ศ.ดร.กนก ห่วง โควิด-19 ไม่จบ อาจเลื่อนเปิดเทอมอีก แนะ ศธ.วางนโยบายรับสถานการณ์วิกฤต ไม่ใช่บริหารแบบปกติ ตั้ง War Room ติดตามการจัดการเรียนการสอน เน้นปลอดภัยมีประสิทธิภาพ ชี้ ช้าหนึ่งวัน คือความเสียโอกาสของนักเรียน

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กระทรวงศึกษาธิการประกาศเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2564 แล้ว แต่คงไม่มีใครยืนยัน ได้ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นหลังวันที่ 1 มิถุนายน ถ้าเป็นเช่นนั้นแสดงว่ากระทรวงศึกษาธิการอาจจะต้องเลื่อนเปิดเทอมไปอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครตอบได้ ทั้งความผันผวนของสถานการณ์ และผลกระทบต่อการเรียนการสอน ประเด็นที่สำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการต้องตระหนักคือ กระทรวงต้องบริหารจัดการแบบวิกฤต (Crisis Management) ไม่ใช่บริหารราชการแบบปกติ การบริหารจัดการแบบวิกฤตต้องยึดหลักสำคัญ 3 ประการ คือ

1.) การจัดลำดับความสำคัญ (Priority) กระทรวงต้องแยกงานประจำที่ ต้องทำออกไป และคิดงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเรียนการสอน ที่นักเรียนไม่สามารถเข้าชั้นเรียนตามปกติได้ เช่น การเรียนออนไลน์ การเรียนผ่านโทรทัศน์ การเรียนที่บ้าน การให้ครูออกไปสอนนักเรียนในชุมชน เป็นต้น

2.) การโฟกัสในงาน (Focus) กระทรวงจะต้องทุ่มเททรัพยากร และบุคลากรที่มีไปยังโรงเรียน เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้ ข้าราชการในส่วนกลางต้องตั้งห้องปฏิบัติการ (War Room) เพื่อช่วยโรงเรียนและครูให้สามารถจัดการเรียน การสอนได้อย่างปลอดภัย และกำกับติดตามการปฏิบัติงานของครูทุกวัน

3.) ความเร็ว (Speed) กระทรวงจะต้องยกเว้นกฎระเบียบและงานประจำที่ทำให้ครูปฏิบัติงานไม่ได้ออกไปก่อน

“ความล่าช้า 1 วันของการแก้ปัญหาคือการเสียโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียนอีก 1 วัน ผมขอฝากความห่วงใยและความปรารถนาดีไปยังครูทุกคนที่กำลังทำหน้าที่การสอนเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนในยามวิกฤติเช่นนี้ ขอให้กำลังใจครูและฝากความหวังและอนาคตของนักเรียนไว้กับครู รวมทั้งขอให้ครูทุกคนปลอดภัย” ศ.ดร.กนก กล่าว