การประชุมจีน-สหรัฐฯ ความล้มเหลวในการเจรจา แต่สำเร็จในการแสดงจุดยืน

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับความรักชาติของคนจีนลงเพจ The States Times เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผ่านไปไม่ทันไรก็ได้เห็นพฤติกรรมรักชาติของชาวจีนชัด ๆ ผ่านการประชุมของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ที่อาแลสกาในงานประชุม Alaska Summit เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 

หากใครสนใจและติดตามการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็คงพอจะทราบว่าการประชุมดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก เช่นเดียวกับสำนักข่าวทั่วโลก ที่ต่างพาดหัวด้วยถ้อยคำประมาณว่า “เวทีเดือด” หรือ “ที่ประชุมระอุ” เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ นับว่าเป็นการพบหน้าเจรจากันครั้งแรก ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองชาติมหาอำนาจ นับตั้งแต่ที่ ‘โจ ไบเดน’ ชนะเลือกตั้ง และขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา โดยฝั่งจีนนำโดย ‘นายหยาง เจียฉือ’ เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของจีน และ ‘นายหวัง อี้’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ นั้นนำโดย ‘นายแอนโทนี บลิงแคน’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ ‘นายเจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ว่ากันว่าที่ประชุมแห่งนี้แทบมิได้พูดถึงเรื่องปัญหาทางการค้า หากแต่เป็นการใช้วาจาเชือดเฉือน เสียดสี โจมตีนโยบายของอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา เริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดประชุมโดย นายแอนโทนี บลิงเคน ที่พูดถึงความกังวลของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อการกระทำของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกักขังชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกง รวมถึงการข่มขู่ไต้หวัน โดยทางสหรัฐฯ ยังอ้างอีกว่าการกระทำของจีนนั้นถือว่า “ผิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของโลก” (rules-based order) อันว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

ชัดเจนมากครับ ว่าสหรัฐฯ มิได้มาเพื่อเจรจาการค้า...

หลังจากการกล่าวเปิดประชุมในระยะเวลาไม่กี่นาทีของนายบลิงเคนจบลง ด้านนายหยาง เจียฉี ไม่แสดงความอ่อนข้อแม้แต่น้อย เขาตอบโต้ด้วยสุนทรพจน์ความยาวกว่า 15 นาที โดยมีเนื้อหาโจมตีสหรัฐฯ ในหลายด้าน “เราหวังว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่านี้เช่นกัน ซึ่งความจริงแล้ว สหรัฐฯ เองก็มีปัญหามากมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ฝังลึกมานาน ไม่ใช่แค่ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Black lives matter”

นอกจากนี้ยังกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าใช้แสนยานุภาพทางทหาร และอำนาจทางการเงินครอบงำ และกดขี่ประเทศอื่น ๆ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งมาตุภูมิมาขัดขวางและแทรกแซงการค้า รวมถึงตั้งใจยุยงให้ประเทศอื่น ๆ โจมตีจีน นอกจากนี้นายหยางยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เลิกยัดเยียดความเป็น “ประชาธิปไตยในแบบของสหรัฐฯ” เข้าไปยังประเทศอื่น ๆ เพราะไม่จำเป็นว่าแต่ละประเทศจะยอมรับค่านิยมของสหรัฐฯ เสมอไป 

“คุณพูดแทนสหรัฐอเมริกาได้ แต่อย่ามาอ้างว่าคุณพูดแทนคนทั้งโลก” นายหยางกล่าว และยังเตือนอีกว่า จีนจะคัดค้าน และขัดขืนอย่างหนักแน่นต่อการแทรกแซงกิจการภายในจีนโดยสหรัฐฯ

นับว่าดุเดือดมากครับ หลังจากช่วงของการกล่าวเปิดประชุมของทั้งสองฝ่ายได้จบลงแล้ว นักข่าวประจำสื่อต่าง ๆ เริ่มทยอยเดินออกจากห้องประชุม แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ นายบลิงเคน เรียกนักข่าวให้กลับเข้ามาในห้องประชุมเพื่ออยู่ถ่าย และอยู่ฟัง “การประชุม” ต่อ ซึ่งหลังจากนั้นก็กลายเป็นการอวดฝีมือวิชาการฑูตของทั้งสองฝ่าย ในการตอบโต้ โจมตีนโยบายของอีกฝ่าย ยาวไปจนกินเวลาถึงสองชั่วโมง

โดยประเด็นที่ฝ่ายสหรัฐฯ ใช้โจมตีจีน คือเรื่องการกระทำของจีนที่ขัดกับ Rules based order หรือกฎพื้นฐานของโลก (ที่คิดขึ้นมาโดยสหรัฐฯ ใช้ในโลกฝั่งเสรีนิยม และอิงตามหลักเสรีนิยมแบบสหรัฐฯ) การที่จีนจู่โจมสหรัฐฯ ทางไซเบอร์ (cyber-attack) และการบีบบังคับทางเศรษฐกิจที่จีนกระทำต่อประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ (เข้าใจว่าหมายถึงออสเตรเลีย) 

ในขณะที่จีน ก็โต้กลับว่า สิ่งที่จีนกระทำต่อชาวอุยกูร์ ฮ่องกง และไต้หวันถือว่าเป็นกิจการภายในประเทศ มิใช่กงการของสหรัฐฯ และกล่าวประโยคเด็ดประจำวันออกมาว่า 

“Let me say here that in front of the Chinese side, the United States does not have the qualification to say that it wants to speak to China from a position of strength.”

เป็นการประกาศจุดยืนของจีนอย่างชัดเจนว่าในตอนนี้ สหรัฐฯ ต้องแสดงความเคารพจีน และแสดงความจริงใจในการเจรจามากกว่านี้ และจะต้องเจรจากับจีนในฐานะที่เท่าเทียม เพราะจีนเองก็ไม่คิดว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมีอำนาจเหมือนก่อนแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ อ่อนลงไปบ้างจากวิกฤติการระบาดของ COVID19 และการสูญเสียพันธมิตรในช่วง 4 ปี ที่อดีตประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ยังดำรงตำแหน่งอยู่

การประชุมจบลงจริง ๆ ในวันต่อมา (20 มี.ค. 2564) ซึ่งโดยปกติแล้ว ธรรมเนียมการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ หลังจบการประชุมจะต้องมีภาพถ่ายการจับมือกันระหว่างทั้งสองฝ่าย มีการแถลงการณ์ร่วม และประกาศวันเวลาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะประชุมร่วมกันในครั้งต่อไป แต่สำหรับการประชุม Alaska Summit ครั้งที่ผ่านมานั้น ไม่มีการปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเลยครับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนเดินสะบัดก้นออกจากที่ประชุมทันทีหลังจากการประชุมได้จบลง ซึ่งทำให้บรรยากาศของการประชุมครั้งนี้ก็ดี หรือความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ดี ดูจะดุเดือดเสียยิ่งกว่าในสมัยของนายทรัมป์ หรือในสมัยใดก็ตามในประวัติศาสตร์

เมื่อการประชุมจบลงด้วยภาพความขัดแย้งแบบนี้ ย่อมเป็นที่ถูกใจสำหรับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังถูกจีนเดินเกมรุกทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง รวมถึงสร้างรอยยิ้มให้กับประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศใน EU ข้อนี้คงไม่สงสัยเลยครับ ว่าหากย้อนเวลากลับไปในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จีนคงอยากให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมากกว่า

แต่ถึงสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จีนยังคงแสดงท่าทีตั้งมั่นในความทะเยอทยาน ที่จะเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก และไม่ยอมอ่อนข้อ หรือประณีประนอมต่อใครก็ตาม ที่เข้ามาคุกคาม และขัดขวางสิ่งที่เป็นความฝันร่วมกันของคนในชาติ

ในขณะที่นักวิเคราะห์ฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าการหารือกันครั้งแรกระหว่างจีน และทีมบริหารของไบเดนก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะทีมของไบเดนนั้นไม่ได้ส่งสัญญาณว่าสนใจที่จะพูดถึงการค้าระหว่างกันตั้งแต่แรกแล้ว

การตัดสินแพ้ชนะในเกมนี้ ก็คงอยู่ที่ความสำเร็จในการรวมพันธมิตรของฝ่ายสหรัฐฯ ในการกดดันจีน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วหลังจากที่สหรัฐฯ แคนนาดา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ ใน EU เห็นพ้องให้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 คนของรัฐบาลจีน เพื่อเป็นการลงโทษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีนมากน้อยแค่ไหน ทางการจีนจะมีนโยบายตอบโต้อย่างไรก็คงต้องรอดูกันไปครับ

แต่ที่แน่ ๆ ผมว่าการทะเลาะกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจในครั้งนี้ ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับตลาดและนักลงทุนทั่วโลก เรียกได้ว่าถ้าตีกันแรงก็จะต้องเจ็บหนักกันทั้งสองฝ่าย โดยในไม่ช้า ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมถึงไทยเราเอง ก็จะต้องถูกกดดันให้เลือกฝ่าย

ถึงวันนั้นแล้วเราควรเลือกอยู่ข้างใครกัน ? หรือไม่เลือกเลยสักฝ่าย ? หรือเลือกอยู่กับทั้งสองฝ่ายไปเสียนั่นแหละ ? เดี๋ยวคงได้รู้กันครับ


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ