อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยภาพถ่ายจระเข้ขนาดใหญ่ ขึ้นมานอนอาบแดดบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี คาดเป็นจระเข้น้ำจืดหายากใกล้สูญพันธุ์ของไทย เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ดูแลอารักขา เพราะเป็นพันธุ์ที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ช่วงเวลาดีๆ ของธรรมชาติ!!

แม้ว่าประเทศไทยจะยังอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิดระบาด แต่ทว่าธรรมชาติเริ่มกลับมาสมบูรณ์ ล่าสุดเพจเฟสบุ๊กอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park ได้เปิดเผยภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (Camera Trap) ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) ขึ้นมานอนอาบแดด

ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีที่พบเจอสัตว์ป่าที่หายากมากในธรรมชาติและกำลังจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ คือ จระเข้สายพันธุ์ไทยดั้งเดิม นั่นเพราะจระเข้พันธุ์นี้หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 20 ตัวเท่านั้น

สำหรับจุดที่พบ อยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เหนือบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย ยืนยันสถานะภาพ ยังคงอยู่ได้ ไม่ได้พบภาพใหม่มานานและยืนยันได้มากกว่าหนึ่งตัว ที่บันทึกภาพได้ จากที่เฝ้าติดตามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางเพจฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จระเข้น้ำจืด, จระเข้บึง, จระเข้สยาม หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3–4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10–12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20–48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68-85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว

โดยปกติจระเข้น้ำจืดจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว

แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่เช่นที่ทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะทิวเขาพนมกระวาน ซึ่งช่วงแรกค้นพบเพียง 3 ตัว จนนำไปสู่การค้นพบจระเข้นับร้อยตัวที่อาศัยโดยไม่พึ่งพาอาศัยมนุษย์ แต่ที่นี่ก็ประสบปัญหาการจับจระเข้ไปขายฟาร์มจำนวนมาก[2] สถานะในอนุสัญญาของไซเตสได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1)

ปัจจุบัน จระเข้สายพันธุ์นี้แท้ ๆ ก็ยังหายากในสถานที่เลี้ยง เนื่องจากถูกผสมสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไปด้วยจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

ด้านนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ชุดลาดตระเวนของอุทยานออกลาดตระเวนบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำบางกลอย พบร่องรอยจระเข้ จึงทำการติดตั้งกล้องไว้กว่าเดือน พอย้อนกลับไปตรวจสอบภาพดู ปรากฏว่าเจอจระเข้น้ำจืดกำลังขึ้นมาอาบแดด เป็นขนาดใหญ่สมบูรณ์มาก นอกจากนี้ยังเตรียมส่งกำลังเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลอารักขา เนื่องจากเป็นชนิดพันธุ์ที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์

ที่มา : เพจ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน - Kaeng Krachan National Park