'ก้าวไกล' รับผิดหวังคำวินิจฉัยศาลรธน. "ธรรมนัส" ไม่พ้นเก้าอี้ ส.ส.-รมต. จ่อ เข้าชื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป ชี้ หมดเวลารบ.ประยุทธ์แล้ว ต้องมีรบ.ชุดใหม่ คืนระบบกม.ที่เป็นปกติให้กับสังคมไทย

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามกรทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า เราผิดหวังกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดกับแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยเคยทำหนังสือขอความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ในกรณีที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เคยกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เรื่องหนึ่งว่า บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ซึ่งในครั้งนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกนั้นเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำคุกของศาลในประเทศใด และบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรมและขัดกับเหตุผล ในกรณี เช่น ความผิดอย่างเดียวกัน มีโทษอย่างเดียวกัน ถ้าทำผิดในประเทศต้องห้าม แต่ถ้าทำผิดในต่างประเทศไม่ต้องห้าม 

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ฉะนั้น บุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการถูกจำคุกในประเทศไทยหรือในต่างประเทศก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ นี่คือแนวทางปฏิบัติที่ตีความมาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาจนกระทั่งถูกล้มโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ประชาชนตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นกับองค์กรอิสระในปัจจุบันว่ายังทำหน้าที่เป็นกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจบางกลุ่มแล้วโดยสมบูรณ์

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าตรวจสอบในกรณีนี้ต่อไป โดยยังสามาถเข้าชื่อส่งไปยัง ป.ป.ช. ต่อไปยังศาลฎีกาได้ โดยถือว่าเป็นเรื่องผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งในการไต่สวนคดีนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้ยอมรับกับศาลอย่างชัดเจนว่าเคยต้องคำพิพากษาและจำคุกตามที่พรรคก้าวไกลเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ร.อ.ธรรมนัส ได้โกหกคำโตไว้ในสภาตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนหน้านี้ ดังนั้น แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะรอดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องพิจารณาว่าเรามีรัฐมนตรีที่เคยมีประวัติต้องคำพิพากษาว่าทำความผิดและเคยถูกจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดร้ายแรง คือ การค้าเฮโรอีน ในต่างประเทศได้อย่างไร 

"วันนี้ ร.อ.ธรรมนัสไม่เพียงแต่ไม่ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ยังเติบโตในหน้าที่การงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล แสดงให้เห็นรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลโจรอุ้มโจร และยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าหมดเวลาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว จำเป็นต้องมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อคืนความยุติธรรม คืนระบบกฎหมายที่เป็นปกติให้กับสังคมไทยและเข้ามาแก้ไขปัญหา วิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาลปัจจุบันไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ" นายชัยธวัช กล่าว

ด้านนายธีรัจชัย กล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแตกต่างจากสิ่งที่ตนเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้สรุปผลว่า ร.อ.ธรรมนัสขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี  เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันก็จะขอให้สภาผู้แทนราษฎร เปิดผลรายงาน กมธ.ป.ป.ช. เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง แม้จะไม่สามารถลบล้างอะไรได้ แต่จะเป็นเหตุผลด้านกฎหมาย และวิชาการเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ทั้งนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (10) ต้องการมุ่งตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. และรัฐมนตรี ส่วนคำพิพากษาเป็นเพียงตราประทับรับรองว่า บุคคลผู้นั้น มีคุณสมบัติเหมาะสมจริงหรือไม่จริง แต่ไม่ใช่สาระสำคัญของการใช้อำนาจตุลาการแต่ละประเทศ มาข่มอีกประเทศ ซึ่งคนที่ทำผิดมีคดีความในต่างประเทศ น่าจะเป็นคนมีคุณสมบัติมัวหมอง เป็นปฏิปักษ์ต่อการเข้ามาดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารใช้อำนาจประเทศ 

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า กรณีความผิดคดียาเสพติดนั้น ประเทศไทยได้ร่วมลงนามอนุสัญญาเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ.1971 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ.1988 อีกทั้งยังมีกฎหมายไทยคือ พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 5 ระบุ ผู้ใดกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่าผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เป็นการระบุชัดเจนว่า ไม่ว่าจะกระทำผิดประเทศไทย ถ้ามีคนไทยเป็นผู้ร่วมทำผิด สามารถนำมาลงโทษในประเทศไทยได้ เรื่องการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) ที่ระบุถึงลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีและส.ส. นั้น ต้องตีความเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกัน ไม่ให้คนมีคุณสมบัติน่ารังเกียจ ข้อสงสัยเข้ามาดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ตีความในเชิงปล่อยให้เข้ามาได้ หากบรรทัดฐานศาลเป็นเช่นนี้  แนวโน้มก็อาจจะตีความได้เช่นนี้ตลอดไปเพราะคำพิพากษาต่างประเทศไม่สามารถใช้ได้กับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) ขอให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีการหาทางออกได้อย่างไร เพื่อให้มีระบบกฎหมายที่ยึดโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้ 

เมื่อถามว่าการที่พรรคก้าวไกลหรือพรรคอื่นออกมาแสดงความคิดเห็นภายหลังศาลตัดสิน บางคนอาจมีคนมองว่าไม่เคารพศาล ถือว่าละเมิดศาลหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ในระบบประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนเรื่องความเคารพหรือความเลื่อมใสต่อกระบวนการยุติธรรมหรือศาลเป็นเรื่องที่เป็นผลมาจากพฤติกรรมของสถาบันหรือองค์กรนั้น ๆ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน โดยสรุปคือการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติและสามารถกระทำได้ 

ด้านนายธีรัจชัย กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูดเมื่อก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ตนแสดงความเห็นก่อนที่ศาลจะตัดสินและตนอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งคณะกรรมาธิการป.ป.ช.ก็มีความเห็นเช่นนั้น ไม่เกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลแต่เป็นการโต้แย้งตามหลักการที่เห็นแตกต่างกัน และยืนยันว่ากติการของกฎหมายกำหนดว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่นี่เป็นความเห็นที่เราเห็นมาก่อนและมาอธิบายให้ฟังว่าแตกต่างกันอย่างไร

เมื่อถามว่ากระบวนการต่อจากนี้ในการเข้าชื่อส่งป.ป.ช. พรรคก้าวไกลจะดำเนินการเลยหรือไม่หรือจะใช้เวลานานเท่าไหร่ นายชัยธวัช กล่าวว่า คงไม่นานเท่าไหร่ วันนี้หลังจากทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาแล้วว่าในกลไกตามกฎหมายที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน คือช่องทางการยื่นต่อป.ป.ช. เราก็จะเร่งคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคและคงจะมีการดำเนินการต่อจากนี้ไม่นาน

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะนี้ ในอนาคตจะสุ่มเสี่ยงในการวินิจฉัยครั้งต่อไปหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่างที่เรียนไปตอนต้นว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ยิ่งทำให้สังคมและประชาชนตั้งคำถามกับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่น ๆ  มากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ซึ่งต้องบอกว่าในปัจจุบันมีหลายกรณีแล้วที่ทำให้ระบบยุติธรรม ระบบกฎหมาย กลไกการตรวจสอบรวมถึงศาลยุติธรรมเกิดวิกฤตศรัทธา ในส่วนนี้เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่อยากให้เห็น