Friday, 25 April 2025
ECONBIZ NEWS

JSP ผนึก CDIP ผลักดันอุตสาหกรรมระดับจังหวัดสู่เทรนด์ยั่งยืน หลังพบธุรกิจสีเขียวโตแรง!! เป็นรองแค่อุตสาหกรรมเทคฯเท่านั้น

JSP ผนึก CDIP จับมือภาคอุตสาหกรรมระดับจังหวัดเปิดโครงการ OPOAI – C Next Steps ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับสู่ธุรกิจสีเขียว ที่เป็นเทรนด์การเติบโตสูงของโลก เป็นรองเพียงธุรกิจเทคโนโลยี

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) ผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ผู้นำในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Own Brand และการรับจ้างผลิต (OEM) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร และเครื่องสำอาง เปิดเผยว่าบริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ซึ่งเป็นผู้วิจัยและพัฒนาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับ JSP ล่าสุด CDIP ภายใต้การนำของ นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมมือภาคอุตสาหกรรมระดับจังหวัดและระดับชุมชน ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นให้เกิดการเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว ด้วยการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงานระดับท้องถิ่นเป็นสินค้าเพื่อลดปริมาณการทิ้ง หรือ“ขยะเป็นศูนย์ (zero  waste)” ในกระบวนการผลิตของแต่ละโรงงาน

ล่าสุด JSP และ CDIP ได้นำร่องในการจับมือกับอุตสาหกรรม จ. อุตรดิตถ์ ในโครงการ กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมสู่ธุรกิจตลาดสมัยใหม่ (OPOAI – C Next Steps) โดยโครงการนี้จะเริ่มจากการจัดอบรมเพื่อปูพื้นความรู้ สู่การพัฒนากลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป ที่มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของสมาชิก จนสามารถจัดทำร่างต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Draft Prototype) อย่างน้อยกลุ่มละ 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมแผนธุรกิจ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร หลังการฝึกอบรมคณะกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกกลุ่มที่ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพและมั่นคง ด้านรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โดย JSP ได้โชว์เคสโครงการตัวอย่าง zero waste ด้วยการนำกากเจลาตินเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีมากถึง 50 ตันต่อปี ที่เกิดจากความร่วมมือกับบริษัท CDIP ซึ่งเป็นทีมวิจัยและพัฒนา ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย  จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ EM สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช ภายใต้แบรนด์ 'ID.KASET' ซึ่งสามารถเปลี่ยน waste ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยา EM ที่มีมูลค่าสูงและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ช่วยปรับสมดุลดินและน้ำ ช่วยให้พืชเจริญเติบโต ช่วยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี รวมถึงสามารถกำจัดกากเจลาตินเหลือทิ้ง ให้เป็นประโยชน์ได้ถึง 450 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็น 12% ของเจลาตินเหลือทิ้งทั้งหมด

โดยก่อนหน้านี้ JSP ได้ร่วมมือกับ อบต.ศรีบัวบาน จ. ลำพูน เพื่อทำการทดสอบการฝังกลบให้เป็นอาหารของพืช ปรากฏว่าสามารถทำได้และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนค่ากำจัด 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากโรงงาน การร่วมมือกับ CDIP ครั้งนี้จึงเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น ซึ่งทาง JSP และ CDIP จะไม่เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์ ID.KASET ออกจำหน่าย ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายสิ่งแวดล้อมไปสู่พันธมิตรที่ดีกับภาคเกษตรกร

ทั้งนี้ การนำกากของเหลือใช้มาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมชุมชนเรียนรู้เนื่องจากได้ประโยชน์ 2 ด้าน คือ ได้ลดปริมาณขยะเป็นศูนย์ และ ได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเกษตรกรต่อยอดสินค้าที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งการที่เกษตรกรสามารถยกระดับสินค้าเป็นสินค้าออร์แกนิกจะช่วยเพิ่มมูลค่าและขยายกลุ่มเป้าหมายไปสู่ลูกค้าระดับบน 

โดยข้อมูลจากตลาดหุ้นลอนดอนระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านเศรษฐกิจสีเขียวเป็นอุตสาหกรรมที่มีผลงานดีเป็นอันดับ 2 รองจากธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีมูลค่าการตลาดเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเติบโตสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การใส่ใจด้านความยั่งยืนที่จะให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ว่าสินค้าแต่ละประเภทที่จะซื้อนั้นผลิตมาจากกระบวนการของธุรกิจสีเขียวหรือไม่ หากอุตสาหกรรมระดับชุมชนของไทยสามารถยกระดับไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ก็จะส่งผลให้เพิ่มมูลค่าไปสู่กลุ่มลูกค้าระดับบนที่พร้อมจะยอมจ่ายให้กับส่วนต่างราคาที่สูงขึ้นแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้ ‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนแตะ 145% ไม่ใช่ 125% ส่งผลจีนต้องหาตลาดใหม่ แนะไทยเตรียมรับมือสินค้าจีนทะลัก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีระหว่างสหรัฐ อเมริกา กับ จีน ว่า...
145% ไม่ใช่ 125% !!! แต่ไม่ใช่ของใหม่

การเพิ่มอัตรา Tariffs ใส่จีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก แค่เขียนสั้นๆ ใน Executive Orders เช่น ในวันที่ 8 เมษายน  "ที่เคยเขียนไว้ว่า 34% ให้เอาออก และใส่คำว่า 84% เข้าไปแทน"

ในวันที่ 9 เมษายน อีกครั้ง "ที่เคยเขียนไว้ว่า 84% ให้เอาออก และใส่คำว่า 125% เข้าไปแทน" แค่นี้ก็จบ

หมายความว่า จีนต้องจ่ายภาษีนำเข้า ก่อน Reciprocal Tariffs 10 +10 = 20% สำหรับกรณี Fentanyl 

แต่เมื่อรวม Reciprocal Tariffs ที่ท่านประธานาธิบดีประกาศล่าสุด
10 + 10 + 125 = 145% !!!!

จึงไม่ใช่แค่ 125% ตามที่หลายคน (รวมถึงผมด้วย) เข้าใจกัน ภาษีที่สูงลิ่วนี้ ทำให้บริษัทต่างๆ ของสหรัฐเริ่มยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าจากจีน เช่น Amazon แจ้ง Suppliers ไปว่า ขอยกเลิก เพราะสู้ภาษีนำเข้าไม่ไหว 
พร้อมหันไปหาประเทศอื่นๆ 

แลกกันคนละหมัด สหรัฐวุ่นวายเพราะตลาดทุนที่ปั่นป่วน โดยเฉพาะตลาด Bonds จีนกำลังจะวุ่นวายเพราะ โรงงานต่างๆ ไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐ

และถ้าเทียบกัน 
สหรัฐส่งออกมาที่จีนเพียง 143.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
ส่วนจีนส่งออกมาที่สหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
หรือประมาณ 1 ต่อ 3 

หมายความว่าต่อไปจีนต้องหาตลาดใหม่ให้สินค้าตนเอง ประมาณเดือนละ 37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. มากกว่าที่ไทยส่งออกไปทั้งโลกในแต่ละเดือนที่ 27 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ส่วนหนึ่งของสินค้าที่ถูกยกเลิกคงส่งมาบุกที่เมืองไทย 
เราคงต้องเตรียมการรับมือดีดีครับ

เตรียมชง DSI รับกรณี ‘ซินเคอหยวน’ เป็นคดีพิเศษ พร้อมส่งทีมงานเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง. ตรวจสอบเพิ่ม

(10 เม.ย.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการตรวจสอบกรณีเหล็กตกมาตรฐานที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดง ของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด อย่างถึงที่สุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยหลังจากนี้จะเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นี้ หลังได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด โดยในวันนี้ (10 เมษายน 2568) ได้มอบหมายให้ นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลดำเนินการตรวจสอบที่ผ่านมา 

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนางวิรงรอง พรพิมลเทพ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (สมอ.) ร่วมแถลงข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด 

"หน้าที่เราคือตรวจสอบว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เราบอกไม่ได้ว่าที่ตึก สตง. ถล่มเป็นเพราะเหล็กหรือไม่ เพราะจะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบมาประกอบการพิจารณา จะบอกว่าเกิดจากเหล็กไม่ได้มาตรฐานอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ ดังนั้น พรุ่งนี้ (11 เม.ย. 2568) ตนและเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตึก สตง. เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรัดกุมและรอบคอบที่สุดมากยิ่งขึ้น ส่วนเหล็กที่เคยตรวจแล้วยืนยันว่าจะไม่ตรวจซ้ำรอบแน่นอนตามมาตรฐาน สมอ. ไม่สามารถเปิดให้ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก" 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบข้อผิดปกติอีกบางอย่าง อาทิ ค่าไฟฟ้าจากเดิมจ่ายที่เดือนละ 130 ล้านบาท แม้จะลดลงเหลือหลักล้านบาท และหลักแสนบาท แต่ที่พบคือค่าน้ำที่ลดลงน้อยมาก จึงเป็นคำถามที่บริษัทต้องชี้แจงเพิ่มเติม

“ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท” 

“ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ. พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ซินเคอหยวนเช่นกัน” 

“ในส่วนของ มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็ก รัฐมนตรีเอกนัฏ ได้สั่งการให้ สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต” นายพงศ์พล กล่าว

“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด”

ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย. 68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ.  มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 

หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดกับโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการกับโรงงานดังกล่าวตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากตรวจสอบพบว่ามีการผิดกฎหมายข้อใดจะดำเนินการให้ถึงที่สุด

‘พีระพันธุ์’ เผย ก.พลังงาน เร่งผลักดันกฎหมายอีก 2 ฉบับ หวังช่วยควบคุมราคาน้ำมัน – สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

(10 เม.ย. 68) พลังงาน เร่งออกกฎหมาย 2 ฉบับ หวังควบคุมการปรับราคาน้ำมันอิสระ และกำหนดให้ผู้ประกอบการแจ้งต้นทุนที่แท้จริง พร้อมวางแผนสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แต่ให้ผู้ประกอบการส่งน้ำมันมาเก็บสำรองเป็นของรัฐแทน ชี้ปัญหาราคาพลังงานแพง เกิดจากแนวคิดที่ไม่ถูกต้องที่มุ่งเน้นไปยังผลกำไรของธุรกิจเอกชน มากกว่าความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมยืนยันจะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต” ให้แก่ผู้อบรมหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 2 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไทย ได้แก่ 1. กฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง และ 2.กฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการแก้ไขเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบันติดปัญหาการห่วงแต่ผู้ประกอบการและไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านราคาพลังงานที่แท้จริงได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานจะต้องมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหลักไม่ใช่มุ่งเน้นด้านธุรกิจเกินไป

โดยในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานจะมุ่งเน้นไปที่พลังงาน 3 ชนิด คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า  ซึ่งในส่วนของน้ำมันนั้น ปัจจุบันการปรับราคาน้ำมันของผู้ประกอบการจะเป็นอิสระ ไม่มีใครควบคุม ซึ่งเมื่อเทียบกับการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากจะปรับราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ขณะที่น้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นและกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงควรต้องมีการควบคุมเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันด้วย

พร้อมกันนี้จะออกกฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต่อไปการปรับราคาจำหน่ายต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ไม่สามารถปรับราคาโดยอ้างการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันตามตลาดโลกได้ เนื่องจากกระบวนการซื้อน้ำมันมาขายเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 3 เดือนก่อน จะมาอ้างราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันไม่ได้

นอกจากนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ประเทศไทยควรมีการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้กำหนดปริมาณสำรองน้ำมันมาตรฐานไว้ 90 วัน ที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการไม่ได้เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก  โดยไทยใช้น้ำมันอยู่ 120 ล้านลิตรต่อวัน ถ้าจะต้องสำรอง 90 วันต้องเก็บน้ำมันกว่าหมื่นล้านลิตร

ดังนั้นแนวทางที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการคือ การสำรองน้ำมันโดยไม่ต้องใช้เงิน ด้วยการเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเปลี่ยนเป็นเรียกเก็บน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันส่งเข้าคลังสำรองของภาครัฐแทน โดยตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่น จ่าย 10 บาทต่อลิตร หากเปลี่ยนเป็นน้ำมันจะได้ 12 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 1 เดือนจะได้ 360 ล้านลิตร แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ผลักภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ให้ประชาชนแทน ดังนั้นหากใช้วิธีนี้ประชาชนก็ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ และทำให้ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกลดลงได้ 10 บาทต่อลิตรทันที

ส่วนในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่อ้างว่าแพงเพราะราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการเฉลี่ยราคาใน Pool gas ทำให้คนไทยทั้งประเทศและโรงงานที่ไม่ใช้ก๊าซฯ ในการผลิตต้องแบกรับราคาเฉลี่ยในส่วนนี้โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องตรวจสอบด้วย

อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงพบว่า ณ สิ้นปี 2567  กำลังผลิตไฟฟ้าของไทยรวมประมาณ 50,724.1 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ผลิตจริงเพียง 16,226.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.06% ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผลิตอยู่ 18,973.50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 37.4%  และในจำนวน 18,973.50 เมกะวัตต์ เป็นของบริษัทรายเดียวถึง 16,000 เมกะวัตต์ และที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กว่า 9,000 เมกะวัตต์ ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ให้ราคาสูงและสัญญาการผลิตไฟฟ้าสามารถต่อได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี ไม่มีสิ้นสุดสัญญา ปัญหาเหล่านี้มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข

ส่วนปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP ) ไฟฟ้า กรณีที่หน่วยงานรัฐไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่า AP ให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แม้กระทั่งสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายค่า AP อยู่ดี กลายเป็นภาระของประชาชน โดยกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 50,724 เมกะวัตต์ ในปี 2567 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) 36,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจะพบว่าใช้จริงเพียง 25,100 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ  25,600 เมกะวัตต์ เป็นไฟสำรองที่ต้องจ่าย AP โดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรเลย

สำหรับในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น เป็นเรื่องของไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้ต้องเลิกผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ถ่านหิน และน้ำมันทั้งหมด ดังนั้นแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าจะเกิดการพัฒนาขึ้นมาเก็บไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ จึงต้องเตรียมกฎหมายไว้รองรับ ส่วนการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมา 6,234 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังน้ำจาก สปป.ลาว พบว่าค่าไฟฟ้า 2.60-2.70 บาทต่อหน่วย รวมค่าสายส่งเป็นกว่า 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งแพงกว่าค่าไฟฟ้าจากก๊าซฯ ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้มากขึ้น

“ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับประเทศ ไม่เลิกคิดด้านธุรกิจการค้า และผู้ประกอบการไม่หันมาคิดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านในอนาคตก็ไม่มีประโยชน์เพราะผลกำไรก็จะไปเป็นแบบเดิม และสิ่งต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคตถ้าเรานิ่งเฉย ผมปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้ ทำได้แค่ไหนไม่ทราบ แต่ผมทำ เพราะผมไม่เคยคิดว่ามันร้ายแรงขนาดนี้ ฉะนั้นเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อไปอย่าให้มันเหมือนเดิมคือกลายเป็นทาสของผู้ประกอบการ ผมเป็นนักการเมืองมาแล้วก็ไป ช่วงที่ทำงานก็จะทำให้ดี ผมมีโอกาสมาทำงาน ถ้าประชาชนนั่งเฉยเปลี่ยนผ่านไปก็ไม่มีประโยชน์ ท่านต้องคิดว่าวางแผนอย่างไรให้ไทยหลุดพ้นจากการครอบงำธุรกิจการค้าด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านไม่มีประโยชน์ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาการผูกขาดด้านพลังาน และจะกลายเป็นการทำทั้งหมดเพื่อรองรับภาคธุรกิจการค้าเท่านั้น”  นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘จิตรเทพ เนื่องจำนงค์’ มองกรณี ทรัมป์ระงับขึ้นภาษีคู่ค้าเว้น ‘จีน’ ชี้ เกมนี้ไม่ใช่แค่การค้า แต่วางหมากหวังกุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก

(10 เม.ย.68) นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และอดีตที่ปรึกษาเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊กว่า...

ทรัมป์ระงับการขึ้นภาษีศุลกากรเกือบทุกประเทศ แต่เพิ่มภาษีกับจีนเป็น 125%  โดยประกาศระงับการขึ้นภาษีตอบโต้ที่สูงขึ้นกับคู่ค้าหลายสิบรายเป็นเวลา 90 วัน 

เกมนี้ คือ แยกมิตรและศัตรู ให้ทุกคนกางหน้าไผ่ในมืออย่างชัดเจน 

โดยการหยุดภาษีประเทศพันธมิตร 90 วันเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา แต่เล่นอัดพี่จีนเต็มสตีมทันที

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับแรงมาก S&P500 +8% Nasdaq ปู่ SET บ้านเราก็น่าจะบวกแรงด้วยเช่นกัน

นี่ไม่ใช่แค่การค้า แต่นี่คือ เกมส์การวางหมากเพื่อควบคุมอำนาจการเจรจาทั่วโลก และตอนนี้ Deal ใหญ่ ๆ กับหลายประเทศเริ่มเข้ารูปแล้ว

ทรัมป์เป็น Deal Maker วิธีการทำนโยบายของทรัมป์ คือ จะประกาศไปก่อนเพื่อเจรจา จะทุบโต๊ะเพื่อขอราคาหรือข้อเสนอที่ดีมากที่สุด 

มุมมองนักลงทุน : หุ้นจีน ตอนนี้ยังเสี่ยง  หุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่ลงมาเยอะ มีโอกาส 

หุ้นไทย พื้นฐานดีหลายๆ ตัวน่าสนใจ แต่อาจจะต้องประเมินสถานการณ์ ค่อยๆ แบ่งทยอยซื้อ
This isn’t chaos — it’s strategy.

ไม่ต้องรีบมากครับ  ฝุ่นยังไม่หายตลบ ค่อย ๆ ประเมินตามความเสี่ยงที่รับได้  เพราะไม่รู้พรุ่งนี้พี่ทรัมป์จะงัดกลยุทธ์ไหนมาเล่นอีก  ค่อยประเมินกันไปครับ พี่แกคาดเดายากจริง ๆ 

แต่เชื่อว่า อีกสักพัก คงค่อยๆ ผ่อนคลายสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นครับ
#สวัสดีSET 1000 จุด 

มข. ดันธุรกิจ ‘จิ้งหรีด’ เลี้ยงเป็น เปลี่ยนชีวิต โอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า 'จิ้งหรีด' เป็นแมลงที่ได้รับความสนใจในหลายมิติ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง จนเกิดกระแสนิยมการบริโภคโปรตีนจากแมลงในทวีปยุโรปและอเมริกา ยกให้เป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food อาหารแห่งอนาคต ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลงจะขยายตัว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งผู้ซื้อรายใหญ่ในตลาดนี้คือ บริษัทอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตนมทางเลือก และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น  

ในด้านเศรษฐกิจไทย จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะในชนบทที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในไทยมีมากกว่า 20,000 ราย และมากกว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่เกษตรกรกลุ่มแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและส่งออกต่างประเทศได้ กลับเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคกลาง และอื่น ๆ

ดร.อนุวรรตน์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการผ่านกระบวนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับทุนสนับสนุนของหน่วยบริการและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ขับเคลื่อนงานในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าตลาดจิ้งหรีดมีมูลค่ารวมถึง 23 ล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านั้นกลับไปถึงมือกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่เพียง 7 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรต้องซื้ออาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปจากนอกพื้นที่  ดังนั้นในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) ของการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ สิ่งที่ดำเนินการในส่วนต้นน้ำคือ “การพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด” เพื่อทำให้เกิด “ผู้ผลิตอาหารจิ้งหรีดในพื้นที่” ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพื่อปิดช่องว่าง ลดการพึ่งพิงห่วงโซ่ (Chain) จากนอกพื้นที่ และออกแบบการจัดการธุรกิจที่จะทำให้รายได้กระจายสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม 

ที่ผ่านมาทีมวิจัย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร 11 กลุ่ม จำนวน 124 คน ได้ทำงานร่วมกันโดยยึดหลักการ “พาทำ และทำกัน” เพราะการเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ใช่เพียงการทำโรงเรือนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practices) แต่ต้องช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพในการ “ผลิตอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำโดยใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น” โดยการใช้สูตรอาหารสำเร็จรูปสูตรใหม่นี้สามารถลดต้นทุนการผลิตจิ้งหรีดจาก 71.99 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด เหลือเพียง 61.06 บาท/หนึ่งกิโลกรัมจิ้งหรีด

แต่ที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนก็คือ การทำให้เกษตรกรสามารถ “เลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้” โดยในส่วนนี้เป็นการถอดความรู้ประสบการณ์ เทคนิค และภูมิปัญญาในการเลี้ยงจิ้งหรีดของพี่น้องเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม เพื่อนำจุดเด่นของแต่ละกลุ่มมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เพื่อสร้างเป็น “องค์ความรู้ร่วม” ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้  พร้อมกันนั้นทีมวิจัยยังเข้าให้ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจ และเป็นทั้งพี่เลี้ยงและโค้ชให้กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในบริหารจัดการเชิงธุรกิจในแบบ Local Enterprise หรือรูปแบบธุรกิจปันกัน วิถีแห่งการเกื้อกูล รวมถึงความพยายามในการสร้างหรือพัฒนา “ผู้รวบรวมในพื้นที่” ที่จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญของห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่จะสามารถทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมและเป็นธรรม

ทางด้าน นายภูดิส หาญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้ประกอบการจากภูดิศ บั๊กฟาร์ม และวิสาหกิจชุมชนจิ้งหรีดอำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หากผู้ผลิตสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตด้านความสะอาด อาหาร และอุณหภูมิได้  ด้วยเทคนิคและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ก็จะลดเวลาการผลิตจิ้งหรีดจาก 45 วัน เหลือเพียง 34-36 วันเท่านั้น

ดร.อนุวรรตน์ กล่าวเสริมว่า เดิมทีชาวบ้านไม่ได้มองว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นการทำธุรกิจ แต่มองว่าเป็นวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับการทำนา เราจึงต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เสริมมุมมองเรื่องการทำธุรกิจให้เขารู้ว่า การเลี้ยงจิ้งหรีดก็คือการลงทุนทำธุรกิจ เมื่อได้เงินมาก็ต้องจัดการแบ่งส่วนไว้สำหรับการเลี้ยงรอบต่อไป เพื่อไม่ให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยชิ้นนี้นอกจากต้องการให้เกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพแล้ว เขายังต้องสามารถจัดการธุรกิจของตนเองได้ด้วย สามารถวิเคราะห์ทิศทางหรือเป้าหมายต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องของตลาด และศึกษามาตรฐานของผลผลิตจิ้งหรีดที่เข้าเกณฑ์การส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงความสนใจหรือ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในปัจจุบันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ยิ่งขึ้น 

ล่าสุด เกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือหน่วยธุรกิจในพื้นที่” ที่นอกจากจะสร้างอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังรวมถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งเรื่องอาหาร รวมถึงการจัดหาจิ้งหรีดให้ได้ตามออร์เดอร์ที่รับมา ส่วนในระยะต่อไปทีมวิจัยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นเครือข่ายธุรกิจกันร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เกิดผลลัพธ์ใน 3 ระดับ โดยมีทั้งกลุ่มที่ “ตั้งไข่ได้” “เติบโตได้” และ “ปล่อยมือได้  ซึ่งในกลุ่มที่ปล่อยมือได้คือเขาสามารถหล่อเลี้ยงตนเอง วางแผนธุรกิจ วางแผนตลาด และยังเป็นผู้รวบรวมสินค้าจากชุมชนไปจำหน่ายได้ด้วย  

นางอรวรรณ วอทอง หนึ่งในนักวิจัยชุมชน และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับรางวัล “เลิศรัฐ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ ในด้านจิ้งหรีดปลดหนี้แก้จน ในประเภทรางวัลดีเด่น เมื่อปี 2567 กล่าวว่า เดิมกลุ่มของเราเลี้ยงจิ้งหรีดขายตามฤดูกาล และขายพ่อค้าคนกลาง แต่ก็โดนกดราคา เพราะการเลี้ยงยังไม่ได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจกู้เงินจาก ธกส. โดยได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการจัดทำแผนธุรกิจ มาทำโรงเรือนจิ้งหรีด และเป็นพี่เลี้ยงพาเราเรียนรู้และลงมือทำไปด้วยกัน พัฒนาจนได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ปรับกระบวนการเลี้ยง ทำให้เราสามารถผลิตจิ้งหรีดคุณภาพและมีเงินมาชำระหนี้จากการสร้างโรงเรือน จนกระทั่งปลดหนี้ได้ในปีนี้ และสามารถจัดการเงินหมุนเวียนเพื่อการลงทุนต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม นางอรวรรณ ย้ำว่า แม้โครงการนี้จะหนุนเสริมให้กลุ่มสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดและนวัตกรรมการผลิตที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นได้แล้ว ทั้งยังสามารถวางแผนธุรกิจ บันทึกรายรับ-รายจ่าย และวางแผนการผลิตได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาที่กลุ่มของตนและเครือข่ายเผชิญคือ “ราคา” และ “ตลาด” ที่ไม่คงที่  สิ่งที่กลุ่มผู้เลี้ยงจิ้งหรีดอยากเห็น คือตลาดกลางหรือจุดรวมจิ้งหรีดในตลาดระดับภูมิภาค ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้เดินตามเส้นทางของธุรกิจที่เป็นธรรม โดยไม่ถูกตัดราคาจากพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป 

“การเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่มีการแข่งขัน หากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันได้ หากแบ่งปันกันได้ ทั้งความรู้ นวัตกรรม และตลาด ก็จะเกิดความยั่งยืนในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและผู้ประกอบการที่เลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ทั้งตัวเกษตรกร คนตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็สามารถกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นทั้งอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมอยู่ในชุมชนได้อย่างมั่นคง ซึ่งสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านฮ่องฮี ที่ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์เป็นจี้งหรีดตัว แต่เราก็มองถึงการก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการส่งออกอย่างมีมาตรฐานด้วยเช่นกัน

กลุ่มอาจารย์ - นักวิชาการ เศรษฐศาสตร์ มธ. ออกโรงค้าน พรบ.สถานบันเทิงครบวงจร

(8 เม.ย. 68) กลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 30 คนร่วมลงนามออกแถลงการณ์ คัดค้านการออก พรบ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ชี้เป้าหมายหลักคือ การเปิดบ่อนกาสิโน

“.... นี่คือความเลวร้าย แค่คิดก็เลวร้าย สร้างอุบายทั้งอกุศลเกิดขึ้น เพื่อชักนำไปสู่สิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าถูกต้อง คนพวกนี้ไม่ควร  ปกครองแผ่นดิน” พระราชวัชรสุทธิวงศ์ (พระอาจารย์อารยวังโส) 29 มีนาคม 2568 

การดำเนินนโยบายจัดตั้งบ่อนกาสิโน โดยรัฐบาลอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พิจารณาโดยรอบด้านแล้วเห็นว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่อาจหักล้างผลเสียที่จะเกิดกับสังคมในวงกว้างและยาวนานอย่างแน่นอน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ไม่ปลอดภัย

กลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงจำเป็นต้องคัดค้าน พรบ. ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร  อันมีเป้าหมายหลักคือการเปิดบ่อนกาสิโน และคัดค้าน พรบ.เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ที่จ่อคิวตามมา

ปัญหาสังคมต่างๆ ในสังคมไทยที่รุนแรงเรื้อรังขยายตัวสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนมากเกี่ยวโยงบ่มเพาะจากการพนันและการเสี่ยงโชคทุกชนิด เป็นอบายมุขที่คนไทยที่ตั้งใจทำงานต้องรับภาระจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปัญหาความยากจน กลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ กู้เงินดอกเบี้ยรายวันเพื่อเสี่ยงโชคซื้อหวยใต้ดิน คนกลุ่มนี้จึงมีหนี้อมตะ คนที่รายได้มากขึ้นก็เสี่ยงโชคกับล็อตเตอรี่รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันพิมพ์เพิ่มนับล้านใบ  ต่อไปความยากจนจะมากขึ้น เพราะมีแหล่งอบายมุขเพิ่มมาก

ปัญหาทักษะอาชีพตกต่ำไร้คุณภาพ มีเงินเท่าไรจึงหมดไปกับการเสี่ยงโชค ไม่คิดที่จะใช้ เงินเพื่อเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ  เพิ่มพูนรายได้เป็นเงินออมไว้ใช้ในยามชรา

ปัญหาครอบครัวแตกแยก หากผู้ใหญ่ในครอบครัวหมกมุ่นอยู่กับการเสี่ยงโชคการพนันละเลยการดูแลเอาใจใส่  อบรมสั่งสอนลูกหลาน จึงเป็นการทำร้ายเยาวชนของชาติ ทั้งยังเป็นตัวอย่างเลวร้ายแก่บุตรหลานอีกด้วย

ปัญหาอาชญากรรม จะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนักโทษล้นคุกก็แก้ปัญหาโดยระบายนักโทษจำนวนหนึ่งออกจากคุกเป็นระยะๆ อาจก่ออาชญกรรมซ้ำซาก จะเกิดนักโทษมือใหม่จี้ปล้นหาเงินไปเสพอบายมุข ซึ่งรวมการพนันต่างๆ ทุกชนิดที่มีพร้อมในเวลานี้ 

ปัญหาความฉ้อฉลของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมการรับสินบนส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับการพนันและการเสี่ยงโชคที่ฝังอยู่ในกมลสันดานของคนไทยจำนวนมาก ความไม่พร้อมในการควบคุมให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ กฎหมายจะทำให้บ่อนกาสิโน และพนันออนไลน์ขยายตัว 

ปัญหาการฟอกเงิน บ่อนกาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงินของคนโกง สามารถอ้างว่าทรัพย์สินที่ถือครองอย่างผิดปกติ ได้จากการเสี่ยงโชคในสถานกาสิโน 

ทำลายล้างอนาคตประเทศไทย เมื่อเยาวชนถูกมอมเมาด้วยการพนันและการเสี่ยงโชค นอกเหนือจากยาเสพติดที่ฝังรากอยู่แล้ว สมรรถภาพทั้งทางร่างกายและสภาพจิตใจจึงถูกทำลาย ทำการงานไม่ได้ แถมยังกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคม 

หากรัฐบาลแพทองธาร ยังดื้อดึงผลักดันให้มีบ่อนกาสิโนพนันออนไลน์ จะถือว่ารัฐบาลนี้มุ่งมั่นทำลายประเทศและสังคมไทย ซึ่งไม่ควรให้เป็นผู้ปกครองประเทศอีกต่อไป

6 เมษายน 2568 

รายนามอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์

1.    รองศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา นิธังกร
2.    รองศาสตราจารย์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน
3.    รองศาสตราจารย์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
4.    ศาสตราจารย์ ดร. ปราณี ทินกร
5.    ศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน
6.    รองศาสตราจารย์ ดร.ภาวดี ทองอุไทย
7.    ดร. สาธิต อุทัยศรี
8.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จินตนา เชิญศิริ
9.    อาจารย์ สุพรรณ นพสุวรรณชัย
10.    รองศาสตราจารย์ พรพิมล สันติมณีรัตน์
11.    รองศาสตราจารย์ ชูศรี มณีพฤกษ์
12.    รองศาสตราจารย์ สุขุม อัตวาวุฒิชัย
13.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
14.    รองศาสตราจารย์ ดร. เพลินพิศ สัตย์สงวน
15.    รองศาสตราจารย์ ดร. ดาว มงคลสมัย
16.    รองศาสตราจารย์ ดร.เยาวเรศ ทับพันธุ์ 
17.    รองศาสตราจารย์ ดร. สมนึก ทับพันธุ์
18.    รองศาสตราจารย์ ดร.ลิลี่ โกศัยยานนท์
19.    รองศาสตราจารย์ ดร. สิริลักษณา คอมันตร์
20.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรียา โตสงวน
21.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรินทร์ พิพัฒนกุล
22.    รองศาสตราจารย์ ชยันต์ ตันติวัสดาการ
23.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิธินันท์ วิศเวศวร
24.    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประชา คุณธรรมดี
25.    อาจารย์ พงศ์พลิน  ยิ่งชนม์เจริญ
26.    รองศาสตราจารย์ รัชนีวรรณ อุทัยศรี
27.    ศาสตราจารย์ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์
28.    รองศาสตราจารย์ดร.วรากรณ์่ สามโกเศศ
29.    รองศาสตราจารย์ มณีรัตน์ ภิญโญภูษาฤกษ์
30.    รองศาสตราจารย์ วณี จีระแพทย์

‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ แนะ!! ‘ไทย’ ควรสงวนท่าทีเจรจากับ ‘สหรัฐฯ’ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอน ‘ทรัมป์’ ถอย

(7 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ แนะไทยสงวนท่าทีเจรจากับสหรัฐฯ หาทางตั้งรับดีกว่า แล้วค่อยพาดบันได รอโอกาส ตอนทรัมป์ถอย ยันมีกองทุน 3 พันล้านดูแลผู้ส่งออก

การรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ได้ผล เนื่องจากทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจแนวทางเดิมๆ 

ทีมงานไทยจึงประเมินสถานการณ์และเสนอแนวทางเชิงรุก คือ แทนที่จะรีบลดภาษีหรือให้สิ่งตอบแทนทันที ควรมุ่งสร้างพันธมิตรกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ โดยเสนอซื้อ วัตถุดิบทางการเกษตรจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเป็นอาหารส่งออกทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเตรียม "บันได" หรือข้อเสนอผ่อนปรนอื่นๆ ไว้ แต่จะยื่นข้อเสนอเมื่อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา หรือเมื่อนโยบายของทรัมป์เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

การเจรจาควรดำเนินการตามลำดับขั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR) ก่อน ถึงระดับรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ไทยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบด้วย

ศุภวุฒิ อธิบายว่าหลายประเทศที่รีบเจรจากับสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลกและลดการขาดดุลการค้าอย่างจริงจัง แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ก็ยังถูกขึ้นภาษี 

การตัดสินใจของทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง ทำให้การเจรจาในช่วงแรกเป็นไปได้ยาก 

ทีมยุทธศาสตร์ของไทย นำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์และมี ศุภวุฒิ และ พันศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา ประเมินว่าทรัมป์มีเหตุผล 3 ประการในการขึ้นภาษี คือ 1) มองว่าการขาดดุลคือการถูกเอาเปรียบ 2) ต้องการหารายได้ชดเชยการลดภาษีคนรวย 3) ต้องการดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ

ดังนั้น แทนที่จะรีบเจรจาและให้สิ่งตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ ไทยควรใช้ยุทธศาสตร์ "รอจังหวะ" และ "สร้างพันธมิตร" โดยเสนอตัวเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่จากสหรัฐฯ (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งไทยผลิตไม่พออยู่แล้ว นำมาแปรรูปเป็นอาหารส่งออก แนวทางนี้จะช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมมาตรการผ่อนปรนอื่นๆ เช่น การลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือการร่วมลงทุน/นำเข้า LNG ไว้เป็น "บันได" ให้สหรัฐฯ ลง 

หากนโยบายภาษีเริ่มส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง (เช่น เงินเฟ้อ หุ้นตก) และสหรัฐฯ พร้อมจะเจรจามากขึ้น การเจรจาควรเริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ (USTR ผ่านกรอบ TIFA) ก่อนเพื่อกรุยทางในรายละเอียด แล้วค่อยให้ระดับรัฐมนตรีตัดสินใจในประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ 

การเดินทางไปสหรัฐฯของคณะทำงานจึงเป็นการไป "พบปะหารือ" สร้างแนวร่วม ไม่ใช่การ "เจรจา" ในทันที

‘เอกนัฏ’ ลงนามขอยื่นถอดถอนสิทธิ BOI 'ซินเคอหยวน' หลังตรวจพบเหล็กของบริษัทฯ ตกมาตรฐานหลายรอบ

(4 เม.ย.68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งหนังสือด่วนยื่นถอดถอนสิทธิประโยชน์การลงทุน BOI ของ 'ซินเคอหยวน' บริษัทสัญชาติจีน จังหวัดระยอง เหตุผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นตกมาตรฐาน หวั่นกระทบความปลอดภัยประชาชนคนไทย หลังมีเหตุตึก สตง. ถล่ม เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน จนต้องปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านมาตรการความปลอดภัยในโรงงานได้เสร็จสิ้น รวมถึงเรื่องมาตรฐานเหล็กเส้นข้ออ้อยของบริษัทที่ตกมาตรฐานการทดสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และมีหนังสือแจ้งเตือนให้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตามหนังสือเลขที่ อก0706/12709 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ซึ่งยังไม่สามารถปรับปรุงได้และหนังสือแจ้งเตือนยังมีผลอยู่

ส่วนประเด็นหนังสือแจ้งเตือนเรื่องระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์บกพร่อง ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ที่ปรากฏในข่าวนั้น ทางรัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ได้มีคำสั่งให้ทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้จะไม่กระทบต่อการระงับการประกอบการ การจำหน่าย หรือการยื่นเพิกถอนและประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน 

ส่วนกรณีประเด็นเอกสารของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่สมบูรณ์ จนทำให้มีการยกเลิกการประชุมถอนสิทธิการส่งเสริมการลงทุนได้นั้น ข้อเท็จจริงคือในวันนี้ (4 เมษายน2568) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการลงนามการถอดสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เพื่อเสนอเข้าบอร์ด BOI ต่อไป

“กระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันจะปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานวัสดุก่อสร้าง เพราะการรักษาความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” นายพงศ์พลกล่าว

‘สรส.-สสรท.’ 2 สมาพันธ์แรงงาน เข้าพบ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน

สรส.-สสรท. ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการควบคุมแทรกแซงแม้เห็นความเคลื่อนไหวผิดปกติ แนะผลักดันกฎหมายเพิ่มอำนาจ สคร.ปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ผ่านมา นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า สรส.ร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายมานพระบุว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สรส.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายสาวิทย์เปิดเผยว่า จากการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมรับถึงข้อจำกัดตามกฎหมายในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือแทรกแซงการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวด้านการโอนทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์จึงแนะให้ทั้ง สรส. และ สสรท. ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top