‘มหากาพย์การอดอาหาร’ สู้เพื่อความยุติธรรม หรือเพื่อเจตนาอันใด?

เลขที่ออก 94...

ขึ้นต้นมาด้วยตัวเลข ไม่ได้ใบ้หวยแต่อย่างใด แค่หยิบยกเอาตัวเลขจากข่าวที่หลายคนติดตามกันมานานพอสมควร นั่นคือ การอดอาหารประท้วง ของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ที่เมื่อสัปดาห์ก่อน มีรายงานออกมาว่า เพนกวินมีน้ำหนักลดฮวบลง ตัวเลขอยู่ที่ราว ๆ 94 กิโลกรัม จากน้ำหนัก 110 กิโลกรัม สาเหตุก็มาจากการประท้วงอดอาหาร หลังจากไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลเสียที

80 กว่าวันกับการอยู่ในเรือนจำ และ 40 กว่าวันกับการอดอาหาร รวมกับอีก 9 ครั้งในการยื่นขอประกันตัว และหากนับถึงเวลาที่บทความนี้ออกสู่สายตาคุณ น่าจะทราบผลแล้วว่า การยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 10 ของเพนกวิน (ในวันที่ 6 พ.ค.) ผลจะออกมาเป็นเช่นไร

กลับมาที่กิจกรรม ‘การอดอาหารประท้วง’ กันอีกที หลายคนอาจพอทราบกันมาบ้าง ว่าเป็น ‘กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์’

สืบย้อนกลับไป การอดอาหารประท้วงมีมานานตั้งแต่ยุคโรมัน เคยมีการอดอาหารประท้วงจักรพรรดิโรมัน เพื่อขออนุมัติการเดินทางจากเหล่าขุนนาง หรือแม้แต่ที่อินเดีย ก็เคยมีการอดอาหารที่หน้าบ้านพวกเศรษฐี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ถูกข่มเหงรังแก รวมถึงการอดอาหารอยู่หน้าบ้านคู่กรณี เพื่อประท้วงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในบันทึกของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เรื่องราวการอดอาหารที่ผู้คนคุ้นเคย คงหนีไม่พ้น การอดอาหารในตำนานของ ‘มหาตมะ คานธี’ ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ ช่วงปี ค.ศ. 1919 – 1947

หรืออีกเหตุการณ์สำคัญในช่วงปี ค.ศ. 1981 นักโทษกองกำลังกู้ชาติของไอร์แลนด์เหนือ ที่ถูกจับกุมในข้อหาก่อความไม่สงบ จากสาเหตุการประท้วงให้มีการแบ่งแยกดินแดนจากอังกฤษ ต่อมานักโทษเหล่านี้ได้ทำการประท้วงด้วยการอดอาหาร จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 10 ราย จนเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำเอารัฐบาลอังกฤษ ภายใต้การนำของนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าใจร้ายใจดำ เนื่องจากปล่อยให้มีเหตุการณ์ยืดเยื้อจนมีคนตายในที่สุด

มาที่เมืองไทยของเรา หลายคนยังจำกันได้ ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์อดอาหารประท้วงของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ในการขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ. 2535

และล่าสุด เหตุการณ์การอดอาหารของเพนกวิน-พริษฐ์ (รวมไปถึง รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) หลังจากที่ทั้งสองคนทำการยื่นขอประกันตัวต่อศาล เรียกว่ายื่นแล้วยื่นอีก แต่ยื่นยังไงก็ไม่ผ่าน จนต้องออกมาอดอาหารประท้วงกันอย่างที่เห็น

หยิบยกเหตุการณ์จากอดีตสู่ปัจจุบันมาเล่าถึง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมการอดอาหาร ถูกนำมาใช้ ‘ข้อเรียกร้อง’ ต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง กันมานักต่อนัก

แต่เรื่องที่ควรรู้อย่างหนึ่งของการอดอาหารประท้วง คือ หลักการสำคัญนี้... “เป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาฆ่าตัวตาย หรือไม่ได้เป็นการประกาศฆ่าตัวตาย แต่เป็นการทรมานร่างกายของผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้องคู่กรณีให้หันมาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น จากการกระทำอันอยุติธรรมของคู่กรณีต่อผู้ประท้วง”

ขอขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ตรงประโยค >> ‘จากการะทำอัน อยุติธรรม ของคู่กรณีต่อผู้ประท้วง’ ไว้สักนิด แล้วตัดภาพกลับมาคิดต่อกับเรื่องราว ‘การอดอาหารของเพนกวินและรุ้ง’ เพราะอย่างที่เล่าไปว่า พวกเขาได้ทำการขอยื่นประกันตัวต่อศาลมาหลายครั้ง จนภาพที่ออกมา ดูเหมือนว่า กระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ ‘ไม่ค่อยจะยุติธรรม’ สักเท่าไร

พูดง่ายๆ คือ ถ้าจะหยิบประโยคที่ขีดเส้นใต้ข้างต้นมาเรียบเรียงเหตุการณ์นี้ใหม่ จะตีความได้ว่า ‘เพนกวิน-รุ้ง อดอาหารประท้วง จากการกระทำอันอยุติธรรมของศาล’ ขยายความเพิ่มอีกนิด เพนกวิน-รุ้ง อดอาหารจากการที่ศาลไม่ยอมให้ประกันตัว เพราะศาลทำหน้าที่อย่างไม่ยุติธรรม

ใช่หรือไม่?

มาดูข้อเท็จจริงทางด้านศาลกันบ้าง เล่าโดยย่อในประเด็นที่ว่า การพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวจากกรณีนี้ ศาลต้องใช้หลักกฎหมายตามมาตรา 108/1 ซึ่งหัวใจสำคัญมีอยู่ว่า หากให้ประกันแล้ว จะไม่ไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือพูดง่ายๆ ว่า เรื่องที่เคยกระทำมาแล้ว ห้ามไม่ให้กลับไปทำอีก

แต่จากข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน ที่ผ่านมา ทั้งเพนกวินและรุ้ง ไม่เคยมีการยื่นคำร้องใน ‘เงื่อนไขนี้’ ไปที่ศาลเลย มากไปกว่านั้น ในการขึ้นไต่สวนหลายครั้งที่ผ่านมา ยังมีพฤติกรรมขอถอนกระบวนการพิจารณา ถอนทนาย พร้อมทั้งไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา รวมถึงนำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเอง ภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้ขาดความน่าเชื่อถือ และทำให้ศาล ไม่เชื่อว่า จำเลยจะกระทำตามเงื่อนไขได้

กรณีกลับกัน ในรายของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) เเละนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) เหล่าผู้ต้องหาที่อยู่ในกรณีเดียวกัน แต่ทั้ง 3 คน ได้มีการลงชื่อในคำร้อง และยืนยันต่อศาล ขอให้ศาลทำการไต่สวน และทำการแถลงต่อศาลด้วยตนเองว่า จะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้อง และจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น เมื่อศาลรับเงื่อนไข จึงนำมาสู่การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างที่ปรากฎ

เรื่องเดียวกัน แต่ผลออกมาต่างกัน!!

สาเหตุง่ายๆ ไม่ซับซ้อน!! ก็เพราะการกระทำที่ไม่เหมือนกันไง!!

เรื่องราวเหล่านี้ ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ ‘ความยุติธรรมหรืออยุติธรรม’ หากแต่อยู่ที่การปฏิบัติตาม ‘หลักการ’ หรือไม่? ซึ่งสุดท้าย ก็ต้องย้อนกลับไปถามถึง ‘เจตนา’ ของผู้อดอาหารประท้วงแล้วล่ะว่า ทำไมถึงไม่ยอมรับหลักการนั้น?

อย่างที่บอกไปว่า ก่อนบทความนี้จะออกสู่สายตาคุณ ข่าวการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 10 ของเพนกวิน น่าจะทราบผลกันแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าใจถึงหลักการ รู้ถึงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิด น่าจะเป็น ‘สาระสำคัญ’ มากกว่าความขุ่นข้องหมองใจ ต่อเรื่องราวการประท้วงที่ไม่เป็นผล หรือแม้แต่การพากันทุกข์ใจต่อร่างกายที่ทรุดหนักของเพนกวิน หรือรุ้งเองก็ตาม

ถึงตรงนี้ หน้าประวัติศาสตร์ของ ‘การอดอาหาร’ อาจไม่มีความหมายใดๆ เลย ถ้าเราไม่พยายามเข้าใจถึง ‘บริบท’ ที่เกิดขึ้นรอบข้าง

อดอาหารน่ะ ‘อดได้’ แต่ถ้าขาดความรู้และปัญญา ปัญหามันก็ไม่มีทางหมดไปได้ร้อก!!


ข้อมูลอ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Hunger_strike,

https://www.matichon.co.th/columnists/news_253996,

https://www.naewna.com/local/569779,

https://www.facebook.com/800980833325664/posts/871902402900173/,

https://prachatai.com/journal/2006/03/7610