ชี้แจงว่าขณะนี้เราก้าวผ่านคำว่าพิจารณาคดีที่ล่าช้าไปแล้ว เห็นได้จากในศาลชั้นต้นมีคดีกว่าล้านคดี มีผู้พิพากษา 3 พันคน ซึ่งแต่ละคดีมีมาตรฐานระยะเวลากำหนดไว้ที่ต้องปฎิบัติ เพราะถือว่าความล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง รวมถึงการขอประกันในศาลชั้นต้นภายในหนึ่งชั่วโมงต้องได้รับคำสั่ง ขณะที่การปรับเปลี่ยนในศาลสูง จะนัดประชุมเพื่อหารือถึงการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เพื่อประกาศให้ประชาชนทราบ สามารถตรวจสอบว่าการทำงานจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ และจะมีการอ่านคำพิพากษาผ่านจอภาพไปยังเรือนจำ เพื่อให้จำเลยทราบสิทธิของตัวเองหลังมีคำตัดสินได้ทันที