“เพื่อไทย” จี้ รัฐบาล ปรับแผนฉีดวัคซีน “โฆษกพรรค”เสนอ 4 ข้อเร่งฉีดวัคซีน ด้าน "วิชาญ" แนะควรให้อำนาจ ผอ.เขต บริหารจัดการทั้งฉีดวัคซีน-ล็อกดาวน์แต่ละเขต
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่พรรคเพื่อไทย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาคกทม. น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค พร้อมผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าว โดยน.ส.อรุณี กล่าวว่า หลังรัฐบาลเปิดให้ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 7 โรคลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ลงทะเบียน เพียง 1.55 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมากจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 16 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสอบตกในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน บกพร่องต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงที่แท้จริงให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ควรเร่งดำเนินการดังนี้ 1.ปรับเปลี่ยนแผนการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ให้บุคคลทั่วไปที่สมัครใจและมีความพร้อม 2.ปรับให้กลุ่มอาชีพบริการซึ่งต้องสัมพันธ์กับการพบปะผู้คนในเมืองได้ฉีดวัคซีนก่อน เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง, คนขับรถตู้, ตุ๊กตุ๊ก , พนักงานส่งพัสดุอหรือส่งอาหารเดลิเวอรี่ ฯลฯ 3.เร่งสืบสวนหาสาเหตุอาการข้างเคียงของวัคซีน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างชัดเจน และ 4.สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลควรจ่ายเงินชดเชยที่สูง โดยนำกรณีของต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในมาเลเซีย หากเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน รัฐบาลจ่ายชดเชย 3.7 ล้านบาท, สิงคโปร์จ่าย 5.25 ล้านบาท แต่ไทยจ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท
“ 1 ปีที่ผ่านมาของการระบาด รัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนประเทศได้ในทุกด้าน ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหา การรับมือ หรือการป้องกันการระบาด จึงไม่แปลกใจหากจะมีประชาชนทยอยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อฉีดวัคซีน เพราะต้องการเลือกยี่ห้อวัคซีนเอง แต่ประชาชนคนทั่วไปไม่ได้มีโอกาสเลือกแบบนั้นทุกคน จึงอยากให้รัฐบาลเร่งสร้าง ภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ก่อนที่ไทยจะเป็นประเทศเดียวที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่หลายประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” น.ส.อรุณี กล่าว
ด้านนายวิชาญ กล่าวว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยลงพื้นที่พบชาวบ้านโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. เห็นปัญหาต่างๆ เราได้แจกทั้งแมส และแอลกอฮอล์อย่างกว้างขวาง พร้อมประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยกว่า 76 ครั้ง ซึ่งสถิติที่ได้มาถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูง ทางพรรคจึงขอเสนอแนะให้รัฐบาล โดยเฉพาะกทม. ดำเนินการตามนี้ 1.รัฐควรนำผู้ป่วยออกไปอยู่ที่โรงพยาบาล หรือสถานที่รักษา ขณะที่กลุ่มเสี่ยงก็ควรคัดออกจากชุมชนไปเลย ให้ไปอยูในสถานที่ที่จัดให้ 14 วัน เพราะไม่เช่นนั้น เขาก็ยังต้องดำเนินชีวิต ออกไปทำงาน ฯลฯ 2.กทม. ควรให้อำนาจกับผู้อำนวยการเขตในการบูรณาการในแต่ละเขต แล้วประสานงานกับส่วนราชการต่างๆโดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจะล็อกดาวน์ในเขตต่างๆ รวมถึงดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น อำนาจในการฉีดวัคซีน ฯลฯ ให้อำนาจเขาจัดการเลยโดยไม่ต้องรวมศูนย์อยู่ที่ กทม. เท่านั้น 3.รัฐ โดย กทม. ควรกำหนดการฉีดวัคซีน โดยแผนการดำเนินการต้องชัดเจน และ4.ถ้าพบเจอผู้ติดเชื้อในชุมชนใดควรปิดกั้นชุมชนไปเลย เช่น คลองเตย เมื่อเจอแล้วก็ห้ามบุคคลเดินทางเข้าออก แล้วคัดแยกผู้ป่วยให้รวดเร็ว และตอนนี้เขตราชเทวี ห้วยขวาง และวังทองหลาง มีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่าต้องการปิดชุมชน
นายวิชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับการติดตามการดำเนินการของภาครัฐ และกทม.ที่ทีม กทม. เราทำ เห็นว่า กทม.ยังดำเนินการน้อยมาก โดยวัดที่ทำการฌาปนกิจผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิดสะท้อนมาว่า ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันใดๆ กลุ่มจิตอาสา อสส. และมูลนิธิก็เช่นกัน ตนจอแนะให้นำเงินกองทุน 500 ล้านบาทของสปสช.ที่อุดหนุน กทม. มาใช้ นอกจากนี้ ควรเร่งเข้าไปดูแลผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงตามบ้านอย่างเร่งด่วน