เศรษฐกิจในเมียนมาพังเพราะใคร..?

เป็นเวลากว่า 40 กว่าวันแล้ว ที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ทางกองทัพเข้าคุมตัวนางอองซานซูจีและสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีตามมาด้วยการตอบของพรรคเอ็นแอลดีโดยการเรียกประชาชนที่สนับสนุนออกมาประท้วงทั่วประเทศ และก็ไม่เป็นเรื่องที่ยากเย็นนักที่ชาวเมียนมาผู้มีบาดแผลที่กองทัพเมียนมาในอดีตเคยกระทำ จะทำให้คนเมียนมาโกรธแค้นและพร้อมใจกันออกมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำของเขา

กลยุทธ์ทำลายเศรษฐกิจด้วยวิธีอารยะขัดขืน เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการตอบโต้กองทัพเมียนมา ด้วยการไม่ไปทำงาน ซึ่งกลายเป็นความนิยมที่คนพม่าต่างพร้อมใจในการปฏิบัติตาม แต่คนพม่าหารู้ไม่ว่า การทำอารยะขัดขืนด้วยวิธีนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงธุรกิจของกองทัพเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศด้วย

การไม่ทำงานส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดอย่างไม่มีกำหนด หรือเปิดบริการได้แบบเปิด ๆ ปิด ๆ หลายบริษัท ห้าง ร้าน ไม่สามารถค้าขายสินค้าได้ แม้ในช่วงแรกเจ้าของกิจการจะร่วมมืออย่างเต็มร้อย แต่เมื่อใกล้ถึงปลายเดือน เหล่าเจ้าของกิจการได้เริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการทำอารยะขัดขืนดังกล่าว

การอารยะขัดขืนทำให้รายรับเขาลดลง ไม่ว่าจากการที่เขาต้องปิดกิจการก็ดี ไม่มีพนักงานมาทำงานก็ดี หรือลูกหนี้ของเขาไม่จ่ายเงินเนื่องมาจากการติดขัดจากการที่ธนาคารปิดเพราะทำอารยะขัดขืนก็ดี ในขณะที่รายจ่ายเขายังคงที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจก้าวข้ามผ่านเดือนแรกของการปฏิวัติไปอย่างทุลักทุเล เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาหลายสิบปี หลายๆ คนถึงขั้นต้องนำเงินสำรองออกมาใช้จ่ายเพื่อพยุงธุรกิจให้ผ่านเดือนที่ผ่านมาไปได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อก้าวข้ามสู่เดือนมีนาคม เดือนที่ 2 ของการต่อสู้ หลายธุรกิจเริ่มปรับตัวได้ และเริ่มปรับกลยุทธ์แบบจ่ายเฉพาะวันที่ทำงาน หรือบางคนปรับลดการทำงานและการจ่ายเงินลงเช่นจ่ายเป็น 3 ใน 4 หรือครึ่งเดียวเป็นต้น ในขณะที่บางบริษัทยังดำเนินการเหมือนเดิมโดยการจ่ายเงินเดือนผ่านระบบ Payroll แม้ว่าธนาคารจะหาตู้กดเงินลำบากก็ตาม

ผมจำได้ว่าหลังจากรัฐประหารมาไม่กี่วัน คณะรัฐประหารออกแถลงการณ์ให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างปกติ และทุกวันนี้ยังมีการออกประกาศต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาจากการที่ธนาคารก็ดี หรือ ชิปปิ้งที่ทำเรื่องนำเข้าส่งออกก็ดีทำอารยะขัดขืน โดยล่าสุดก็ยกเลิกการทำเอกสาร Import License เพื่อให้ขั้นตอนการนำเข้าทำได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาการนำระบบแมนนวลกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาสินค้าติดค้างตรงชายแดน ซึ่งก็มองว่ารัฐบาลทหารมีความพยายามอย่างมากในการประคับประคองเศรษฐกิจเมียนมาที่เปราะบางใกล้จะพังเต็มที

สุดท้ายคงต้องขึ้นกับประชาชนเมียนมาว่าเขาจะมองประชาธิปไตยสำคัญกว่าปากท้องของเขาหรือไม่ เพราะสุดท้ายไม่มีระบอบไหนที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องทำงาน และเหล่าบรรดาผู้ประกอบการต่าง ๆ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยของเขาได้นานแค่ไหนเช่นกัน