ผศ.ดร.วรัชญ์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณี 'วราวิทย์ ฉิมมณี' ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้น้อมรับความผิดพลาดในการรายงานข่าวว่า...

ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณี 'วราวิทย์ ฉิมมณี' ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้น้อมรับความผิดพลาด รายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แจงแปลผิด 'การติดเชื้อแบบมีอาการ' กลายเป็น 'ป้องกันการป่วยหนัก' แถมยอมรับนำตัวเลขที่ใช้จริง กับตัวเลขอนุมานปนกันในตาราง ประกาศขอพักหน้าจอ 2 สัปดาห์ แสดงความรับผิดชอบว่า...

คุณวราวิทย์ออกมาขอโทษข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งรับผิดชอบตัวเองด้วยการพักงานหน้าจอ 14 วัน

ผมก็ขอชื่นชม ที่คุณวราวิทย์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการยอมขอโทษและยอมรับความผิด และผมขอรับคำขอโทษนั้น เพราะผมก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ที่ต้องออกมาแก้ไขข้อมูลเช่นกัน (ซึ่งก็ใช้เวลาค้นหาข้อเท็จจริงและเขียนอยู่หลายชั่วโมงเหมือนกัน) และขอให้กำลังใจคุณวราวิทย์ในการทำหน้าที่ต่อไปนะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมขอแสดงความคิดเห็น 2 ข้อดังนี้ครับ...

1.) คุณวราวิทย์ ชี้แจงแค่คำที่แปลผิด (จากป้องกันป่วยหนัก เป็น ป้องกันติดเชื้อมีอาการ) แต่ยังไม่ได้ชี้แจงข้อมูลที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ตัวเลขของการป้องกันการป่วยหนัก ซึ่งสำหรับแอสตราเซเนกา คือ 100% เพราะไม่มีผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หลังฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเลย ดังนั้นหากคุณวราวิทย์ มีเจตนาที่จะรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยเข้ารับการฉีดวัคซีนกันให้มากที่สุดจริง ก็ต้องพูดเรื่องนี้ และเน้นความสำคัญตรงนี้ด้วย

2.) การขออภัยครั้งนี้ ก็ยังเหมือนครั้งก่อน ๆ ก็คือไม่ได้บอกว่า แล้วต่อไปจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก ซึ่งก็คงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกจริง ๆ (เพราะไม่มีมาตรการ) ข่าวนี้คุณวราวิทย์หามาเอง รายงานเองใช่ไหม แล้วมีรีไรเตอร์ มีบก. หรือมีใครช่วยตรวจสอบ ทักท้วง ผ่านตาดูให้อีกรอบหรือหลายรอบไหม หรือว่าหามาแล้วก็ออกได้เลย

ระบบการทำข่าวของไทยพีบีเอสคืออะไร ครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุ หรือว่าจริง ๆ แล้วไม่มีใครกรองเนื้อหา ผู้ประกาศคนไหนเขียนอะไรได้ก็ออกเลย? แล้วแบบนี้ประชาชนจะมั่นใจกับคุณภาพของเนื้อหาได้อย่างไรว่าถูกต้อง? อันนี้ไม่ใช่แค่คุณวราวิทย์ที่จะต้องชี้แจง แต่หัวหน้าฝ่ายข่าว บรรณาธิการข่าว ควรจะต้องชี้แจงด้วย เพราะถึงแม้สกู๊ปนี้คุณวราวิทย์จะทำคนเดียว บรรณาธิการข่าว ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ว่าให้ทำคนเดียวได้อย่างไรโดยไม่มีการตรวจสอบ ไม่สามารถ "ลอยตัว" เหนือปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ได้

อันที่จริง คุณวราวิทย์ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติงานก็ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นมากกว่า คือผลจากเรื่องนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง "ระบบ" ในการทำข่าวของไทยพีบีเอสได้อย่างไรบ้างมากกว่า ซึ่งอย่างที่บอกว่า ถ้ามันไม่มีระบบที่ดีกว่านี้ ก็ stick to what you do best นั่นคือสารคดี และรายการเด็ก ดีกว่าครับ อาจจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะไทยพีบีเอส เป็นสมบัติของสาธารณะที่ประชาชนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับจากไทยพีบีเอส

ปล.ขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรของไทยพีบีเอส ที่ตั้งใจและทุ่มเททำงานอย่างดีนะครับ ผมไม่ได้เป็นปรปักษ์หรือจงใจจะจับผิดไทยพีบีเอส แต่ผมทำอย่างนี้กับทุก ๆ สื่อที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสม ในฐานะอาจารย์ด้านสื่อสาร บางคนอาจจะไม่พอใจผม ก็คงห้ามไม่ได้ แต่ยิ่งเป็นไทยพีบีเอสผมยิ่งต้องพูด เพราะไทยพีบีเอสยังมีคุณค่าและทำประโยชน์ได้อีกมาก แต่ยังทำไม่ได้เท่าที่มีศักยภาพ... ส่วนเพราะสาเหตุใด ผมว่าคนในองค์กรน่าจะรู้ดีที่สุดครับ

คลิปคุณวราวิทย์ชี้แจง

.

.


ที่มา:

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4571065682909035&id=100000169455098

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000044827