Monday, 28 April 2025
ECONBIZ NEWS

เปิดงาน TAIWAN EXPO 2024 ยกขบวน 170 บริษัทชั้นนำ ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

(21 พ.ย.67) กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน เปิดตัว TAIWAN EXPO 2024 in Thailand อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด 'Advancing Smart New Southbound' โดยงานนี้รวมบริษัทชั้นนำจากไต้หวันกว่า 170 บริษัท แบ่งเป็น 10 โซน และ 6 พื้นที่จัดแสดงหลัก ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น Smart Manufacturing, Smart Medical, Smart Lifestyle, Circular Economy และ Culture & Tourism  

ภายในงานยังมีการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และโซน TAIWAN SELECT ซึ่งนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น การทำโคมไฟ 12 นักษัตรแบบไต้หวัน และการย้อมสีธรรมชาติจากพืชพื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้เข้าชมงาน  

นางซินเทีย เจียง อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ สภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ เธอเน้นว่าไต้หวันมีความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ การผลิตอัจฉริยะ การดูแลสุขภาพอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย พร้อมสร้างโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  

นายจาง จวิ้น ฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยในไต้หวันเพิ่มขึ้น 4 เท่าในรอบ 10 ปี ขณะที่นักศึกษาไต้หวันในไทยเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า พร้อมย้ำถึงศักยภาพของทั้งสองประเทศในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเพื่ออนาคตที่ชาญฉลาดและยั่งยืน  

นายเจมส์ ซี. เฮฟ. ฮวง ประธานสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (TAITRA) กล่าวว่า TAIWAN EXPO เป็นเวทีสำคัญในการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปีนี้มุ่งเน้นด้าน Smart Manufacturing และ Circular Economy ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงพัฒนาการรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน  

ในด้าน Smart Medical โรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวัน เช่น Changhua Christian Hospital และ Taipei Wanfang Hospital ได้นำเสนอโซลูชันการแพทย์อัจฉริยะ พร้อมจำลองห้องผู้ป่วยอัจฉริยะที่สะท้อนถึงอนาคตของการดูแลสุขภาพ  

TAIWAN EXPO 2024 มีกิจกรรมพิเศษ อาทิ การสัมมนาด้าน Smart Healthcare และ Circular Economy รวมถึงกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเวิร์กช็อปพิเศษ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและไทย  

งาน TAIWAN EXPO 2024 in Thailand จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!

'ดร. เฉลิมชัย' แถลงในนามประเทศไทยเวที COP29 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขีดความสามารถรับมือโลกเดือดให้กับประเทศกำลังพัฒนา 


ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งชแวดล้อม (รมว.ทส.) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน 

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมการประชุมฯ


ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก แต่ยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030 ให้ได้ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคม การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเกษตร โดยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งเร่งดำเนินงานไปสู่ NDC 3.0 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2035 จากปีฐาน 2019  มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจากค่าการปล่อยจริง ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการลงทุนสีเขียว รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037 


ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติ ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง และที่สำคัญได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกระดับอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการผลักดันกลไกความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชนและประชาชน 

โดยการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 2024  เพื่อเสริมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างสมดุล ทั้งด้านกลไกราคาคาร์บอน และกองทุนการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน 


สำหรับการประชุม COP 29 นี้ ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ข้อตัดสินใจในการระดมเงินตามเป้าหมายทางการเงินใหม่ รวมถึงจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แนวทางและข้อกำหนดในการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนมีศักยภาพในการเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม และเชื่อว่าห้วงเวลานี้จะเป็นห้วงเวลาสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของความตกลงปารีสได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ ที่จะร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ผลิตชุดโซลาร์รูฟติดบ้านราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางขายปีหน้า หวังช่วยประชาชนพ้นบ่วงค่าไฟแพง

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ก.พลังงาน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผลิตต้นแบบอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางจำหน่ายปีหน้า ปลดภาระค่าไฟประชาชน 

เมื่อวันที่ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  เพื่อเยี่ยมชมการทดสอบเครื่อง Inverter ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ที่เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ โดยมีคณะผู้บริหาร สวทช.ให้การต้อนรับ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมาตรวจราชการครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามที่ตนได้เคยกล่าวไว้ 2 เรื่อง  นั่นคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก  เพราะถึงแม้กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท โดยไม่ได้ขยับขึ้นมาตลอด แต่ตนเข้าใจว่าปัญหาค่าไฟก็ยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟไปได้มาก

“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เรียกกันว่า โซล่า รูฟ  ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้  โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน  โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพี่น้องประชาชนในราคาถูกในปี  2568 เพื่อช่วยลดภาระจากปัญหาค่าไฟแพงอีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่ผมได้พูดไป  ผมทำจริงทุกเรื่อง กระทรวงพลังงานภายใต้การดำเนินนโยบายตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของผม พูดจริง ทำจริงทุกเรื่อง และพร้อมทำให้เห็น ผมมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมี อุปกรณ์มี  พี่น้องประชาชนจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภาระค่าไฟที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว

ททท. ผนึก EVA Air ขยายความร่วมมือต่อเนื่อง หนุนไทยสู่จุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

'ศศิกานต์' เผย 'ททท. ร่วมกับ EVA Air ขยายความร่วมมือ 4 ปี' เดินหน้าผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้ายกระดับเสริมมาตรการขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ EVA Air ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี กระตุ้นตลาดหลัก ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า การขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง ททท. และ EVA Air ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือครั้งก่อนในปี พ.ศ.2566 ด้วยศักยภาพของพันธมิตรสายการบิน EVA Air ที่มีเครือข่ายและบริการที่ครอบคลุมกลุ่มตลาดเป้าหมายทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อเมริกาเหนือและยุโรป สามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายังประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายและเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถนำเสนอเสน่ห์ไทย วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และมิตรไมตรีอันอบอุ่นของคนไทยไปทั่วโลก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว ขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

“ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของ EVA Air และ ททท. จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและยกระดับประสบการณ์การเดินทาง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพและกลุ่มตลาดใหม่” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ หารือผู้บริหาร Nokia ชวนร่วมพัฒนา 5G Application - จัดตั้ง Nokia Innovation Center ส่งเสริมทักษะแรงงานดิจิทัลในไทย 

เมื่อวันที่ (19 พ.ย.67) ตามเวลาสาธารณรัฐฟินแลนด์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงดีอี และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองอำนวยการใหญ่ พร้อมคณะทำงานเข้าเยี่ยมชม Nokia Executive Experience Center ศูนย์แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5G/6G, IoT, Private Wireless, Cloud, Network Automation ณ เมืองเฮลซิงกิ โดยมี Mr. Karol Mattila, Head of Government Relations, Nokia ให้การต้อนรับ

โดย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้รับฟังการบรรยายภารกิจการดำเนินงานของ Nokia Executive Experience Center และรับชม Tech Showcases ต่าง ๆ โดย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้เชิญชวน Nokia ร่วมพัฒนา หรือมีส่วนในการร่วมลงทุน 5G Application ในไทย และจัดตั้ง Nokia Innovation Center ในพื้นที่ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่แรงงานและนักศึกษา พร้อมระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และมีนโยบาย Go Cloud First ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและรัฐสามารถเข้าถึงคลาวด์ มีการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจัดทำหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับทักษะดิจิทัลแก่กำลังคนและบุคลากรของประเทศ

จากนั้นนายประเสริฐ พร้อมด้วย นางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฟินแลนด์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Ville Tavio, Minister for Foreign Trade and Development ณ Ministry for Foreign Affairs of Finland พร้อมหารือแนวทางการสานต่อความร่วมมือการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล และการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย

ทั้งนี้มีการหารือประเด็นการพิจารณาต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ลงนามไว้ระหว่าง กระทรวงดีอี กับ The Ministry of Transport and Communications ฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และมีการต่ออายุเมื่อปี 2565 แต่ปัจจุบัน MOU ดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเดิมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูล และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความประสงค์ให้เกิดการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว และจะเพิ่มเติมเนื้อหาด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติของไทย อาทิ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การยกระดับระบบนิเวศดิจิทัลสตาร์ทอัพ และการเชิญชวนให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยกรณีดังกล่าว Mr. Tavio เห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือต่อเนื่อง พร้อมแสดงความเห็นในประเด็นการสนับสนุนการลงทุนว่า นอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์อย่าง Nokia ที่มีการลงทุนและดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยแล้ว ยังมีการลงทุนอื่น เช่น การตั้งฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของ Salo Tech (Thailand) Ltd. บริษัทโซลาร์เซลล์สัญชาติฟินแลนด์ที่เข้ามาลงทุนและดำเนินกิจการในจังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและฟินแลนด์ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาด้านพลังงานสะอาด และเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai – EU FTA) ในด้านเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะช่วยรองรับและผลักดันนโยบายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของกระทรวงอีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ

‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว. พลังงาน พร้อม ‘เจือ ราชสีห์’ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา รับฟังปัญหากำจัดและแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา นายสมโภชน์ โชติชูช่วง นายปรีชา สุขเกษม และคณะได้เดินทางมารับฟังและดูโรงงานกำจัดและแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้า บริษัท จีเดค จำกัด ซึ่งได้สัมปทานจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานสั่งหยุดดำเนินงานเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง 

“ทางออกของปัญหาเรื่องนี้คือการให้เทศบาลนครหาดใหญ่สั่งเลิกสัญญากับทางบริษัท จีเดด จำกัดซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญาเพื่อที่จะให้รายใหม่เข้ามาดำเนินการจัดการขยะร่วมกับเทศบาลต่อไป” นายพีระพันธุ์ กล่าว

กรมธุรกิจพลังงาน ลงนามร่วม กพพ. -กฟน.-กฟภ. ผสานกำลังกำกับดูแลสถานีชาร์จไฟฟ้ารถอีวี

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จับมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

(20 พ.ย. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นางสาวภัทรา สุวรรณเดช รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) เรื่อง การกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานการอนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายสราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน 

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางหน่วยงานทั้ง 4 จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการอนุมัติ อนุญาต ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัย และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ

‘เอกนัฏ’ ยกทีมบุกญี่ปุ่น ถก 2 กระทรวง - 7 เอกชนใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นลงทุนยานยนต์ - พลังงานสะอาดในไทย

‘เอกนัฏ’ เปิดทริปโรดโชว์แรกรับปีงบประมาณ 2568 หวังดึงการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมหารือ METI และ MOEJ ตอกย้ำศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของไทย และนัดหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย

(20 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-24 พฤศจิกายน 2567 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว (Tokyo) พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานสำคัญของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (MOEJ) เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า มาสด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ฮอนด้า อีซูซุ และมูราตะ เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

“การเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของทั้งสองประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ถึงโอกาสทางธุรกิจ การลงทุน และความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทยให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ - หาพันธมิตรที่เหมาะสม เสริมความแข็งแกร่งบริษัทในเครือทั้งธุรกิจต้นน้ำ - ปลายน้ำ

ปตท. เร่งปรับโครงสร้างรับมือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุคปัจจุบัน จ้างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในบริษัทลูกเกี่ยวกับปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมทั้งหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต คาดแนวทางปรับโครงสร้างจะเสร็จในเดือน ธ.ค. 2567 นี้

เมื่อวันที่ (19 พ.ย. 67) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. ได้ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการเลือกพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนในบริษัทลูกของ ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักคือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้คาดว่าแนวทางการปรับโครงสร้างจะเสร็จประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ และมีความชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2568 ส่วนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2568 ปตท. จะกลับมาเน้นในธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) และ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจต้นน้ำที่ยังมีการเติบโตได้ดี และเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization)

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คาดว่าในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2567 โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้การดำเนินงานของ ปตท.สผ. คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อผลประกอบการ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าจะยังทรงตัว โดยได้ผ่านจุดต่ำสุดของธุรกิจขาลงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 ไปแล้ว ส่วนธุรกิจโรงกลั่นฯ จะยังคงมีกำไรต่ำอยู่ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้น ยังต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป

“ปี 2568 ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้ ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ขณะเดียวกับจะรักษาการทำกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน”

ส่วนแผนลงทุน 5 ปี ของ ปตท.(ปี 2568-2572) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการปรับพอร์ตธุรกิจใหม่ของปตท. คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ปตท.ได้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวงเงินลงทุน 5 ปี  ได้ภายในกลางเดือน ธ.ค. 2567 นี้ โดยเบื้องต้นงบลงทุนจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่ ปตท.สผ. จะต้องเร่งขยายการลงทุนหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม และธุรกิจก๊าซฯ ที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯในอนาคต เป็นต้น

ด้านการขับเคลื่อนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงของโครงการฯ นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งทีมงานเข้าไปให้คำแนะนำ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมายให้รอบคอบ และ ไทยออยล์ ปัจจุบันก็ยังประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกำไรที่ดี มีสถานะการเงินที่พร้อมจะเดินหน้าการลงทุนต่อ ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นโครงการนี้จะต้องเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แต่จะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไปนั้น ทางไทยออยล์ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป

‘คงกระพัน’ เผยผลประกอบการ ปตท. 9 เดือน ยังแข็งแกร่ง เดินหน้ารุกธุรกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเติบโตรับกระแสพลังงานโลก

(19 พ.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% แบ่งเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

ทั้งนี้ ซีอีโอ ปตท. ยังได้เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก  ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All 

พร้อมทั้ง ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกจากพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางพลังงานแล้ว ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย

“ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.คงกระพัน ยังได้กล่าวถึงธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group)  ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติไต้หวัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศไทย ด้วยว่า ปัจจุบันโรงงานได้หยุดดำเนินการไปก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เนื่องจากมีความต้องการให้พันมิตรดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญ โดยหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง

ก่อนหน้านี้ PTT ลงนามความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group) โดยอนุมัติให้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อย PTT จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn)ภายใต้บริษัท JV ชื่อ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) โดย Arun Plus ถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top