วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสตราเซเนกา ไม่ใช่แค่ป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แบบไม่แสดงอาการ แต่ดูเหมือนว่ามันจะช่วยชะลอการแพร่กระจายเชื้อได้อีกด้วย จากผลวิจัยหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (2 ก.พ.)

ผลการค้นพบดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ในเอกสารก่อนตีพิมพ์ฉบับหนึ่งและยังไม่ได้ผ่านการทบทวนโดยเหล่าผู้ทรงคุณวุติ คือหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่ามีวัคซีนโควิด-19 ตัวหนึ่ง ที่สามารถลดการแพร่กระจายเชื้อของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และตอกย้ำให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนหมู่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในหนทางหลุดพ้นจากโรคระบาดใหญ่

คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดวัดการแพร่กระจายเชื้อ ผ่านการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ (Swab) อาสาสมัครบางส่วนในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อตรวจหาสัญญาณต่างๆ ของไวรัส และพบว่าอัตราอาสาสมัครที่มีผลตรวจแบบ PCR เป็นบวกนั้น มีจำนวนลดลงราวๆ ครึ่งหนึ่งหลังจากได้รับวัคซีน 2 โดส ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนชี้ว่าหากวัคซีนแค่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเบาลง ผลตรวจ PCR ก็จะยังคงเป็นบวกไม่เปลี่ยนแปลง

ผลการศึกษายังพบด้วยว่าวัคซีน 1 โดสของแอสตราเซเนกา สามารถมอบประสิทธิภาพการคุ้มกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบไม่แสดงอาการ ราว 76% หากชะลอการฉีดโดสที่ 2 ออกไปนานสูงสุด 3 เดือน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สอง

ทั้งนี้หากมีการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส วัคซีนของแอสตราเวเนกาจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 82.4%

พวกนักวิจัยบอกว่าการเว้นระยะห่างระหว่างโดสนาน 3 เดือน เป็น "ยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ และบางทีอาจเป็นวัคซีนโรคระบาดใหญ่ที่เหมาะสมสำหรับการแจกจ่ายอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อุปทานมีอย่างจำกัดในระยะสั้น"

ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักรแสดงความกังวลว่าตัวกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในประเทศของพวกเขา รวมถึงตัวกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้และบราซิล อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง


ที่มา: CNN

https://mgronline.com/around/detail/9640000011100