‘ดร.ปิติ ศรีแสงนาม’ วอนหยุดแพร่ข่าวเท็จ ไทยเข้าร่วม ‘CPTPP’ หวังหลอกลวงสร้างกระแสต่อต้านจากมวล ขณะที่ รัฐบาลยัน ครม. ไม่ได้ลักไก่ไฟเขียวให้เจรจาเข้าร่วม CPTPP เพียงแค่อนุมัติศึกษาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เท่านั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์อาเซียนศึกษา และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Piti Srisangnam’ เกี่ยวกับกระแสข่าวรัฐบาลแอบลักไก่อนุมัติเข้าร่วม หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP โดยระบุว่า

สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่การเจรจาการค้า หรือผลกระทบจากการเข้าเป็นภาคี

หากแต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ การมโนไปเอง การสร้าง fake news การหลอกลวงเพื่อสร้างมวลชน

วันนี้ไม่มีประชุมลับ ไม่มีลงมติลับ

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP แต่อย่างใด มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ กนศ. จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง CPTPP

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบข้อสังเกตของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) โดย ครม. ได้มอบหมายให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศ รับข้อสังเกต ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะ 3 ประเด็นหลัก คือ ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ให้มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยา ที่มีส่วนประกอบของจุลชีพหรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับจุลชีพ ต้องสำแดงแหล่งที่มาร่วมด้วยให้เร็วที่สุด และด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เช่น เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า