Wednesday, 30 April 2025
ECONBIZ NEWS

'รมว.เอกนัฏ' เปิดฉาก!! 'ปฏิรูปอุตสาหกรรม' หลังเข้ากระทรวงอุตฯ วันแรก พร้อมเตรียมงานเชิงรุก ก่อนลุยเก็บข้อมูลกากของเสียรั่วไหลที่ระยอง

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงาน แลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมแนะนำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยนายเอกนัฏ กล่าวถึง 'การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย' (Industrial Reform) เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน ดังนี้...

1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด

2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SME ไทย

3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง New S-Curve กับประเทศ ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะรื้อปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน

รวมถึงการจัดตั้ง 'กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม' แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย อัปสกิลผลิตแรงงานคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี บริหารจัดการค่าจับปรับด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องพึ่งพางบกลาง

"ผมจะทำทันที ทำทุกวินาที ไม่ยอมจนกว่าจะทำให้สำเร็จ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเสริม

หลังจากประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแล้วนายเอกนัฏ และคณะ ได้ออกเดินทางทันที เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตามข้อร้องเรียนของประชาชน

‘นายกฯ อิ๊งค์’ เผย!! แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 12 ก.ย.นี้ ยัน!! เงินหมื่นช่วยกระตุ้น-หมุน ศก.ไทยได้ทั้งระบบ

(11 ก.ย. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลต่าง ๆ ในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 12-13 ก.ย.

โดย น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้กำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวงชี้แจงทันทีในข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาที่อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯเพื่อความเข้าใจ ว่า ใช่ เพราะจริง ๆ แล้วรัฐมนตรีทุกท่านตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ก็ทำงานกันอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ตอบเอง 

ในส่วนของนายกฯ ตอบภาพรวมได้ แต่ดีเทลการทำงานของแต่ละกระทรวง เขามีดีเทลที่เขาทำจริง ๆ ซึ่งจะชัดเจนกว่าและจะสามารถให้ข้อมูลประชาชนได้ชัดเจน และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจผิดกัน จึงคิดว่าอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ตอบงานของตัวเอง

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดความชัดเจนจากเวทีนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ แน่นอนวันที่ 12 ก.ย.แถลงแล้ว จะแถลงภาพรวมของนโยบาย แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รมว.การคลังจะเป็นคนแถลงรายละเอียดทั้งหมด

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 10,000 บาทได้ทั้งหมดก้อนเดียวดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีการทำกับการหาเสียงแตกต่างกัน จะสามารถอธิบายประชาชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันมีความแตกต่างแน่นอน พอได้ลงมือทำจริง ๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลมันมีเรื่องของระบบที่จะต้องติดตั้งอีกนาน ฉะนั้นเราคิดว่าเมื่อระบบและสิ่งอื่น ๆ ยังมีข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งมันต้องรอ แต่เศรษฐกิจรอไม่ได้ประชาชนรอไม่ไหว ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนในจุดนี้ให้ประชาชนก่อน เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป้าหมายของเราในการทำดิจิทัลวอลเล็ตนั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ หากกระตุ้นไม่พอ เรายังพร้อมที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่ว่ามันมาช้ากว่า แต่เศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้นก่อน เราทำอันนี้เสร็จไม่ใช่มีแค่นโยบายเดียว เรามีอีกหลายอันที่สามารถเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลัก เร่งด่วนและเห็นผลทันทีจึงอยากรีบทำ

เมื่อถามว่า รัฐบาลวันนี้สานต่องานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ซึ่งเคยมีนโยบายจ่ายเงินดิจิทัล รอบเดียวไม่แบ่งจ่ายกระตุ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่วันนี้เปลี่ยนไปการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นตามเป้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การวางแผนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายเฟสที่ต้องกระตุ้น อย่าง 10,000 บาท ที่ได้แถลงไปแล้วว่าจะจ่ายก่อน ก็เป็นการกระตุ้นอันหนึ่ง ภาพใหญ่หนึ่งภาพก่อน แต่ส่วนหลังจากนั้นก็ไม่ลืมทิ้งโครงสร้างดิจิทัลที่เราจะต้องทำต่อด้วย อันนี้สำคัญ ตอนแรกเราจะไม่ให้เป็นเงินสดเลยทั้งหมด จะเป็นเงินดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอกเศรษฐกิจรอไม่ได้ เราก็เลยต้องแบ่งเฟส ดิจิทัลยังอยู่แต่เราอาจจะเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทไหม หรืออย่างไร เดี๋ยวให้ รมว.การคลังแถลงรายละเอียด

เมื่อถามว่า พอแบ่งจ่ายอาจจะไม่ใช่พายุหมุนเหมือนที่เราตั้งใจไว้ หลายคนมองว่าเหลือเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นการกระตุ้นแน่นอนแต่รูปแบบเปลี่ยนไป ฉะนั้นขอให้ รมว.การคลัง แจงในรายละเอียดอีกที

เมื่อถามว่าเป้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ค่ะ เพราะเราแบ่งเฟสแล้วและอย่างที่บอกไม่ได้มีนโยบายเดียว ที่จะให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้น ฉะนั้นการแบ่งทีละเฟสควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดูดี

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยหาเสียงจ่ายเงินดิจิทัลขณะที่ยังไม่ศึกษารายละเอียดจึงทำให้การจ่ายเงินล่าช้า นายกฯ กล่าวว่า มันล่าช้าเพราะเราเข้ามาเราคิดว่าจริง ๆ แล้วระบบมันจะสามารถดำเนินไปได้เลย แต่มันต้องมีการรับฟัง แน่นอนถ้าไม่เกิดการรับฟังมีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งต้องรับฟังหลาย ๆ ฝ่ายว่ามีข้อกังวลหรือข้อสงสัยอะไร อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำให้รัดกุม และดีที่สุดสำหรับประเทศด้วย

เมื่อถามว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งฝ่ายค้านและ สว.จองคิวไว้เต็มที่ นายกฯ กล่าวว่า “เหรอคะ เราก็ทำเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้วขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม หลังการแถลงก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นถึงกับจะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบได้แต่ร้องอ๋อ

เมื่อถามว่า ยังมีเสียงข้อครหารัฐบาลแพทองธาร ไม่ต้องนับปีเอาแค่นับเดือนจะรอดหรือไม่ นายกฯ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า “ก็ช่วยกันนับ”

'พีระพันธุ์' ย้ำ!! กม.ใหม่ คิดราคาน้ำมันตามต้นทุนแท้จริง แทนอิงราคาต่างชาติ พร้อมกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน

(10 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ หลังจากได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงาน เพื่อตรวจทานรายละเอียดของกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันที่ผมได้ยกร่างขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา 

โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ และจะกำกับดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย

ในกฎหมายฉบับนี้ ยังจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และเมื่อภาระต้นทุนน้ำมันของผู้ประกอบการลดลงแล้ว ก็จะอ้างต้นทุนค่าขนส่งแพงไม่ได้ และจะนำไปสู่การปรับลดราคาสินค้าตามมาด้วย  ซึ่งจะเป็นการลดภาระของประชาชนในอีกทางหนึ่ง

"ผมใช้เวลาร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมันที่กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และคาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ พร้อม ๆ กับกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาบ้าน และขอให้เชื่อมั่นว่า ผมจะเร่งผลักดันกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ รวมทั้งกฎหมายด้านพลังงานอื่น ๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้การ 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' ระบบพลังงานไทย เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมครับ" นายพีระพันธุ์ กล่าว

1 ปี ‘กระทรวงพาณิชย์’ ใต้บังเหียน ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ช่วย ‘เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย-สร้างโอกาส’ แก่ ‘คนตัวเล็ก’

ผ่านไปแล้ว 1 ปี กับบทบาทบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของนายภูมิธรรม เวชยชัย ก่อนจะลุกไปครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม ก็ได้สร้างภาพจำไว้ได้ไม่น้อย 

แน่นอนว่า หากมองในภาพโดยผิวเผิน ก็อาจพบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในเรื่องของราคาสินค้ากันพอสมควร แต่หากได้พิจารณาถึงการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ซึ่งถือเป็นภารกิจสุดท้าย ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ของ ‘ภูมิธรรม’ โดยมี 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการอย่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ และ สุชาติ ชมกลิ่น คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึง พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและทูตพาณิชย์ที่ร่วมรับฟัง จะพบว่า นโยบายในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ 7 ด้าน มีความคืบหน้าที่น่าสนใจพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น…

1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 6.เร่งผลักดันส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก และ 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA 

โดยผลงานทั้ง 7 ด้าน สามารถดูแลรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ อีกทั้งยังสามารถดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเพิ่มรายได้ ก็ดูจะได้รับความพึงพอใจต่อภาคผู้ประกอบการไม่น้อย ภายหลังจาก ‘ทีมพาณิชย์’ ซึ่งมีบทบาทบูรณาการการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ 9 คณะขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เดินหน้าไปพร้อมกัน ได้แก่...  

1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์
2. ส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย 
3. ส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน 
4. ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์  
5. ขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า 
6. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า 
7. พัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ 
8. พัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ 
และ 9. สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ 

นอกจากนี้ ยังเน้นการทำงานเชิงรุก โดยพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องรู้จักสินค้า เข้าใจความต้องการตลาด เข้าถึงช่องทางการค้ายุคใหม่ บริหารจัดการประโยชน์ของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และ ผู้บริโภค 

นี่คือภาพโดยรวม…

แต่ถ้าแยกย่อยลงไปตาม นโยบาย เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส จะพบรายละเอียดที่ดูเป็นรูปธรรมอย่างมาก…

>> นโยบายเพิ่มรายได้ 
สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร โดยพืชหลัก ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มัน, ปาล์ม, ยางพารา / ช่วยเหลือเกษตรกรได้เกือบ 8 ล้านครัวเรือน / ดูแลปริมาณผลผลิตเกือบ 90 ล้านตัน / สร้างสถิติราคาซื้อขายข้าวเปลือกเจ้าได้สูงสุดในรอบ 20 ปี 

ส่วน พืชรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด, กระเทียม, หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน และ SME โดยผลักดันการค้า e-Commerce ทั้งในและต่างประเทศ เกิดมูลค่าการซื้อขาย 2,347.70 ล้านบาท อาทิ ทำ MOU กับ Rakuten ญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายสินค้าไทย / ร่วมมือกับ Amazon ขายออนไลน์ / นำสินค้าไทยขายบน Shopee มียอดขาย 71.44 ล้านบาท / เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตลาดต้องชม 251 แห่ง เพิ่มรายได้ 1,987 ล้านบาท / พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย เพิ่มรายได้ 185 ล้านบาท / ผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้า GI สร้างรายได้ 71,000 ล้านบาทต่อปี / ใช้ร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการและผลักดัน Soft Power ทั้งอาหาร ดนตรี / เชื่อมโยงร้านอาหาร Thai SELECT กับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ร้านธงฟ้า / จัดไปรษณีย์@ธงฟ้า อำนวยความสะดวกผู้ค้าออนไลน์ และประชาชน ให้บริการ Drop Off ให้บริการรับพัสดุแล้วกว่า 1 แสนชิ้น 

นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยประสานพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วง 1 ส.ค. - 30 ส.ค. จำนวน 318 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,683 ราย สร้างรายได้ 373 ล้านบาท / ตั้งเป้าจัดตลาดพาณิชย์ 935 ครั้ง ในช่วง ส.ค.-พ.ย.67 คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ HoReCa 2024, THAIFEX - Anuga Asia 2024 และ STYLE Bangkok 2024 สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท / จัด Thailand SME Synergy Expo 2024 สร้างมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท 

>> นโยบายลดรายจ่าย 
จัดโครงการ ‘พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา’ ลดราคาสินค้าจำเป็น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ก่อนเปิดภาคเรียน ลดสูงสุด 60-85% รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพได้ 8,060 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท / จัด ‘โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน’ จำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% รวม 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท / จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท / จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนประมาณวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท 

จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนให้เกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย / งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.66 - มี.ค.67 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50–55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท และขอฝากกรมการค้ารวบรวมร้านค้า เพื่อเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

>> นโยบายสร้างโอกาส
สำหรับการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก โดยจีน นำเข้าผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน CAEXPO สหรัฐฯ / นำเอกชนลงนาม MOU ซื้อขายข้าวและอาหาร ญี่ปุ่น / ผลักดันอาหาร ผลไม้ ผ้าไทย ผ่านซีรีส์วายในงาน Thai Festival Tokyo ฝรั่งเศส / นำเอกชนเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2024 คาดมูลค่าเจรจาการค้ากว่า 11,000 ล้านบาท / ใช้แคมเปญ Think Thailand Next Leve ในการบุกตลาดอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ 

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการค้าชายแดน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาเปิดด่าน เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ไทย / การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 / เปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ / การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่ ปูซาน โคฟุ เป็นต้น

ทั้งนี้ จุดที่ชวนให้สนใจในกระทรวงพาณิชย์ชุดนี้ คือ การเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์ตลาดแนวใหม่ ยกตัวอย่าง การใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป ฟรีน-เบ็คกี้ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร สุราชุมชน ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ / การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท รวมถึงการใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก ที่กำหนดวันจัดไว้ที่ 25-29 ก.ย.67 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้จัดทำ MOU กับ Sinopec ด้วยการนำสินค้าไทยไปจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี / การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฮาลาล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท และยังทำงานเชิงรุกทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยสร้างโอกาสทางการค้า จากการใช้ประโยชน์จาก Big Data คิดค้า.com เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ มีสินค้าเกษตร 13 ชนิด เศรษฐกิจการค้ารายจังหวัด และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ใช้งานกว่า 220,000 คน เฉลี่ย 22,000 คนต่อเดือน

ที่กล่าวมานี้ คือ รากฐานใหม่ ที่ถือเป็นการคิดแบบนอกกรอบ เพื่อสร้างสรรค์งานเศรษฐกิจไทยในเชิงรุก มุ่งเน้นเข้าไปเหลือ ‘คนตัวเล็ก’ ให้ได้ประโยชน์เสียมาก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทิศทางการทำงานของกระทรวงพาณิชย์แบบนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่ในสายตาคนไทย แต่หากมันทัชใจตลาด โอกาสเก็บกินในระยะยาว ก็มีสูง...

‘ไทยออยล์’ คว้ารางวัล ‘องค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในไทย ประจำปี 67’ ตอกย้ำแนวคิด ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’ สภาพแวดล้อมองค์กรเป็นมิตรกับบุคลากร

เมื่อไม่นานมานี้ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายวิโรจน์ วงศ์สถิรยาคุณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารศักยภาพองค์กร และทีมงาน รับมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณอย่างเป็นทางการจากนายราโดลสลอว์ กอลสกี ผู้บริหารสูงสุดบริหารสายงานระบบข้อมูล และนายจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด (WorkVenture) ให้บริษัทไทยออยล์เป็น ‘Best Places to Work’ องค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในประเทศไทยประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการยอมรับจาก WorkVenture บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสร้างแบรนด์องค์กร และผู้จัดทำโพลสุดยอด 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดของประเทศไทย (TOP50 Companies in Thailand)

รางวัลและการรับรองนี้ มาจากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานที่ทำงานในไทยออยล์ โดยพิจารณา 4 ด้านหลัก ได้แก่ ลักษณะงาน (Job Attributes) ค่าตอบแทนและความก้าวหน้า (Reward and Career) การดูแลพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร (People and Culture) รวมถึงภาพลักษณ์องค์กร (Corporate Image) 

โดยผลการสำรวจถูกนำมาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานของ WorkVenture ซึ่งรางวัลและผลการรับรอง Best Places to Work เป็นเครื่องยืนยันว่าไทยออยล์ เป็นองค์กรที่มอบประสบการณ์เชิงบวก ทำให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจและมองเห็นคุณค่าในการทำงาน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีความมั่นคงในอาชีพการงาน ได้รับโอกาสในการทำงานที่ท้าทาย พร้อมทั้งโอกาสในการเติบโตในสายอาชีพอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ไทยออยล์ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมแก่พนักงาน ด้วยการดูแล และสนับสนุนด้านสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พนักงาน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดในการดูแลทรัพยากรบุคคลของไทยออยล์ที่ว่า ‘คนสำราญ งานสำเร็จ’

ข้อมูลจากการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรในระดับสูงรวมถึงความมุ่งมั่นในการสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตามวิสัยทัศน์ของไทยออยล์ในการ ‘สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน’ และนี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่ไทยออยล์ภาคภูมิใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต เพื่อให้เป็นองค์กรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

📌‘พาณิชย์’ เปิดงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 สุดตระการตา คาดเงินสะพัดกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อวานนี้ (9 ก.ย. 67) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครั้งที่ 70 (The 70th Bangkok Gems and Jewelry Fair) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT และสนับสนุนโดยองค์กรภาครัฐและเอกชนรวมถึงสมาคมการค้าสำคัญในอุตสาหกรรมฯ 16 องค์กร โดยงานนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 13 กันยายน 2567 จัดแสดงเต็มพื้นที่ชั้น G และ LG (Hall 1 - 8)

นายวุฒิไกร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานแสดงสินค้า Bangkok Gems and Jewelry Fair มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกระดับได้พบและเจรจาธุรกิจในระดับนานาชาติ และเป็นที่น่ายินดีว่างานบางกอกเจมส์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเป็น 1 ใน 4 งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญที่ผู้ค้าจากทั่วโลกต้องปักหมุดมาเยือน สำหรับงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 นี้ ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากไทยและต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ รวมกว่า 1,100 ราย 2,470 คูหา จัดแสดงเต็มพื้นที่ ชั้น G และ LG และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานรวมกว่า 40,000 คน และคาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าได้ถึงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

อัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก และจากจุดเด่นของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยสีที่สำคัญของโลก รวมถึงคุณภาพและความประณีตในการเผาพลอยสีและการเจียระไนพลอย 

โดยนายวุฒิไกร ได้กล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมฯ ว่า “เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความท้าทายต่าง ๆ แต่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) กลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 และสำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่างานบางกอกเจมส์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย ถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลกในวันนี้”

ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดี DITP ผู้จัดงานหลัก ได้กล่าวถึงงานฯ กระแสตอบรับ และแผนการขยายพื้นที่ในปีหน้าว่า “ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ของงานบางกอกเจมส์ครั้งที่ 70 โดยสินค้าที่จัดแสดงภายในงานครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มพลอยสี ทั้งนี้ จากแบบประเมินผลความพึงพอใจของ Exhibitor และ Visitor ในงานครั้งที่ 69 พบว่าอยู่ในระดับดีเยี่ยมเฉลี่ยกว่าร้อยละ 95 และเห็นว่าเป็นงานที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับภาพรวมการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญทั่วโลก ซึ่งจากกระแสความต้องการเข้าร่วมงานที่เพิ่มขึ้น ในปี 2568 เราได้มีแผนขยายพื้นที่จัดงานบริเวณ Foyer หน้าทางเข้าอาคารชั้น LG และมีการปรับผังคูหาใหม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการของ Exhibitor เพิ่มขึ้นอีกกว่า 150 คูหาด้วย”

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT ผู้ร่วมจัดงาน กล่าวเสริมว่า “นอกจากบางกอกเจมส์จะเป็นแพลตฟอร์มเจรจาการค้าสำคัญระดับโลกแล้ว ยังเป็นเวทีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างภาพลักษณ์อุตสาหกรรมฯ ผ่านกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมคู่ขนานที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ครอบคลุมทุกมิติแบบครบวงจร” โดยภายในงาน มีโซนที่น่าสนใจ ได้แก่ โซนจัดแสดงสินค้า The New Faces ซึ่งนำเสนอผลงานของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ The Jewellers โดย DITP กลุ่มผู้ประกอบการจากโครงการ Smart Jewelers by GIT และกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรีนำโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ฯลฯ รวมกว่า 60 ราย รวมถึงยังมีกิจกรรมพิเศษและกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการจัดแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากช่างฝีมือไทย ‘The Spirit of Jewelry Making’ กิจกรรม Networking Reception กิจกรรมสัมมนาภายในงานกว่า 10 หัวข้อ ครอบคลุมองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมฯ ทั้งด้านเทคนิคและการตลาด ฯลฯ

นอกจากนี้ นายสุเมธ ยังได้แนะนำบริการพิเศษจาก GIT ว่า “ในช่วงระหว่างงาน GIT ยังมีบริการตรวจสอบอัญมณีที่ได้มาตรฐานสากลและออกใบรับรองภายในช่วงงาน ซึ่งในปีนี้ เราได้ขยายพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทาง GIT ยังได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีตู้แสง LED เพื่อการตรวจสีพลอย อันเป็นผลงานวิจัยของ GIT อีกด้วย”

ปี 2566 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) คิดเป็นมูลค่า 8,658.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 และสำหรับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกฯ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,103.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 70 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 13 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Hall 1 ถึง 8 ชั้น G และ LG ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : www.bkkgems.com หรือ facebook.com/Bangkokgemsofficial

📌‘ภูมิธรรม’ โชว์ผลงาน 1 ปี ส่งท้ายเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ สำเร็จตามเป้า

1 ปี บนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของ ‘นายภูมิธรรม เวชยชัย’ ก่อนจะลุกไปครองเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม ก็ได้สร้างภาพจำไว้ได้ไม่น้อย 

เมื่อวานนี้ (9 ก.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย ได้เดินทางเข้ากระทรวงฯ เพื่ออำลาตำแหน่ง และแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ถือเป็นภารกิจสุดท้าย ในฐานะเจ้ากระทรวงฯ โดยมี 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ นภินทร ศรีสรรพางค์ และ สุชาติ ชมกลิ่น คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนถึง พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและทูตพาณิชย์ที่ร่วมรับฟัง ทั้งในห้องประชุม และผ่านทางระบบ ZOOM  

นายภูมิธรรม ได้กล่าวถึงผลงานในรอบ 1 ปี ว่า ได้กำหนดนโยบายในการทำงานในช่วงบริหารงานกระทรวงพาณิชย์ไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 

1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 
2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 
3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 
4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 
5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 
6.เร่งผลักดันส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก 
7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA 

ซึ่งปรากฏผลการทำงานประสบความสำเร็จในทุกด้าน สามารถดูแลตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ ดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง และดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยเพิ่มรายได้

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการ ‘ทีมพาณิชย์’ เพื่อบูรณาการการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ 9 คณะ ได้แก่ 

1. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อการพาณิชย์ 
2.ส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย 
3.ส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน 
4.ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อบูรณาการตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์  
5.ขับเคลื่อนนโยบายโลจิสติกส์ทางการค้า 
6.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ Big data และอินฟลูเอนเซอร์เพื่อการค้า 
7.พัฒนากฎหมายกระทรวงพาณิชย์ 
8.พัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ 
9.สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ 

นอกจากนี้ยังเน้นการทำงานเชิงรุก โดยพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ต้องรู้จักสินค้า เข้าใจความต้องการตลาด เข้าถึงช่องทางการค้ายุคใหม่ บริหารจัดการประโยชน์ของทุกกลุ่มทุกภาคส่วนให้มีความสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ และ ผู้บริโภค 

สำหรับนโยบายเพิ่มรายได้ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท จากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชผลทางการเกษตร โดยพืชหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มัน ปาล์ม ยางพารา ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 8 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตเกือบ 90 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายข้าวเปลือกเจ้าได้สูงสุดในรอบ 20 ปี พืชรอง ได้แก่ ผลไม้ พืช 3 หัว และผัก ช่วยเหลือเกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ดูแลปริมาณผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด กระเทียม หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชน และ SME โดยผลักดันการค้า E-Commerce ทั้งในและต่างประเทศ เกิดมูลค่าการซื้อขาย 2,347.70 ล้านบาท อาทิ ทำ MOU กับ Rakuten ญี่ปุ่น เพื่อจำหน่ายสินค้าไทย ร่วมมือกับ Amazon ขายออนไลน์ นำสินค้าไทยขายบน Shopee มียอดขาย 71.44 ล้านบาท เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับตลาดต้องชม 251 แห่ง เพิ่มรายได้ 1,987 ล้านบาท พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย เพิ่มรายได้ 185 ล้านบาท ผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้า GI สร้างรายได้ 71,000 ล้านบาทต่อปี ใช้ร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการและผลักดัน Soft Power ทั้งอาหาร ดนตรี เชื่อมโยงร้านอาหาร Thai SELECT กับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ร้านธงฟ้า จัดไปรษณีย์@ธงฟ้า อำนวยความสะดวกผู้ค้าออนไลน์ และประชาชน ให้บริการ Drop Off ให้บริการรับพัสดุแล้วกว่า 1 แสนชิ้น 

จัดกิจกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่านการจัดตลาดพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยประสานพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ในช่วง 1 ส.ค.-30 ส.ค. จำนวน 318 ครั้ง มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,683 ราย สร้างรายได้ 373 ล้านบาท ตั้งเป้าจัดตลาดพาณิชย์ 935 ครั้ง ในช่วง ส.ค.-พ.ย.67 คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ HoReCa 2024, THAIFEX - Anuga Asia 2024 และ STYLE Bangkok 2024 สร้างมูลค่าซื้อขายกว่า 1 แสนล้านบาท จัด Thailand SME Synergy Expo 2024 สร้างมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท 

ส่วนนโยบายลดรายจ่าย ได้จัดโครงการ ‘พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา’ ลดราคาสินค้าจำเป็น ช่วงเทศกาลสำคัญ ปีใหม่ ตรุษจีน กินเจ ก่อนเปิดภาคเรียน ลดสูงสุด 60-85% รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพได้ 8,060 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท จัด ‘โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน’ จำหน่ายสินค้าจำเป็นราคาต่ำกว่าท้องตลาด 20-40% รวม 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท 

จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนประมาณวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนให้เกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.66-มี.ค.67 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50–55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท และขอฝากกรมการค้ารวบรวมร้านค้า เพื่อเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

สำหรับการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก โดยจีน นำเข้าผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน CAEXPO สหรัฐฯ นำเอกชนลงนาม MOU ซื้อขายข้าวและอาหาร ญี่ปุ่น ผลักดันอาหาร ผลไม้ ผ้าไทย ซีรีส์วายในงาน Thai Festival Tokyo ฝรั่งเศส นำเอกชนเข้าร่วมงาน Cannes Film Festival 2024 คาดมูลค่าเจรจาการค้ากว่า 11,000 ล้านบาท ใช้แคมเปญ Think Thailand Next Leve ในการบุกตลาดอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ รวมทั้งผลักดันการค้าชายแดน และแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาเปิดด่าน เพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ไทย 

การลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 เปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่ ปูซาน โคฟุ โดยนายภูมิธรรม ได้ฝากให้ รมช.พาณิชย์ทั้งสองท่าน และปลัดกระทรวงพาณิชย์ สานงานต่อด้วย 

และยังได้เพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์ตลาดแนวใหม่ โดยใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป ฟรีน-เบ็คกี้ ยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร สุราชุมชน ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ และนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท ใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก กำหนดจัดวันที่ 25-29 ก.ย.67 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท 

และได้จัดทำ MOU กับ Sinopec นำสินค้าไทยจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี การเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ฮาลาล สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท และยังทำงานเชิงรุกทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น รวมไปถึงการช่วยสร้างโอกาสทางการค้า จากการใช้ประโยชน์จาก Big Data คิดค้า.com เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ มีสินค้าเกษตร 13 ชนิด เศรษฐกิจการค้ารายจังหวัด และเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น มีผู้ใช้งานกว่า 220,000 คน เฉลี่ย 22,000 คนต่อเดือน

“1 ปีที่ผ่านมา ผมได้วางรากฐานการทำงานเป็นทีม การคิดนอกกรอบเพื่อสร้างสรรค์งานในเชิงรุก การบริหารจัดการประโยชน์ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก และผมขอฝาก อนาคตกระทรวงพาณิชย์ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เข้าถึง เครือข่ายเพื่อร่วมผลักดันการค้า 2.ขับเคลื่อน โดยทีมพาณิชย์บูรณาการร่วมกับทีมประเทศไทย และ 3. เคียงข้างไปด้วยกัน คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก เพื่อขับเคลื่อนพลังคนรุ่นใหม่” นายภูมิธรรม กล่าว 

นอกจากนี้ยังได้ย้ำถึง โครงการเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานนำประเทศเข้าสู่ระบบดิจิทัล แน่นอน โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.นัดแรก ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว เพื่อให้ทุกคนสบายใจ ในรอบแรกจะเป็นกลุ่มเปราะบาง ประมาณ 14 ล้านคนก่อน ด้วยงบประมาณปี 2567 โดยแจกเป็นเงินสด 10,000 บาท โอนเข้าบัญชีที่มีอยู่แล้ว และจะสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ และไม่มีการจำกัดร้านค้าและชนิดสินค้า ตามเป้าหมายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อ ครม.อนุมัติแล้ว คาดสามารถแจกเงินได้ทันทีภายในเดือนกันยายนนี้

ส่วนที่เหลือ กลุ่มคนที่ลงทะเบียนในระบบไปแล้ว และไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง หลังผ่านเดือนกันยายนไปแล้ว จะแจกเป็นล็อตที่ 2 โดยใช้งบประมาณปี 2568 โดยจะแจก 5,000 บาทก่อน ถ้าระบบดิจิทัลทัน ก็แจกเป็นระบบดิจิทัล และส่วนที่เหลืออีก 5,000 บาท จ่ายภายในปี 67 หากรัฐบาลวางระบบดิจิทัลได้ทันอาจจะแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากไม่ทันอาจจะแจกเป็นเงินสดเช่นกัน ส่วนอีก 5,000 บาท จะพยายามแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ในปี 2568

‘อดิศร์ พฤกษ์พัฒนรักษ์’ ขึ้นแท่นผู้บริหาร ‘ดีเอสเอสพลัส’ ไทย มั่นใจ!! หนุนการเติบโตทางกลยุทธ์แก่หลากอุตฯ เมืองไทย

(9 ก.ย. 67) บริษัท ดีเอสเอสพลัส (dss+) ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการการดำเนินงานระดับโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แต่งตั้ง นายอดิศร์ พฤกษ์พัฒนรักษ์ เป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของประเทศไทย

การเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์นี้ เน้นย้ำถึงการมุ่งเน้นของ dss+ ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานที่สำคัญภายในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายของประเทศไทย อุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความกังวลทางธุรกิจหลายประการ รวมถึงการใช้กำลังการผลิตต่ำ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น นโยบายด้านกฎระเบียบและสิ่งแวดล้อม และการแข่งขันที่รุนแรงจากการนำเข้าที่ราคาถูกกว่า dss+ มีเป้าหมายที่จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยง ประสิทธิภาพการดำเนินงาน การปรับตัวทางธุรกิจ และความยั่งยืนเพื่อช่วยนำทางผ่านความซับซ้อนเหล่านี้

dss+ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ เช่น ปิโตรเลียมและก๊าซ เคมีภัณฑ์ พลังงานใหม่ การผลิตอุตสาหกรรม การเกษตร และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ในการดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพและการจัดการความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยให้บริษัทต่างๆ ปรับตัวเข้ากับสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

“การแต่งตั้งนายอดิศร์ เป็นการเสริมสร้างความมุ่งมั่นของเราต่อประเทศไทย ด้วยความเชี่ยวชาญลึกซึ้งและความเป็นผู้นำที่มีพลวัตของเขามีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเรายังคงขยายขีดความสามารถของเราและมอบคุณค่าอันยอดเยี่ยมให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมของเรา รวมถึงมีส่วนร่วมกับชุมชนในประเทศไทยโดยรวม”

ด้าน นายศรีนิวาสัน รามาบัดรัน กรรมการผู้จัดการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ dss+ กล่าว “การแต่งตั้งครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของเราสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและช่วยแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน เพื่อเร่งการเติบโตทั่วทั้งภูมิภาค”

ขณะที่นายอดิศร์ กล่าวเสริมด้วยว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เข้าร่วมกับ dss+ และมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางกลยุทธ์ในประเทศไทย ผมมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงและความเป็นเลิศในการดำเนินงาน รวมถึงทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าของเรา เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและรับรองว่าพวกเขาจะเติบโตได้ในตลาดที่ท้าทายแต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

ทั้งนี้ นายอดิศร์ เชื่อว่าจะนำประสบการณ์ความเป็นผู้นำและความเชี่ยวชาญด้านความเป็นเลิศในการดำเนินงานมากกว่าสามทศวรรษมาสู่ dss+ ตลอดเส้นทางอาชีพของเขา เขาได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในด้านการให้คำปรึกษาและการบริหารจัดการในบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง ซึ่งเขาได้ผลักดันการเติบโตและนวัตกรรมพลิกโฉมองค์กรอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ นายอดิศร์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริหาร ของบริษัท Bite Consulting Group และเคยดำรงตำแหน่งผู้นำหลายตำแหน่ง ในอาชีพการทำงานก่อนหน้านี้ รวมถึงที่ Johnson Controls, Inc. ในประเทศไทยและเวียดนาม Italthai Industrial และ Trane-Ingersoll Rand

'สุรพงษ์' เคาะ!! เซ็นสัญญารับเหมาช่วงสร้างรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ต.ค.นี้ ไม่รอผล 'ผ่าน-ไม่ผ่าน' มรดกโลก ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว

(9 ก.ย. 67) นายสุรพงษ์​ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า จากงานโยธาทั้งหมด 14 สัญญา ขณะนี้ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มีประเด็นสถานีอยุธยา ซึ่งแนวทางขณะนี้คือต้องเดินหน้าลงนามสัญญาก่อสร้างที่ได้ประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกไว้นานแล้ว โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ตนจะนำเรื่องนี้หารือกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ต.ค. 2567

ส่วนกรณีผลกระทบมรดกโลกช่วงสถานีอยุธยา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) เสร็จแล้ว และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดส่งรายงานให้ยูเนสโกตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว การปรับแบบและดำเนินการตามที่ยูเนสโกร้องขอเพื่อไม่ให้กระทบต่อความกังวล เช่น มีการปรับลดความสูงโครงสร้างจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตรแล้ว แนวเส้นทางอยุธยาสร้างบนเขตทางรถไฟ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ เป็นบับเบิลโซน

“ไม่ว่าผลมรดกโลกจะพิจารณาออกมาอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน โครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ก็ต้องก่อสร้างต่อไปตามเดิม ไม่มีการย้ายแนว เพราะจะทำให้งบประมาณเพิ่มและต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 10 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องตัดสินใจลงนามสัญญาก่อสร้าง เพราะไม่ว่าทางมรดกโลกจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องก่อสร้าง และไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนมรดกโลก เพื่อลดความเสี่ยงไปครบทุกอย่างแล้ว เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา และที่ต้องหารือกับนายกฯ ก่อนเพราะว่าเรื่องนี้มีหน่วยงานและกระทรวงอื่นเกี่ยวข้องด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว

สำหรับสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว ซึ่งในเงื่อนไขให้ก่อสร้างแนวเส้นทางก่อน เว้นสถานีไว้รอเรื่องมรดกโลก และเมื่อปรับลดขนาดสถานีลงจะทำให้ค่าก่อสร้างลดลงไปด้วย

ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ที่มีประเด็นโครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ในส่วนของรถไฟไทย-จีน ตกลงที่ปรับสเปกลดความเร็วจาก 250 กม./ชม. เป็น 160 กม./ชม. ในช่วงดังกล่าว ส่วนการก่อสร้างตามสัญญาทางอีอีซี โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเดินหน้าเร็ว ๆ นี้

ขณะที่สัญญา 3-2 (งานก่อสร้างอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง) ซึ่งเกิดอุบัติเหตุถล่มทรุดตัวระหว่างก่อสร้างนั้น งานอุโมงค์สัญญานี้มีการก่อสร้างเร็วกว่าแผน คือ ทำได้ 70% ขณะที่แผนกำหนด 50% ยังไม่น่ากังวล

นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากปัญหาทางการก่อสร้างแล้วยังพบว่างานบางสัญญาที่ล่าช้าเพราะผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะให้ รฟท. เชิญผู้รับเหมาเหล่านั้นมาพูดคุยหาทางแก้ปัญหา เช่น ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไรเพื่อให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุด ขณะนี้แผนงานและเป้าหมายงานโยธาทั้ง 14 สัญญาจะต้องแล้วเสร็จต้นปี 2571

“ให้ รฟท.ประชุมใหญ่งานโยธา 14 สัญญาเอามาอัปเดตแก้ปัญหาอุปสรรคให้หมด และจัดทำไทม์ไลน์งานโยธาให้แล้วเสร็จในเวลาเดียวกัน เพื่อให้วางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ แต่จากนี้ต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งหลังโยธาเสร็จระบบจะทดสอบประมาณ 1 ปี หรืออาจจะเร่งรัดกว่านั้น เป้าหมายอยากเปิดเฟสแรกกลางปี 2571

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท หลังแถลงนโยบายที่รัฐสภาเสร็จจะเร่งนำเสนอเข้า ครม.ได้ ตามแผนคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปี 2568 ระหว่างเดือน ก.พ. 68 ถึง ต.ค. 2568 (ระยะเวลา 9 เดือน) เริ่มก่อสร้างโครงการฯ เดือน พ.ย. 2568 คาดแผนงานใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการ พ.ย. 2574

นายสุรพงษ์กล่าวถึงแผนการเปิดและเปิดเดินรถว่า รฟท.ตั้งงบปี 68 ประมาณ 10 ล้านบาทเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบเดินรถที่เหมาะสม ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าเดือน มี.ค. 2568 จะเห็นภาพชัดเจนว่าจะเดินรถรูปแบบใดเหมาะสมที่สุด รวมถึงอัปเดตเทคโนโลยีให้เป็นปัจจุบันที่สุดด้วย เพราะรถไฟไทย-จีน ดีเลย์ จากแผนระบบและเทคโนโลยีที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เหมาะกับปัจจุบันแล้ว เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบ PPP เข้ามาบริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ -นครราชสีมา-หนองคาย เพราะ รฟท.มีข้อจำกัดทางด้านบุคลากรรถไฟ และประสบการณ์

สำหรับมติ ครม.เมื่อปี 2560 ที่ให้กระทรวงคมนาคมศึกษา องค์กรพิเศษเพื่อเดินรถ และระบบที่เป็นข้อตกลงผูกพันจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งบางเรื่องต้องไปต่อ แต่บางเรื่องอาจต้องอัปเดตเทคโนโลยี แต่ยังเป็นมาตรฐานจีน เพราะเส้นทางนี้ต้องเชื่อมต่อสปป.ลาว และจีนเป็นโครงข่าย

'รัฐบาล' เล็ง!! สร้าง 9 เกาะปากอ่าวไทยรับมือน้ำท่วม-เสริมสร้างเศรษฐกิจใหม่ ใช้แนวทางถมทะเล ก่อสร้างประตูกั้นน้ำขึ้น-ลง แบบ ‘เนเธอร์แลนด์โมเดล’

(9 ก.ย. 67) นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม ‘พรรคเพื่อไทย’ ขยายความถึงแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับโครงการถมทะเล บางขุนเทียน เพื่อสร้างเมืองใหม่ และแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า แนวคิดดังกล่าวมีเหตุผลยืนยันถึงความจำเป็นต้องผลักดันออกมาให้เร็ว เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว

โดยเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก เป็นเรื่องที่พูดคุยกันใน ’องค์การสหประชาชาติ’ (UN) มาหลายปีแล้ว โดยมีการประเมินถึงเรื่องที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ทั้งนี้มีโมเดลเบื้องต้นประเมินว่า จากภาวะโลกร้อนสูงสุด จะทำให้น้ำแข็งละลายสูงสุด ส่งผลถึงน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากถึง 5 – 6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทยถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าอ่าวไทยจะอยู่ที่จังหวัดลพบุรี, สระบุรีทางตอนเหนือ, อุทัยธานี ส่วนกรุงเทพฯ นนทบุรี, ปทุมธานี, สิงห์บุรี, อ่างทอง,  พระนครศรีอยุธยา, ปราจีนบุรี, ชลบุรีบางส่วน, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, และเพชรบุรีบางส่วน จะหายไป 

สำหรับทางเลือกในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม จากน้ำทะเลขึ้นสูง 5 – 6 เมตร จนท่วมพื้นที่ลุ่มภาคกลาง 16,000 ตารางกิโลเมตร อดีตรองนายกฯ มองถึงแนวทางต่าง ๆ ดังนี้...

แนวทางแรกคือ ‘การสร้างพนังกั้นน้ำ’ ซึ่งแนวทางนี้ถือเป็นการป้องกันในระยะสั้น 2 – 5 ปี คือการเสริมพนังกั้นน้ำ หรือเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง ต้องเร่งทำพร้อมกัน ด้วยการไปอุดรอยรั่วให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และต้องอยู่ในระดับเดียวกัน

แนวทางต่อมา คือ ‘การยกถนน’ เพราะพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด เช่น ถนนเพชรเกษม, ถนนสุขุมวิท พร้อมทั้งทำประตูน้ำในคลองสำคัญที่มีทางออกสู่ทะเล และต้องสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่บริเวณ 4 แม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง, และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ทั้งนี้ ยังคงมองว่าการยกถนนคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาถนนพระราม 2 สร้างมาเป็นสิบๆ ปีก็ยังไม่เสร็จ ถ้าเราจะยกถนนสองเส้นหลัก ตั้งแต่เพชรบุรียาวไปชลบุรี เพื่อหนีน้ำท่วมยิ่งโกลาหลมากๆ ไปอีก ส่วนพื้นที่ชายน้ำจากแนวถนนไปหาทะเลก็ต้องสูญเสียอยู่ดี

แนวทางสุดท้ายก็คือ ‘การทำเขื่อนในทะเล’ ซึ่งทางเทคนิคถือว่าทำได้ แต่คงใช้งบจำนวนมหาศาล ดังนั้นจึงมีแนวความคิดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การสร้างเกาะขึ้นมาในพื้นที่ปากอ่าวในปัจจุบัน ด้วยการ ‘ถมทะเล’

ในส่วนของแนวคิดการถมทะเลนั้น นายปลอดประสพ เผยว่า จะเป็นการสร้างเกาะขึ้นมา 9 เกาะ โดยมีระยะครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลช่วง ‘จังหวัดสมุทรสงคราม’ ไปถึง ‘จังหวัดชลบุรี’ เป็นระยะทางประมาณ 100-150 กิโลเมตร โดยตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า ‘สร้อยไข่มุกอ่าวไทย’ เพราะเกาะแต่ละเกาะจะมีลักษณะเหมือนไข่มุกร้อยกันเป็นเส้น ซึ่งการเชื่อมต่อระหว่างเกาะแต่ละเกาะ และจะก่อสร้างประตูน้ำเพื่อคอยกั้นน้ำขึ้น-ลง ซึ่งแนวคิดนี้ในปัจจุบันถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น ‘เนเธอร์แลนด์’ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในแต่ละเกาะจะถูกเชื่อมต่อด้วยถนนและรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อกันไปได้ตั้งแต่ ‘จังหวัดสมุทรสงคราม’ ถึง ‘จังหวัดชลบุรี’ หรือสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย โดยเกาะแรกอาจจะสร้างบริเวณ ‘บางขุนเทียน’ ก่อน เบื้องต้นจะมีพื้นที่ประมาณ 5x10 ตารางกิโลเมตร หรือ มีขนาดของเกา 50 ตารางกิโลเมตร ความยาวตามชายฝั่ง 10 กิโลเมตร 

เมื่อถมทะเลสร้างเกาะขึ้นมาได้แล้ว แต่ละเกาะนั้นจะต้องวางแผนการใช้พื้นที่ล่วงหน้าว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอะไร โดยจะมีฟังก์ชันต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางเกาะอาจจะใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อแทนท่าเรือเดิมที่มีอยู่ ทั้งกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หรืออาจจะให้โรงงานอุตสาหกรรมประมงไปตั้งบริเวณเกาะ หรือพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอร์ช ก็ได้ หรืออาจจะใช้เกาะใดเกาะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับชลบุรี สร้างสนามบินแห่งใหม่ ก็ได้เช่นกัน

‘นายปลอดประสพ’ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป หากแนวคิดนี้รัฐบาลหยิบยกไปใช้ ก็อาจเริ่มต้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อพิจารณาแนวคิดที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทร มาพัฒนา เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top