Wednesday, 14 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ปิดประตู ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำชัด ด่านสุดท้าย เหลือแค่กสทช. ‘กล้า’ ฟันธง

"ศิริกัญญา" ส.ส.ก้าวไกล ชี้ แม้ความเห็นกฤษฎีกาจะคลุมเครือ แต่ยังตีความได้ว่าอำนาจพิจารณาอนุญาตควบรวมทรู-ดีแทค อยู่ในมือ กสทช. เต็มร้อย พบพิรุธที่ปรึกษาอิสระ ทำรายงานศึกษามิชอบด้วยกฎหมาย ขาดความเป็นกลาง

วันที่ (21 ก.ย. 65) กรณีที่มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการตีความอำนาจ กสทช. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งหลายสำนักข่าวได้ให้ข่าวไปในทิศทางว่า กสทช. คกก.กฤษฎีกา ปลดล็อกให้การควบรวมทรู-ดีแทค ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นไปในทิศทางตรงข้ามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า อำนาจในการอนุญาตควบรวมกิจการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ กสทช. อย่างเต็มที่

“เอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ ตีความแบบที่ต้องตีความอีก และเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ทำให้คนอ่านสับสนและต้องมานั่งตีความกันหลายชั้นว่าตกลง กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่คำถามของกสทช.นั้นตรงไปตรงมา”

ถึงจะกล่าวได้คลุมเครือ แต่เอกสารฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 เรื่อง

หนึ่ง คือคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกอย่างชัดเจนว่า เรื่องส่วนใหญ่ที่ กสทช. ถามไปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้ความเห็นในส่วนอำนาจหน้าที่ กสทช. อันเป็นองค์กรอิสระได้

สอง คณะกรรมการกฤษฎีกายังเขียนอย่างชัดเจนว่าเพื่อกำกับดูแลมิให้การรวมธุรกิจมีผลเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันจึงให้อำนาจ กสทช. กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะตามประกาศ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อ้างถึง ข้อ 8 ของประกาศปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ส่วนหนึ่งของการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า

“...เพราะในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 กสทช.ก็มีอำนาจอนุญาตตามข้อ 8 นั้นได้อยู่แล้ว”

เนื้อความในข้อ 8 ตามประกาศปี 2549 พูดถึงการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบ ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.

M-Flow ยอดใช้ทะลุ 17 ล้านเที่ยว ‘ศักดิ์สยาม’ เผยปี 67 เปิดครบทุกด่าน

‘ศักดิ์สยาม’ ปลื้มระบบ M-Flow ยอดใช้ทะลุ 17 ล้านเที่ยวประสิทธิภาพตามเป้าแก้รถติดหน้าด่าน ตั้งเป้าปี 67 ใช้ได้ครบทุกด่าน ‘มอเตอร์เวย์ ทางด่วน’ ขณะที่ยอดสมาชิกเพิ่มต่อเนื่องเกือบ 4 แสนบัญชี มีรถใช้สัดส่วนกว่า 32% ต่อวัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M- Flow) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (วงแหวนตะวันออก) ที่ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 ซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรว่า หลังจากที่มีปัญหาการใช้งานในช่วงแรก ซึ่งเกิดจากการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ยังอาจไม่ทั่วถึง ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงได้แก้ไขปัญหา โดยยกเว้นค่าปรับในช่วง 1 เดือน ในขณะที่พยายามสร้างการรับรู้ให้ประชาชนผ่านทุกช่องทาง โดยปัจจุบันการใช้งานมีประสิทธิภาพและมีปัญหาลดลงมาก โดยมีรถเข้าใช้ระบบ M- Flow สะสมไปแล้วกว่า 17 ล้านเที่ยว 

ซึ่งตามแผนงานจะขยายการใช้ M- Flow ให้ครอบคลุมครบทุกด่านทุกเส้นทางมอเตอร์เวย์และทางพิเศษในปี 2567 โดยจะทำให้มีการชำระค่าผ่านทาง M-Flow ร่วมกับแบบเก่า คือ ช่องเงินสด M-pass/ Easy-pass แต่จะลดจำนวนช่องในแต่ละด่านลง โดยตามผลศึกษาระบบ M-pass/ Easy-pass มีขีดความสามารถรองรับ 500 คัน/1 ชม. ส่วน M- Flow นั้นจะเร็วกว่า  5 เท่า หรือ 2,500 คัน/ชม. 

นายธนศักดิ์ วงศ์ธนากิจเจริญ ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า จำนวนสมาชิกระบบ M-Flow เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดให้บริการ M-Flow ในเดือน ก.พ. 2565 มีผู้ใช้ระบบ 18.90% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 57,031 คัน/วัน

เดือน มี.ค. เพิ่มเป็น 22.82% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 60,456 คัน/วัน, เดือน เม.ย. 26.09% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 73,483 คัน/วัน, เดือน พ.ค. 28.44% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 80,170 คัน/วัน

เดือน มิ.ย. 30.01% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 82.890 คัน/วัน, เดือน ก.ค. 31.34% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 87,224 คัน/วัน, เดือน ส.ค. 2565 ผู้ใช้ M-Flow 32.90% จากปริมาณจราจรเฉลี่ย 92,133 คัน/วัน

ข้อมูลถึงวันที่ 18 ส.ค. 2565 มีสมาชิกระบบ M-Flow จำนวนทั้งหมด 396,760 ราย โดยมีจำนวนรถที่ผูกเข้าระบบรวมทั้งหมด 467,007 คัน 

ขณะที่ข้อมูลปริมาณจราจรสะสมที่ใช้ระบบ M-Flow ตั้งแต่เปิดให้บริการถึงปัจจุบันรวม 17,470,850 รายการ หรือเฉลี่ยวันละ 92,133 คัน/วัน

ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้บริการในระบบ M-Flow ยังไม่ชำระค่าผ่านทาง พบว่ามีประมาณ 3-4% ซึ่งเรื่องค่าผ่านทางค้างชำระนี้ผู้รับจ้างงานบริหารจัดการ M-Flow ได้ดำเนินการชดเชยให้กรมทางหลวงตามสัญญา โดยหักจากค่าจ้างที่ผู้รับจ้างได้รับในแต่ละเดือน ดังนั้นทำให้กรมทางหลวงได้รับเงินค่าผ่านทางจากการใช้บริการ M-FLOW ครบถ้วน ไม่มีความเสี่ยงเรื่องหนี้ค้างชำระใด ๆ

สำหรับกรณีผู้ที่ยังไม่ชำระค่าผ่านทางนั้น ได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามทวงเงิน ตามระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดไว้

‘เกาะลังกาวี’ เหงา!! นักท่องเที่ยวลดฮวบ หลังชาวมาเลย์แห่เที่ยวไทยวันหยุดยาว

เว็บไซต์ข่าวในมาเลเซีย เผยผลกระทบกระทบการท่องเที่ยวเกาะลังกาวีสุดเงียบเหงานักท่องเที่ยวลดเกือบครึ่ง หลังชาวมาเลเซียแห่เที่ยวไทยช่วงหยุดยาว ด้านชาวเน็ตมาเลย์สะท้อนกลับ ค่าใช้จ่ายเมืองไทยถูกกว่า และน่าสนใจ

วันนี้ (20 ก.ย.) บนโซเชียลฯ แชร์และวิจารณ์บทวิเคราะห์หัวข้อ "Trend cuti ke Thailand jejas pelancongan Langkawi" หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า เทรนด์การท่องเที่ยววันหยุดในประเทศไทย กระทบต่อการท่องเที่ยวเกาะลังกาวี จากเว็บไซต์ข่าวที่ชื่อว่า Utusan Malaysia (อุตูซัน มาเลเซีย) ซึ่งเขียนโดย จามิละห์ อับดุลเลาะห์ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา

ในตอนหนึ่งระบุว่า การที่ชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยอย่างคึกคักอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งในลังกาวี เมื่อมีผู้เข้าพักรีสอร์ตน้อยลง จากการเปิดเผยของนายไซนูดิน กาดีร์ ประธานสมาคมการท่องเที่ยวลังกาวี ระบุว่า ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย ลดลง 48.9% ในช่วงวันชาติและวันมาเลเซียปีนี้

ขณะที่เฟซบุ๊ก Utusan Online ได้มีชาวเน็ตมาเลเซียออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นภาษามาเลย์จำนวนมาก คัดเฉพาะความเห็นที่มีผู้แสดงความรู้สึกมากที่สุด แปลแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้

"แม้ว่าเกาะจะปิดก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ ลังกาวีไม่ได้เยี่ยมยอดขนาดนั้น ยกเว้นโรตีจาไน (โรตีที่ม้วนเป็นก้อน) ชิ้นละ 6 ริงกิต (ประมาณ 49 บาท)" (761 ความรู้สึก)

"หากคุณพกเงิน 500 ริงกิต (ประมาณ 4 พันบาท) ไปประเทศไทย อยู่ได้ 3-4 วัน แต่ที่นี่ใช้เงินวันหนึ่งมากกว่า 500 ริงกิต" (483 ความรู้สึก)

"ลังกาวีมีสถานที่ท่องเที่ยวและแพกเกจท่องเที่ยววันหยุดมากมาย ไปมา 3-4 ครั้งก็มีปัญหา แต่มีชาวมาเลย์หลายคนที่เบื่อหน่ายกับความเห็นแก่ได้ของพ่อค้าที่นั่น ที่หวังค้ากำไรเกินควร ไม่ได้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระยะยาว สถานการณ์ติดขัดยังเป็นที่แพร่หลายในช่วงฤดูท่องเที่ยว ตอนนี้บางทีก็กังวลใจเพราะมีนักท่องเที่ยวน้อยลง แต่ท่าทีแบบเดียวกันจะปรากฏขึ้นแน่นอนเมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มล้นลังกาวี เลยเล่าให้ฟังเพื่อสะท้อนปัญหา ไม่ได้ร้องเรียน" (416 ความรู้สึก)

"ลังกาวีไปหมดแล้ว ฉันไม่อยากไปที่นั่น ฉันอยากสำรวจสถานที่ใหม่ๆ" (282 ความรู้สึก)

"การท่องเที่ยวของเขา (ประเทศไทย) น่าสนใจและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น" (258 ความรู้สึก)

"หาดใหญ่อยู่นอกประเทศ ลังกาวีในประเทศ แม้เที่ยวบินจะเต็ม เรือเฟอร์รีจะแออัด แต่หลายคนก็กระทบต่อค่าอาหาร ค่าเช่ารถก็อีก" (256 ความรู้สึก)

"แพง ประเทศควรให้ความสำคัญต่อประชาชนของตัวเอง ราคาแพงไปต่างประเทศดีกว่า" (219 ความรู้สึก)

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันมาเลเซีย ได้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมายัง จ.สงขลาอย่างคึกคัก หลังซบเซาจากสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. มีนักท่องเที่ยว 402 คน เดินทางด้วยรถไฟขบวนพิเศษที่ชื่อว่า My Sawadee (เอ็มวาย สวัสดี) ของการรถไฟมาลายา (KTMB) เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ชุมทางหาดใหญ่ เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่หาดใหญ่ 3 วัน 2 คืน ก่อนจะกลับกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อก่อนเที่ยงวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา

ศบค. เล็งถกเพิ่มวันพำนักชาวต่างชาติ กระตุ้นท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน หลังยอดติดโควิดลด

รัฐบาลเผยยอดผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตจาก ‘โควิด’ อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ตอกย้ำประสิทธิภาพวัคซีนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เผย ‘ศบค.’ ประชุมประเมินสถานการณ์ 23 ก.ย.นี้ เล็งเพิ่มวันพำนักชาวต่างชาติ กระตุ้นท่องเที่ยวไฮซีซัน

20 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตที่ลดลงและทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะในรอบประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือระหว่างวันที่ 12 - 20 ก.ย. 65 ส่วนใหญ่ยอดผู้ป่วยใหม่อยู่ในระดับต่ำกว่า 1,000 รายต่อวัน มีเพียงวันที่ 14 - 15 ก.ย. ที่เกินกว่าระดับดังกล่าว (1,321 ราย และ 1,125 รายตามลำดับ) ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 10-15 คนต่อวัน  

สำหรับผู้ป่วยใหม่ ณ วันที่ 20 ก.ย. 65 อยู่ที่ 774 ราย จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) จะผ่อนคลายมาตรการทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเปิดประเทศเต็มรูปแบบมาตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนที่เป็นเกราะป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในระยะต่อไปจะยังมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงไฮซีซัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 - 31 มี.ค. 66 ศบค. ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการพำนักชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยให้ผู้ที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศไทย (ฟรี วีซ่า) เดิมที่เคยพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 30 วัน จะขยายเป็นไม่เกิน 45 วัน ส่วนผู้ที่ได้รับ Visa on Arrival จากเดิมที่พำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 15 วัน จะขยายเป็นไม่เกิน 30 วัน และในวันที่ 23 ก.ย. 65 นี้ ศบค. ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในรวม และพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อไป

บีทีเอสสยายปีก!! จับมือพันธมิตรสร้างรฟฟ. ข้ามพรมแดน 'สิงคโปร์-มาเลเซีย' เน้น 'สะดวก-ปลอดภัย' ตอบโจทย์ผู้โดยสาร ทั้งในประเทศ-ตปท.

'บีทีเอส' ร่วมทุนพันธมิตรมาเลเซีย ลุย รถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมไฮสปีด ข้ามพรมแดนจากสิงคโปร์มายังมาเลเซีย ปักธงเป็นผู้ให้บริการทุกรูปแบบ ตอบโจทย์การเดินทางผู้โดยสาร ทั้งพื้นที่ในประเทศ-ต่างประเทศ เน้นสะดวก-ปลอดภัย

(20 ก.ย. 65) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และนายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MATCH พร้อมคณะผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าพบ Dato’ Avinderjit Singh A/L Harjit Singh และ Dato’ Siew Ka Wei ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงติดตามศึกษาโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transport System) ที่จะเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง (RTS Link) ข้ามพรมแดนจากประเทศสิงคโปร์มายังเมือง Johor Bahru ในสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างดำเนินโครงการ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชนภายใต้แนวคิด Transit-Oriented Development ที่เมือง Johor Bahru สหพันธรัฐมาเลเซีย

บิ๊กป้อม ตรวจสะพานเชื่อม 'ไทย - มาเลเซีย' แห่งที่ 2 เพิ่มจุดสัญจร-ส่งเสริมการขยายตัวศก.ทั้ง 2 ประเทศ

พล.อ.ประวิตร ลงพื้นที่ 'สุไหงโก-ลก' ตรวจจุดก่อสร้างสะพานเชื่อม 'ไทย - มาเลเซีย' แห่งที่ 2 ยกระดับความสัมพันธ์/ส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดน เร่งรัดแก้น้ำท่วม พื้นที่ชุมชน

(19 ก.ย. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี / ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการ จ.นราธิวาส โดยในช่วงเช้าได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ พร้อมมอบนโยบายที่สำคัญแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม ม.นราธิวาสราชนครินทร์  

สำหรับในช่วงบ่าย พล.อ.ประวิตร และคณะได้เดินทางต่อไปยัง ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปและตรวจจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 บริเวณ อ.สุไหงโก-ลก กับเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน โดยทำการสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์และเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจรผ่านแดน ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ 

จากนั้นได้รับฟังความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม และการระบายน้ำ ในพื้นที่ชุมชนของ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งประสบปัญหา น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุจากการระบายน้ำของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่ไม่สามารถดำเนินการระบายได้ทัน เนื่องจากมีน้ำหลากไหลเป็นปริมาณมาก ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

‘สุริยะ’ เผย ก.อุตฯ เร่งผลักดันอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ มุ่งสู่มาตรฐาน IEC ลดข้อกีดกันทางการค้าผู้ส่งออก

“ก.อุตฯ” เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ตาม IEC ลดข้อกีดกันทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission – IEC)  ที่จะประกาศใช้ต้นปี 2566 โดยยังคงให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อน BCG Economy Model และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัลทัดเทียมกับประชาคมโลกได้ โดยที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องไม่เสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศด้วย” นายสุริยะฯ กล่าว

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคทางไฟฟ้าระหว่างประเทศ (บอร์ด กมฟท.) กล่าวว่า บอร์ด กมฟท. ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและพัฒนางานมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ IEC เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งในการประชุมประจำเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ให้รองรับสังคมดิจิทัลที่มีความปลอดภัย รวมทั้งพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบรับรองสาขาอัจฉริยะ (SMART) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย และในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2566 จะเชิญผู้แทนจาก IEC มานำเสนอแผนยุทธศาสตร์ของ IEC เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยด้วย

รัฐฟื้นท่องเที่ยวไทยแตะ 80% เหมือนก่อนโควิดผุด คาดปี’ 66 โกยรายได้ 2.38 ลลบ.

(19 ก.ย. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า... “รัฐบาลวางเป้าหมายสนับสนุนการท่องเที่ยว

โดยให้ภาพรวมปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยกลับมาอยู่ในสัดส่วนเป็น 80% เหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19 (ของปี 2562) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท และเชื่อว่าหากเป็นไปตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) คาดว่าจะมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีที่สายการบินมีการปรับแผนและการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 จนถึงต้นปีหน้า หรือช่วง High Season”

โดยจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าไตรมาส 4 ในเดือน ตุลาคม - ธันวาคม จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคนต่อเดือน และ ททท.จะจับมือกับสายการบินพันธมิตรผลักดันการท่องเที่ยวช่วง High Season ผ่านการส่งเสริมการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

‘ชัยวุฒิ’ หนุนไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้าปี 70 เพิ่มมูลค่าแตะ 30% ของ GDP

รมว.ดีอีเอส โชว์วิสัยทัศน์พัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ พร้อมเดินหน้าหนุนไทย สู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตั้งเป้า เพิ่มมูลค่าแตะ 30% ของ GDP ภายในปี 70

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Huawei Connect 2022 Bangkok หัวข้อ “มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เฟื่องฟู” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้เกิดการหยุดชะงักในระบบเศรษฐกิจส่งผลกระทบในด้านของคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เทียบเท่าในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด เป็นสิ่งที่ทุกประเทศกำลังทำรวมถึงประเทศไทยก็พร้อมที่จะส่งเสริมกำลังของไทยเพื่อก้าวสู่อนาคตในฟื้นฟูกับเส้นทางที่มีความมั่นคงมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มต่าง ๆ ประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อไปตามรูปแบบการเติบโต และรูปแบบการเติบโตที่นำโดยนวัตกรรม และตั้งอยู่บนองค์ความรู้ ท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาสังคมได้เกิดความก้าวหน้าอย่างมีนับสำคัญ เกิดการรุกตลาดในเทคโนโลยีดิจิทัลในส่วนที่เป็นแอพพลิเคชัน เช่น โมบายเพย์เมนต์ การค้าอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ชยายตัวมากกว่า 120% ถือเป็นบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ในปี 64 อัตราการเติบโตรายปีของเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ จะสูงแตะ 44% และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์จะขยายตัวมากถึง 26% รวมถึงอุตสาหกรรม Big Data จะขยายตัวได้ 4% ขณะเดียวกันมีหลายแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย อาทิ

1. การเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ ซึ่งการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นหลักประกันว่าจะสามารถฟื้นตัวและพัฒนาต่อไปในด้านของเศรษฐกิจได้

2. แนวคิดหรือนโยบาย 4.0 รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 จะกลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของโลกในด้านอุตสาหกรรมและดิจิทัลอัจฉริยะ รวมถึงการใช้นวัตกรรมดิจิทัลต่าง ๆ ที่จะสร้างโอกาสและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย

3. ไทยได้กำหนดพันธกรณีคือไทยต้องการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเศรษฐกิจรวบรวมอุตสาหกรรมที่ใช้คาร์บอนต่ำ รวมถึงแนวคิด BCG ของไทยก็จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าต่อไป

ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสภาพแวดล้อมภายนอกต่าง ๆ ประเทศไทยได้มีการทำมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลผ่านโครงการที่ริเริ่มด้านนโยบาย โดยกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หรือดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งจะเป็นเสาหลักในการที่จะบรรลุความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ จะเป็นการกระตุ้นการลงทุนและขับเคลื่อนความเติบโตเศรษฐกิจด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2570 มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลจะขยายตัวสูงถึง 30% ของจีดีพีประเทศไทย และความสามารถในการแข่งขันของไทยตามอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก หรือ world digital competitiveness ranking มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ใน 30 อันดับแรก และที่สำคัญที่สุดประเทศไทยเป็นเว้นทางหลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลในภูมิภาคอาเซียนตอนเหนือ และศักยภาพการทำงานข้ามพรมแดน การวางเคเบิลใต้สมุทร และการจัดตั้งศูนย์ Data center ขนาดใหญ่นั้น จะยังคงมีการพัฒนาต่อไปตลอดทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศ

นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า รัฐได้เสริมความแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคน และการพัฒนาที่มีความมั่งคั่ง เช่น กระทรวงได้จัดตั้ง Data center และบริการคลาวด์ที่จะสนับสนุนนวัตกรรมและทำให้รัฐสามารถมอบบริการสาธารณะที่มีความเท่สเทียมได้ นอกจากนี้ สามารถดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมได้ด้วยเช่นกัน เป็นต้น

ด้วยพื้นฐานระดับสูงที่มีอยู่ในวันนี้และการใช้เทคโนโลยีประมวลผลต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และทำให้อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัล เช่น ยุคสมัยของเว็บ 3.0 ธุรกรรมต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนท์อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจดิจิทัลคอนเทนท์แบงก์เสมือนจริง ๆ เมตาเวิร์ส เป็นต้น จะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไทยมีความยินดีที่จะเห็นว่าการดำเนินการเหล่านี้ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย จึงมีเป้าหมายจะบรรลุการให้บริการอินเตอร์เน็ตไฮสปีดที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมด้วยราคาสมเห็นสมผล ขณะเดียวกันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เงินสำรองฯ ไทย มากเป็นอันดับ 12 ของโลก ตลาดการเงินไทยยังแข็งแกร่ง - มีเสถียรภาพ 

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ

นายอนุชา กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯ ที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นเหตุการณ์ปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง มูลค่าเงินสำรองฯ ก็จะผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top