DSI ลงพื้นที่บุกอายัดที่ดิน เครือข่ายอดีตผู้บริหารสหกรณ์สโมสรรถไฟ กับพวก ในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี อำเภอเมืองเพชรบุรี และ อำเภอแก่นกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ได้สอบสวนขยายผลบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการพิสูจน์การได้มาของทรัพย์สิน (ที่ดิน) โดยการเชื่อมโยงเส้นทางทางการเงินกับทรัพย์สิน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเครือข่ายอดีตผู้บริหาร สหกรณ์สโมสรรถไฟ ที่ได้นำเงินจากการทุจริตออกจากบัญชีสหกรณ์สโมสรรถไฟ และนำเงินที่ได้จากการทุจริตไปเปลี่ยนสภาพแห่งตัวทรัพย์ เพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา หรือได้มา ครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินโดยรู้ในขณะที่ได้มา อันเป็นเหตุในการเข้าทำการตรวจยึด/อายัดทรัพย์สินข้างต้น

วันที่ 9 เมษายน 2564 พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะรองอธิบดีที่กำกับดูแล พันตำรวจโท จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ นายระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รองผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา และนายพงษ์ธวัช อ่วมสำอางค์ ผู้อำนวยการส่วนคดีการฟอกเงินทางอาญา 3 พร้อมคณะ ตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี (สาขาท่ายาง) และนายประกอบ เผ่าพงศ์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ร่วมกันอายัดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหลายพื้นที่ ประกอบด้วย

(1) ที่ดินเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แปลง

(2) อาคารชุดฮอลส์มาร์ค แจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวน 7 ห้อง

(3) ที่ดินโครงการพฤกษ์พิมาน 3 ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 23 แปลง

(4) พื้นที่อำเภอแก่นกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 49 แปลง

รวมทรัพย์สินที่ทำการอายัด 85 แปลง มูลค่าประมาณ 85,601,690 บาท โดยในการอายัดครั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของกลุ่มบุคคล จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่านำเงินที่ได้จากสหกรณ์ฯ ไปซื้อที่ดิน ตามที่ได้อายัดไว้ข้างต้น 

การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งเน้นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสามารถนำเงินชดใช้คืนสหกรณ์สโมสรรถไฟ และสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการในทุกมิติ โดยร่วมกับสำนักงาน ปปง. เพื่อทำการการยึด/อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 

เพื่อขอให้พนักงานอัยการมีคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืน หรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์จำนวนกว่า 6,000 ราย และสหกรณ์พันธมิตรอีก 15 แห่ง โดยจะดำเนินการเชิงบูรณาการร่วมกับ สำนักงาน ปปง. ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ส่งผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 อย่างเด็ดขาด ต่อไป