กสม.แถลงผลการดำเนินการรอบปี 63 เผยมี 465 เรื่องร้องเรียน เฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรมนำโด่ง 170 เรื่อง ยันห่วงใยการชุมนุมทางการเมือง ตั้งคณะทำงานติดตาม พร้อมลงพื้นที่ ทั้งเตรียมลงพื้นที่ชายแดนช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนกับชาวเมียนมา

ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) พร้อมกสม.ร่วมกันแถลง ผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2563 โดยกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 465 เรื่องเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม 170 เรื่อง สิทธิพลเมือง 74 เรื่องสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน 53 เรื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีการร้องเรียนแสนสูงสุดคือตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน 90 เรื่อง ซึ่งกสม.ได้ตรวจสอบคำร้องและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวน 387 เรื่อง เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีชีวิตของนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร จ.นครนายก  สิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวและตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

ส่วนการติดตาม ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม. 131 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนกรณีการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ  อาทิ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ  กรณีศึกษาผลกระทบด้านการจราจรของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี การยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และมีการประเมินสถานการณ์เฉพาะอีก 2 เรื่อง คือการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งได้มีการเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและครม.แล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ร่วมมือและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จัดตั้งสำนักงานกสม.ในต่างจังหวัด นำร่องในพื้นที่ภาคใต้ที่จ.สงขลา และจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอีก 6 แห่ง รวมเป็น 12 แห่งทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกลไกการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  

อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่ายังมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของกสม.และควรมีการแก้ไข คือกรณีที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยกสม.กำหนดให้กสม.ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้ากรณีมีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไม่ถูกต้องเป็นธรรม  และข้อจำกัดด้านกฎหมายกรณีพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ60 ไม่ได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่เดิมที่ กสม.เคยมี ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและหลักการสากล รวมทั้งเมื่อมีการจัดทำรายงานหรือข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆไปยังครม.รัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วส่วนใหญ่ ไม่มีการแจ้งเหตุผลที่หน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่กสม.ได้ 

เมื่อถามถึงการจับกุมผู้ชุมนุมทางการเมือง กรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร อ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ทางกสม.จะมีการดำเนินการอย่างไร  นายสุวัฒน์ กล่าวว่า กรณีการชุมนุมทางการเมืองทางกสม.มีข้อห่วงใยและติดตามข้อมูล ข่าวสารมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นมีการชุมนุม เราได้ตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังเพื่อติดตามข้อมูลทุกวันที่มีการชุมนุม และส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่สำคัญทุกครั้งและมีการสรุปรายงานให้ทราบทุกสัปดาห์ ส่วนที่มีประชาชนยื่นร้องเรียนเข้ามาประมาณ 10 เรื่อง เราก็ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบโดยเฉพาะและเร่งดำเนินการนำข้อมูล เหตุการณ์ ข้อร้องเรียนต่างๆมาประมวลเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมให้ข้อมูล อาทิ ผู้ชุมนุม นักวิชาการ สื่อมวลชน เป็นต้น 

ขณะเดียวกันในเรื่องของผู้ถูกกุมขัง ทางกสม.มีความเป็นห่วงและได้ติดตามโดยให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจเยี่ยม ซึ่งตนก็มีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ถูกกุมขังเช่นกันเพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ประเด็นการจับกุมเราได้พยายามศึกษาว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในเรื่องของการประกันตัวนั้น ทุกคนทราบดีว่าเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อเป็นดุลพินิจของศาล ในระเบียบของกสม.ไม่ได้ให้อำนาจกสม.ดำเนินการพิจารณาได้ เราจึงได้ให้คณะทำงานเฝ้าระวังซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษากฎหมายพิจารณาศึกษาว่าเราจะมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง ยืนยันว่าเราพยายามติดตามและให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้อยู่  

เมื่อถามว่า เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในเมียนมาทำให้มีคนลี้ภัยมาตามแนวชายแดน ทางกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือดำเนินการอย่างไรหรือไม่ นายสุวัฒน์  กล่าวว่า ตนได้รับการประสานว่าวันที่ 21 เม.ย.ทางประธานกสม.ระดับต่างประเทศจะหารือกันและเชิญประธานกสม.เมียนมาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเราก็จะดูในภาพรวม ซึ่งประเด็นนี้เรามีความห่วงใยและเตรียมการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ชายแดนเพื่อดูว่ากรณีถ้ามีราษฎรจากเมียนมาเข้ามา เราจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ  

ด้านนายบุญเกื้อ สมนึก เลขาธิการกสม. กล่าวว่า กรณีผู้ข้ามแดนลี้ภัยนั้น ทางกสม.มีมติมอบหมายให้สำนักงานฯลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ ซึ่งทางสำนักงานฯก๋ได้รับการตอบรับจากหน่วยความมั่นคงในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ขณะเดียวกันทางสำนักงานฯก็ได้ประสานงานกับทางกระทรวงการต่างประเทศไว้แล้วว่าเรื่องนี้จะมีมาตรการอย่างไร โดยกสม.จะดูในมิติของสิทธิมนุษยชน