เศรษฐกิจไม่ ‘พัง’ เท่าปีก่อน แต่ยังลุ้นเหนื่อย!! ธปท. เชื่อ โควิด–19 ระลอกใหม่ ทำเศรษฐกิจเจ็บไม่เท่ารอบแรก เชื่อ ศก.ไทย กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก ยังเหนื่อยหนัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลกระทบโควิด–19 ระลอกใหม่ต่อภาคเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก แต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก ยังได้รับผลกระทบหนักสุด พร้อมยันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ชูการส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนในปีนี้ หลังเศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น และนโยบายการค้าสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 โดยพบว่า แม้มีการระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าครั้งก่อน แต่ผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะภาครัฐออกมาตรการควบคุมดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่า แต่มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือ โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ผู้โดยสาร และค้าปลีก ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.63 และไตรมาสที่ 4/63 ฟื้นตัว

ข่าวแนะนำ

“ช่วงปลายเดือน ธ.ค.63 และเดือน ม.ค.64 เราเห็นผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น จากการระบาดในระลอกที่ 2 แต่ในระยะต่อไป ปัจจัยที่จะต้องติดตามคือ พัฒนาการของโควิด-19 ทั้งในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวด ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มว่า รัฐบาลอาจผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเร็วกว่าที่ ธปท.คาดไว้ จากเดิม ที่มองว่า มาตรการคุมเข้มจะลากยาว 2-3 เดือน นอกจากนั้น เดือน ธ.ค. การส่งออกยังขยายตัวดีเกินคาดที่ 4.6% แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ทำให้ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการค้าโลก จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องติดตามคือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยจำนวนผู้ว่างงาน และผู้ขอรับสิทธิว่างงานลดลง ในเดือน พ.ย.63 ส่วนในเดือน ธ.ค.63 ผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200,000 คน มาอยู่ที่ 2.4 ล้านคน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของ ประชาชนจากภาครัฐว่าจะมีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนการท่องเที่ยวคาดว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจไม่มากนักจากเดิมที่ ธปท.คาดการณ์ตั้งแต่ก่อนที่โควิด-19 ระลอกใหม่จะรุนแรงว่า จะมีเข้ามา 5.5 ล้านคน จึงต้องเพิ่มรายได้จากจำนวนวันที่เข้ามานานขึ้นทดแทน

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจไทยในปี 63 ว่า ธปท.ยังคาดว่าจะขยายตัวตามประมาณการเดิมที่ติดลบ 6.6% โดยเดือน ธ.ค.เศรษฐกิจไทย ยังทยอยฟื้นตัวได้แต่ยังไม่ทั่วถึง และเห็นผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ชัดเจนขึ้น ดัชนีบริโภค ภาคเอกชนเริ่มได้รับผลกระทบ ส่งผลให้การใช้จ่าย หมวดบริการลดลง แต่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนยังเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.62 แต่ลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ส่วนดัชนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 2.4% จากเดือน ธ.ค.62 แต่หมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ดัชนีเพิ่ม 1.5%

ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น 4.5% จากเดือน ธ.ค.63 ยกเว้นหมวดก่อสร้างยังหดตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนดุลการค้าเกินดุล 39,800 ล้านเหรียญฯ แต่ดุลบริการซึ่งสะท้อนรายได้จากการท่องเที่ยวติดลบ 23,000 ล้านเหรียญฯ

“ธปท. มองว่าการส่งออกจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมทั้งนโยบายการค้าที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการค้าโลกในระยะต่อไป ดังนั้น แนวทางและนโยบายในด้านการค้าที่ควรทำในระยะนี้คือ เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้า เพื่อให้ตอบสนองความต้องการสินค้าได้ทันท่วงที สร้างสมดุลทางการค้ากับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อรักษาห่วงโซ่การผลิตและการตลาด รวมทั้งรักษาสิทธิในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาว”


ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/2022681