ครม.เคาะมาตรการเยียวยา-แจกเงินโควิด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แยกเป็น มาตรการที่ทำได้ทันที คือ
1.) การปล่อยสินเชื่อฉุกเฉิน ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี สิ้นสุด 31 ธ.ค. 64 รวมทั้งการพักชำระหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ไปจนถึง 31 ธ.ค. 64 ตามความสมัครใจ
2.) มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปา โดยในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น จะช่วยสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก เป็นเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพ.ค.-มิ.ย. 64 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลด และผู้ใช้ไฟที่เป็นกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก ด้านค่าน้ำประปา จะลดราคาลง 10% เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก 2 เดือน คือ พ.ค.-มิ.ย. 64
นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน มี 2 โครงการ คือ โครงการเราชนะ เป้าหมาย 32.9 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุด 30 มิ.ย. 64 กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท และ โครงการม.33เรารักกัน เป้าหมาย 9.27 ล้านคน โดยขยายเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็น ระยะเวลา 2 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 64 กรอบวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มทำเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิดระลอกเดือนเม.ย. คลี่คลายลง มี 4 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท คือ
1.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ค.-ธ.ค. 64
2.) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ 2.5 ล้านคน โดยให้เงินเพิ่มเติม เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือนเช่นกัน
3.) โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 อีกไม่เกินคนละ 3,000 บาท และ
4.) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยรัฐสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ให้กับ ประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร และเครื่องดื่มและค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน โดยรัฐจะสนับสนุน อี-เวาท์เชอร์ ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ และ สามารถนํา อี-เวาท์เชอร์ ไปใช้จ่ายได้ในเดือนส.ค.-ธ.ค.64 โดยมาตรการระยะ 2 นี้ ประเมินว่า จะครอบคลุมเป้าหมายประชาชน 51 ล้านคน และมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.73 แสนล้านบาท